โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นอริยสัจ 4 แม้จะเป็นความจริงอันประเสริฐที่ไม่มีใครหนีพ้น แต่หากถามว่าใครสามารถปล่อยวาง หรือ เข้าใจความจริงตามธรรมชาติข้อนี้ได้ คงนับคนได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ ยิ่งไม่สามารถปล่อยวางได้
ผมชอบถามคำถาม 3 ข้อเสมอทุกครั้งที่บรรยายเรื่องเกี่ยวกับ “การวางแผนมรดก” คือ
คำถามข้อที่ 1 “ความรักอะไรยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก”
คำตอบเป็นเอกฉันทน์เลย “ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก”
แต่เมื่อผมถามคำถามที่สองต่อ “ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกสิ้นสุดวันไหน”
คุณผู้อ่านคิดว่าสิ้นสุดวันไหนครับ
“วันที่พ่อแม่เสียชีวิต” หรือ “วันที่ลูกเสียชีวิต”
แล้วคิดว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ตอบว่าอะไร คำตอบคือ “วันที่พ่อแม่เสียชีวิต”
มาถึงคำถามข้อที่ 3
“หากโลกหลังความตายมีอยู่จริง คนที่เป็นพ่อ เป็นแม่ ระหว่างตอนที่ตนเองมีชีวิตอยู่ กับ ตอนที่ตนเองเสียชีวิตไปแล้ว ตอนไหนห่วงลูกมากกว่ากัน”
คุณผู้อ่าน ลองตอบคำถามนี้ในใจก่อนก็ได้นะ ก่อนที่จะดูว่า ส่วนใหญ่ คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ตอบว่าอะไร
คำตอบที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ตอบ ก็คือ “ตอนที่เสียชีวิตไปแล้ว ห่วงลูกมากกว่า” เหตุผลก็เพราะ ตอนที่มีชีวิตอยู่ ลูกหกล้ม หรือ มีปัญหา พ่อแม่สามารถเข้าไปพยุง หรือ ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกได้ แต่ตอนที่ตนเองเสียชีวิตไปแล้ว ถ้าวิญญาณมีอยู่จริง เห็นลูกหกล้ม หรือ มีปัญหา คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ ได้แต่ยืนดู ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรลูกได้เลย
สรุปได้เลยว่า ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกไม่ได้สิ้นสุดในวันที่พ่อแม่เสียชีวิต แต่จริงๆแล้วไม่มีวันสิ้นสุดครับ
ดังนั้น คนที่เป็นพ่อเป็นแม่จึงมักคิดอยู่เสมอว่า “จะทำอย่างไรดี ที่ตนเองจะสามารถวางใจได้ว่า แม้ตนเองจะเสียชีวิตไปแล้ว ลูกก็สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมั่นคง และมั่งคั่ง” นี่แหละคือความหมายของ “การวางแผนมรดก”
มรดก คือ อะไร
คำว่า “มรดก” ในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มิได้กำหนดความหมายของมรดกไว้โดยเฉพาะ อ้างอิงมาตรา 1600 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า
“กองมรดกของผู้ตายได้แก่ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตาย โดยแท้”
ทรัพย์สินที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ต้องเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนหรือขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย (ฎีกาที่ 3776/2545) ดังนั้น เงินฌาปนกิจสงเคราะห์มิใช่ทรัพย์มรดก เพราะมิใช่ทรัพย์มรดกที่ผู้ตายมีอยู่ก่อนหรือขณะถึงแก่ความตาย หรือ ดอกผลของทรัพย์มรดกที่เกิดขึ้นภายหลังเจ้ามรดกตาย ก็ไม่เป็นมรดก (ฎีกาที่ 370/2506) หรือ สิทธิในการได้รับเงินประกันชีวิต เกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม จึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย (ฎีกาที่ 4714/2542)
ทรัพย์มรดก ได้แก่
– ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งวัตถุที่มี รูปร่าง และวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้
– สิทธิต่างๆ เช่นสิทธิเหนือพื้นดิน ลิขสิทธิ์ สิทธิในเครื่องหมายการค้า สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาซื้อขาย เป็นต้น
หน้าที่และความรับผิดต่างๆ ได้แก่ ความ ผูกพันในหนี้สินที่ผู้ตายต้องชำระ หรือความรับผิดตามสัญญา เช่น สัญญาค้ำประกันที่ผู้ตายได้ทำไว้ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ดี แม้ทายาทจะต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ซึ่งเป็นทรัพย์มรดก เพื่อความเป็นธรรม จึงกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบไว้เพียงไม่เกินมูลค่าของมรดกที่ตนได้รับมา
เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้น ย่อมตกทอดแก่ทายาททันที โดยทายาทแบ่งได้เป็นทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย หรือโดยพินัยกรรม
1. ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้สืบสันดาน บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ตามลําดับที่กฎหมายกําหนดไว้ ใช้หลักญาติสนิทตัดสิทธิญาติห่าง แปลว่า ถ้าญาติสนิทมีอยู่ ญาติห่างจะไม่ได้รับมรดก อย่างเช่น ถ้าเจ้ามรดกเสียชีวิตไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก พ่อ แม่ ยังมีชีวิตอยู่ (ซึ่งเป็นทายาทลำดับ 2) ทายาทลำดับถัดไป เช่น พี่น้องร่วมบิดาและมารดา ฯลฯ ก็ไม่มีสิทธิได้รับมรดก
2. ผู้รับพินัยกรรม พินัยกรรม คือ คำสั่งครั้งสุดท้าย ซึ่งแสดงเจตนากำหนดเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือกิจการต่างๆ ของผู้ทำพินัยกรรมเพื่อที่จะเกิดผลบังคับตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย ดังนั้น ผู้รับพินัยกรรมจึงหมายถึง บุคคลซึ่งผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สิน อันเป็นทรัพย์มรดกให้ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งอาจเป็นญาติ พี่น้องของผู้ตายหรือ บุคคลภายนอกก็ได้ และอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
ภาษีการรับมรดก ตามชื่อเลย ก็คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากผู้รับมรดกจากเจ้ามรดก โดยต้องเสียภาษีเมื่อมีการรับมรดก ดังนั้นแม้เจ้ามรดกเสียชีวิตไปแล้ว แต่หากยังไม่มีการรับมรดก ทายาทก็ยังไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก หรือหากสิ่งที่เจ้ามรดกทิ้งไว้ให้ไม่ใช่มรดก อย่างเช่น เงินเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือสิทธิในการได้รับเงินประกันชีวิต เกิดขึ้นเมื่อผู้ประกันชีวิตถึงแก่กรรม ฯลฯ ผู้รับก็ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก
อัตราภาษีการรับมรดก
• ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราวถ้ามรดกที่ได้รับมาจากเจ้ามรดกแต่ละรายรวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทโดยในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทให้เสียภาษีร้อยละ 10 แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 5
เนื้อหายังอีกเยอะ เรามาต่อตอนสองครั้งหน้าครับ
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : เงินเกษียณ ประกันสังคม เกณฑ์ใหม่ที่ควรรู้
ความจริงความคิด : สัญญาณอันตราย เมื่อกระแสเงินสดเข้าน้อยกว่ากระแสเงินสดจ่าย
ความจริงความคิด : ทักษะทางการเงิน
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีสำหรับ SMEs ตอน 1
ความจริงความคิด : อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ
ความจริงความคิด : กู้ร่วม
ความจริงความคิด : Forex คือเรื่องหลอกลวง
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน