ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ


โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ใกล้สิ้นปีกันแล้ว ก็ถึงฤดูกาลที่ต้องเตรียมหาของขวัญให้คนที่รัก และ นับถือ จำได้เหมือนกันตอนที่ทำงานอยู่ การหาของขวัญให้ถูกใจคนรับเป็นภาระมากเหลือเกิน จะถามก็ไม่ได้ถ้าไม่สนิทกันจริงๆ อีกอย่างกลัวเค้าบอกที่อยากได้มา แต่มันเกินงบ ไม่ให้ก็ไม่ได้ จะให้ก็เกินงบ เลยตัดสินใจไม่ถามดีกว่า สรุปง่ายๆเข้าข้างตัวเอง ความเสี่ยงอยู่ที่คนรับ ไม่ใช่เรา แต่จริงๆความเสี่ยงอยู่ที่เรานะ ถ้าเราให้ของที่คนรับไม่อยากได้ ความประทับใจก็ไม่เกิด อย่างเช่น จะจีบสาว แต่ให้ของขวัญไม่ถูกใจ สาวอาจเลิกคบก็เป็นไปได้

แล้วอย่างนี้ จะให้ของขวัญอย่างไรดีที่ถูกใจคนรับ ถูกกระเป๋าคนให้ มีคนให้คำตอบเรื่องนี้มาแล้ว

Francis Flynn นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้ศึกษาความรู้สึกและความหมายที่มีต่อ “ราคาของขวัญ” โดยพบว่าในมุมมองของคนให้ของขวัญ มักจะมีความเชื่อว่า “ความรู้สึกและความพอใจของผู้รับจะแปรผันตรงตามราคาของของขวัญ กล่าวคือยิ่งของขวัญมูลค่าสูงเท่าไหร่ คนรับจะยิ่งพึงพอใจมากขึ้นเท่านั้น”

แต่ในความเป็นจริงเมื่อทำการทดลองด้วยมุมมองของผู้รับนั้น มูลค่าที่เป็นตัวเงินของของขวัญไม่ได้สัมพันธ์กับความพอใจและความสุขที่ได้รับเท่าไหร่ โดยหากแบ่งประเภทของของขวัญออกโดยใช้หลักเกณฑ์

1.) สิ่งที่คนรับจะซื้อกับไม่ซื้อ

2.) สิ่งที่คนรับอยากได้กับไม่อยากได้

จะได้ของขวัญออกเป็น 4 ประเภทได้แก่

ประเภทที่ 1 ของขวัญที่คนรับไม่อยากได้แต่ก็ซื้อ (Grocery list Gift)
ของขวัญประเภทนี้เป็นของขวัญประเภท “ของมันต้องมี” หรือเป็นของขวัญประเภทที่ใช้อยู่ประจำเป็นกิจวัตร วิธีสังเกตว่าอะไรเป็นของประเภทนี้คือเราจะเห็นสิ่งของกลุ่มนี้อยู่ในรายการช็อปปิ้งรายสัปดาห์ รายเดือน หรือของชำประจำบ้านที่ซื้อเวลาไปซุปเปอร์มาร์เก็ต ของขวัญกลุ่มนี้ไม่ควรจะมอบให้ เพราะยังไงเขาก็ซื้ออยู่แล้ว บางทีมีอยู่แล้ว หรือใช้ยี่ห้อไม่ตรงกับที่เราซื้อ สุดท้ายต้องทิ้ง เสียของ เสียเงินซื้อของขวัญไปเปล่าๆ

ประเภทที่ 2 ของขวัญที่คนรับไม่อยากได้และไม่มีวันซื้อ (Recycle gift)
ของขวัญประเภทนี้ จะเป็นของขวัญที่เมื่อได้รับมาแล้วเขาก็ไม่รู้จะเอาไปวางไว้ที่ไหน จะเอาไปใช้อย่างไร อย่างมากก็จะทิ้งไป หรือนำไปมอบให้คนอื่นต่อในอนาคต พยายามหลีกเลี่ยงของขวัญเหล่านี้โดยคิดขึ้นอีกขั้นว่าถ้าเราได้รับของขวัญลักษณะเดียวกันแบบนี้มาเราจะจัดการกับมันอย่างไร ผมเคยเจอเหตุการณ์ทำนองนี้ทีนึง ในงานเลี้ยงวันเกิดของเพื่อนที่สนิทกัน ปรากฎว่ามีน้องคนนึงเอาถ้วยรางวัลที่เค้าได้จากการชนะการประกวดทำอาหารมีชื่อน้องสลักบนถ้วยมามอบให้เป็นของขวัญวันเกิดให้กับเจ้าของวันเกิดบอกว่า “เป็นของที่มีค่ามากสำหรับเขา ก็เลยอยากมอบให้คนที่เค้านับถือ” อ้ายเราอยู่ในเหตุการณ์เห็นพี่เจ้าของวันเกิดปฏิเสธ พูดแบบรักษาน้ำใจ “ของนี้มีค่าสำหรับน้อง น้องควรเก็บไว้นะ” ไอ้น้องคนนั้นก็ไม่รู้อะไรเลย พยายามยัดเยียดให้ได้ สุดท้ายพี่เจ้าของวันเกิดก็ตัดบท “ขอไม่รับนะ เพราะไม่ใช่ของที่มีค่าสำหรับพี่” เข้าใจความรู้สึกพี่เจ้าของวันเกิดดี เป็นเราก็ไม่อยากได้ มันไม่ใช่ผลงานเรา ไม่มีความภูมิใจหรือผูกพันเลย เอามาก็เกะกะบ้าน สุดท้ายไม่พ้นลงถังขยะ

ประเภทที่ 3 ของขวัญที่คนรับอยากได้และจะซื้อ (Gamble Gift)
ของขวัญประเภทนี้ต้องระมัดระวัง เพราะอาจได้ทั้งผลดีและผลเสียในการมอบให้ เพราะสิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งที่เจ้าตัวกำลังสนใจและอยากได้ เขาอาจจะมีตัวเลือกในใจอยู่หลายยี่ห้อ ทำให้เมื่อเรามอบให้เขาไปแล้ว ถ้าบังเอิญเป็นยี่ห้อที่หมายตาไว้ก็จะเป็นเรื่องดี แต่หากเป็นยี่ห้อที่ด้อยกว่าหรือเป็นยี่ห้อที่เขาไม่อยากจะเลือกก็จะกลายเป็นปัญหา เพราะกลายเป็นว่าเขามีสิ่งของประเภทนี้แล้ว การจะไปซื้อยี่ห้อที่ถูกใจมาซ้ำอีกก็จะเป็นการสิ้นเปลือง จึงกลายเป็นว่าเราในฐานะผู้มอบของขวัญเป็นคนสร้างเงื่อนไขในชีวิตเขาไปอีก

ประเภทที่ 4 ของขวัญที่คนรับอยากได้แต่ไม่ซื้อ (Perfect Gift)
เป็นของขวัญที่เหมาะสมที่สุดที่จะซื้อให้ ของขวัญประเภทนี้จะเป็นของขวัญที่เจ้าตัวอยากได้มาก แต่ว่าอาจจะไม่กล้าซื้อ หรือ จะรู้สึกผิดหากซื้อ ของขวัญประเภทนี้จะเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่จะมอบให้ โดยของขวัญประเภทนี้อาจจะไม่ต้องมีราคาแพง แต่อาจต้องใช้ความพยายามในการสืบและสังเกต ซึ่งอาจจะเป็นได้ตั้งแต่ ของสะสมตัวการ์ตูนที่เขาชอบแต่รู้สึกว่าโตแล้วไม่ควรจะซื้อ อาจจะเป็นอะไรที่ตลก ๆ แต่เจ้าตัวก็มองว่าซื้อมาจะดูว่าเป็นคนไร้สาระ ตั๋วคอนเสิร์ตศิลปินโปรดในวัยเด็กที่อยากดู ปกพาสปอร์ตที่เจ้าตัวชอบมากแต่ก็พยายามบอกตัวเองว่าไม่จำเป็น หรืออย่างผมเอง ก็ลองมาคิดดูอะไรเป็นของขวัญทำนองนี้สำหรับผมบ้าง ก็น่าจะเป็นพระเครื่องของหลวงพ่อที่ศรัทธา อยากได้แต่ไม่เช่าบูชา เพราะรับปากเมียไว้แล้วว่าจะไม่เช่าพระอีก

นอกจากนี้ของขวัญคือสิ่งที่ส่งสัญญาณบอกใบ้ Barry Schwartz ศึกษาเรื่องความหมายของของขวัญโดยพบว่า ของขวัญเป็นสื่อที่คนให้กำลังสื่อให้กับคนรับใน 2 เรื่อง คือ

1.เป็นสัญญาณที่เราส่งออกไปเพื่ออยากจะบอกให้ผู้รับเข้าใจว่าเราเป็นคนอย่างไร เช่น มอบหนังสือเพื่อสะท้อนว่าเราเป็นคนรักการอ่าน ให้อุปกรณ์งานช่างเพื่อบอกว่าเราเชี่ยวชาญงานฝีมือ

2.เป็นสัญญาณบอกใบ้ด้วยบอกด้วยว่าเราคาดหวังอยากให้เขาเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่ซื้อของเล่นวิทยาศาสตร์ให้ลูก ก็กำลังสื่อสารความคาดหวังและกำหนดบทบาทอย่างไม่เป็นทางการว่าอยากให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นอะไร การให้หนังสือพัฒนาตัวเองบางเล่มเพราะเราอาจจะกำลังบอกใบ้ให้เขาปรับปรุงตัวเรื่องอะไร ดังนั้นแล้วความไม่พอใจอาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าสิ่งที่เราคาดหวังให้ผู้รับเป็น เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เขาเป็นอยู่หรือเป็นตัวตนที่เขาไม่ชอบใจ

อ่านจบ ก็เข้าใจเลยนะว่าการเลือกของขวัญนั้น จริงๆแล้วน่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ เพราะคนรับไม่ต้องเสียตังค์อะไร แต่ก็มีเรื่องให้ต้องคิดมากเหมือนกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.investerest.co/attitude/the-social-psychology-of-the-gift/ | ลงทุนศาสตร์ Investerest.co

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : กู้ร่วม
ความจริงความคิด : Forex คือเรื่องหลอกลวง
ความจริงความคิด : จิตวิทยาการโกง รู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา 1
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน
ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ