ความจริงความคิด : รายได้ยังหายาก อย่าสร้างหนี้ให้เกินตัว

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า หนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับสูงมาก โดยล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ในระดับ 86.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แม้จะลดลงจากระดับสูงสุดที่ 90.1% แต่เป็นการลดลงจากตัวจีดีพีที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวหนี้ของคนไทยที่ลดลง และหากมองไปข้างหน้าหากไม่ได้แก้ไขอะไรเลย หนี้ครัวเรือนไทยในปี 2570 จะอยู่ 84% ของจีดีพี ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ที่กำหนดไว้สูงสุดที่ 80%

ทั้งนี้ BIS ระบุว่า หากหนี้ครัวเรือนเกินกว่าอัตราที่กำหนดดังกล่าว จะทำให้เกิดการฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้แทนการใช้จ่าย และยังจะกระทบเสถียรภาพของสถาบันการเงิน นอกจากนั้น ยังจะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม สุขภาพจิต และอาชญากรรม

และเมื่อสำรวจลงลึกมากขึ้น ก็พบ 8 ข้อเท็จจริงของหนี้คนไทยที่น่ากังวล คือ

1.คนไทยเป็นหนี้เร็ว โดย 58% ของคนอายุ 25-29 ปี เริ่มเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล หนี้รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และ 25% ของคนกลุ่มนี้เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)

2.คนไทยเป็นหนี้เกินตัว โดยเกือบ 30% ของลูกหนี้บัตรเครดิตและหนี้ส่วนบุคคล มีหนี้เกิน 4 บัญชีต่อคน วงเงินรวมต่อคนสูงถึง 10-25 เท่าของรายได้แต่ละเดือน ทำให้รายได้ไม่พอใช้จ่าย

3.คนไทยเป็นหนี้โดยไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

4.เป็นหนี้เพราะมีเหตุจำเป็น และที่สำคัญคือกว่า 62% ของครัวเรือนไทยมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินไม่เพียงพอ และหากเกิดเหตุ ที่ทำให้รายได้ลดลง 20% จะมีครัวเรือนเกินครึ่งที่มีเงินไม่พอจ่ายหนี้

5.คนไทยเป็นหนี้นาน โดยมากกว่า 1 ใน 4 ของคนอายุเกิน 60 ปี ยังมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระ โดยมีหนี้เฉลี่ยสูงกว่า 415,000 บาทต่อคน และใช้วิธีผ่อนจ่ายขั้นต่ำ ซึ่งทำให้หนี้ไม่หมดเสียที

6.หนี้เสียของไทยอยู่ในระดับสูง โดยลูกหนี้ 10 ล้านบัญชีที่เป็นหนี้เสีย และเกือบครึ่งหรือ 4.5 ล้านบัญชี พบว่าเพิ่งเป็นหนี้เสียในช่วงโควิด

7.คนไทยเป็นหนี้ไม่จบสิ้น โดยเกือบ 20% ของบัญชีหนี้เสียแม้ว่าจะถูกยื่นฟ้องแล้ว และ 1 ใน 3 ของลูกหนี้ในคดีที่จบด้วยการยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดแล้ว ก็ยังปิดหนี้ไม่ได้ยังเหลือหนี้สินที่ต้องจ่ายต่อเนื่อง

8.คนไทยเป็นหนี้นอกระบบจำนวนมาก พบว่า 42% ของกว่า 4,600 ครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างจากทั่วทุกภูมิภาค มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาท

ถ้าอยากแก้หนี้ให้ได้ ทำยังไงดี

1. เดินทางยังต้องวางแผน แก้หนี้ยากกว่าการเดินทาง จึงยิ่งจำเป็นต้องวางแผน จะวางแผนเดินทาง ยังต้องหาข้อมูล จะวางแผนแก้หนี้ ก็ต้องหาข้อมูลเช่นกัน เริ่มจากข้อมูลของตัวเราเองเลย

• ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของเราเองตลอดเดือน เพื่อดูว่าทั้งเดือนมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ค่าใช้จ่ายไหนพอจะลดหรือตัดทิ้งได้บ้าง อย่างเช่น ค่าหวย ค่าเหล้า ฯลฯ ตัดค่าใช้จ่ายแล้ว รายได้พอใช้มั๊ย ถ้าไม่พอมีทางไหนเพิ่มรายได้ได้บ้าง ทำทุกอย่างแล้วมีเหลือเก็บออมหรือไม่

• ทำบัญชีทรัพย์สินว่ามีอะไรบ้าง อะไรพอจะขายได้ ถ้าขายน่าจะขายได้เท่าไหร่ (เอาราคาตลาดที่คิดว่าขายได้จริงๆนะ อย่าเอาราคาที่เราอยากขาย อย่างเช่น อยากขายรถที่เพิ่งซื้อมา 1 ล้านบาท ขายจริงๆอาจได้แค่ 7 แสน ก็ต้องใช้ราคา 7 แสน) อย่าเสียดายทรัพย์สิน จะเป็นสมบัติเจ้าคุณปู่ ถ้าเราไม่ได้ใช้ ก็ขายไปเหอะเอาไปจ่ายหนี้ตอนที่มูลหนี้ยังไม่สูง เจ้าคุณปู่ท่านน่าจะดีใจที่สมบัติท่านได้ช่วยต่ออนาคตลูกหลาน ดีกว่ากอดสมบัติเจ้าคุณปู่ไว้ สุดท้ายเมื่อมูลหนี้เยอะๆ ไม่เพียงสมบัติเจ้าคุณปู่ที่เราต้องเสีย เราอาจต้องเสียสมบัติของเราให้เจ้าหนี้ไปด้วยก็ได้

• ทำบัญชีหนี้สิน แบ่งแยกประเภทหนี้ จำนวนหนี้ แยกประเภทหนี้ เป็นกลุ่มแบงค์ นอนแบงค์ หนี้นอกระบบ จดรายละเอียดให้ครบ เรียงลำดับหนี้จากน้อยไปหามาก เอาไว้ดูเวลาจะชำระหนีสิ้น

2. เลือกจ่ายตัวที่ดอกเบี้ยแพงสุดก่อน และเลือกจ่ายตัวที่จำนวนหนื้น้อยๆก่อน เพื่อจะได้ตัดปัญหาทีละเปลาะ โดยการเอาเงินออมที่ได้จากการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย หรือ การขายทรัพย์สินมาชำระหนี้

3. แต่ถ้ายังรู้สึกไม่พอเป็นปัญหาอยู่อีก ทำอย่างไรดี แนะนำปรึกษาเจ้าหนี้นะ อย่าไปกู้หนี้นอกระบบมาจ่ายหนี้ในระบบ หรือกู้หนี้ดอกแพงมาจ่ายหนี้ดอกถูก นอกจากไม่แก้ปัญหา จะซ้ำเติมปัญหาให้หนักมากขึ้นไปอีก

4. หนี้เก่ายังไม่หมด อย่าก่อหนี้ใหม่ ถ้าจำเป็นต้องก่อหนี้ใหม่ ศึกษาหาความรู้ หาข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ให้เยอะๆ หนี้แบบไหนดอกถูก สถาบันการเงินไหนให้เงื่อนไขดีที่สุด ดอกเบี้ยต่ำสุด ประเมินความสามารถของตนเองว่าไหวมั๊ย อย่าก่อหนี้เกินกำลังของตัวเอง

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : รวยด้วยหวย ความจริงกับความหวัง
ความจริงความคิด : แก่อย่างไรลูกหลานไม่ตีกัน
ความจริงความคิด : ไม่มี ไม่หนี ให้ผู้ค้ำประกันจ่าย
ความจริงความคิด : ภาษี e-book
ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้รับซื้อฝาก (ตอน1)
ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้ขายฝาก
ความจริงความคิด : คนสาบสูญ
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 2
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 1
ความจริงความคิด : เงินเกษียณ ประกันสังคม เกณฑ์ใหม่ที่ควรรู้
ความจริงความคิด : สัญญาณอันตราย เมื่อกระแสเงินสดเข้าน้อยกว่ากระแสเงินสดจ่าย
ความจริงความคิด : ทักษะทางการเงิน
ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน