ความจริงความคิด : จิตวิทยาการโกง รู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา 1


โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ข่าวเกี่ยวกับการโกงไม่ว่าจะเป็น Forex 3D ข่าวมิจฉาชีพอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร บอกเหยื่อว่าไม่ได้ยื่นชำระภาษีประจำปี 2564 เมื่อพูดคุยสอบถามรายละเอียด ถ้าเหยื่อมีรายได้ไม่ถึง 150,000 บาท สรรพากรจะดำเนินการคืนภาษีให้ โดยได้ส่งลิงค์ http://acgd6.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ปลอมที่มีหน้าตาเหมือนเว็บไซต์ของสรรพากรจริงๆให้ผู้เสียหายเข้าไปลงทะเบียน

เมื่อผู้เสียหายกดขอคืนเงินภาษีในเว็บไซต์ดังกล่าว จะส่งเลขรหัส OTP 6 ตัวแจ้งเข้ามาในเครื่องโทรศัพท์ของเหยื่อ จากนั้นคนร้ายจะขอรหัสไปและจะสามารถเข้าควบคุมเครื่องโทรศัพท์ของผู้เสียหาย และถอนเงินจากบัญชีผู้เสียหายไปจนหมดบัญชี นอกจากนั้น ยังได้ข่มขู่เอาเงินเพิ่มจากผู้เสียหาย โดยอ้างว่ามีภาพหรือข้อมูลลับที่ได้จากเครื่องผู้เสียหายไปด้วย

จนเดี๋ยวนี้เครียดไปหมด กลัวจนไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้ารับสายที่ไม่แสดงชื่อ ไม่กล้าเปิดข้อความ ไม่กล้าโหลดแอป ฯลฯ นึกในใจเหมือนกันนะว่า ถ้าบังเอิญเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ แล้วเราไม่เปิดอ่าน สุดท้ายมีปัญหาเกิดขึ้น ใครควรจะรับผิดชอบ ภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการพวกคนโกง หรือ เราที่ระแวงกลัวภัยจนพลาดไปเอง

การคาดหวังให้ภาครัฐปกป้องคุ้มครองเราอย่างเดียว ผมถือว่าเป็นความคิดที่เสี่ยงมาก เราเองควรปกป้องคุ้มครองตัวเราเองให้มากที่สุด จะได้ไม่เป็นเหยื่อ ด้วยการติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ช่วยเหลือเตือนภัยคนอื่นทุกครั้งที่มีโอกาส ผมเองก็เตือนทุกครั้งที่เห็นโฆษณาหลอกลงทุนใน facebook ด้วยการส่งภาพเตือนของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ Police Cyber Taskforce ที่เราเรียกกันว่า pct police จนถูกพวกมิจฉาชีพเขียนเข้ามาด่า แต่ก็ช่างมัน เพราะคนที่ควรจะถูกด่ามากกว่าคือ พวกมันไม่ใช่ผม

แต่อย่างไรก็ตาม ก็สงสัยทุกที ทำไมคนถึงเป็นเหยื่อกันมาก ทั้งที่มีกรณีศึกษาเยอะแยะไปหมด คนที่ไม่ได้เป็นเหยื่อก็มักจะพูดว่า “เชื่อไปได้ไง แค่เห็นก็รู้แล้วว่าโกง” แต่เมื่อไปคุยกับคนที่เป็นเหยื่อ ก็มักจะพูดว่า “ตอนแรกก็สงสัยเหมือนกัน แต่เพราะ….ก็เลยหลงกล”

แล้วไอ้….. นั่นคืออะไรล่ะ ที่ทำให้เรา “รู้เขาหลอก แต่เต็มใจให้หลอก” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คนโกงทำยังไงเราถึงเชื่อยอมให้ข้อมูล ยอมถอนเงินจากธนาคาร ยอมหลอกคนในครอบครัว ยอมทำตามที่คนโกงสั่ง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเรียกว่า Reason of unreason (เหตุผลของการไร้เหตุผล) คือ ดูแล้วไร้เหตุผล ไม่น่าจะเป็นไปได้ เรื่องพวกนี้ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องจิตวิทยาการโกง

หากเรารู้จิตวิทยาการโกง เราก็จะรู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา หรืออย่างน้อยก็รู้ทันตัวเองว่ากำลังถูกหลอกอยู่ จะได้มีสติฉุกคิดขึ้นมาก่อนที่จะเสียตังค์ จิตวิทยาการโกงที่พบบ่อย มีดังนี้

Bandwagon Effect (Herding Effect) พฤติกรรมแบบฝูงห่าน

คือ พฤติกรรมที่เรามักจะมีแนวโน้มตัดสินใจทำอะไรบางอย่าง เพียงเพราะคนส่วนใหญ่ทำอย่างนั้น ที่เรียกว่าพฤติกรรมแบบฝูงห่าน ก็มาจากพฤติกรรมของห่านป่าที่จะบินไปไหนมาไหนตามกันเป็นฝูงนั่นเอง เหตุผลของ Bandwagon Effect คือการทำอะไรเหมือนคนส่วนใหญ่ทำ จะให้ความรู้สึกที่ปลอดภัย และเป็นปกติ ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น (I am not O.K., You are O.K.) มิจฉาชีพที่อาศัยจิตวิทยาการโกงนี้จะทำงานเป็นทีม เหตุผลก็เพราะมนุษย์เรามีกลไกสมองและวิจารณญาณที่จะระมัดระวังอยู่ ดังนั้นถ้ามิจฉาชีพมาหลอกลวงทางการเงินแบบ ตัวต่อตัว ด้วยข้อเสนอที่ดูไม่สมเหตุสมผล เราก็มักจะมี Inner voice (เสียงจากภายใน) บอกเราทันทีเลยว่าไม่น่าเป็นไปได้ เพราะระบบการคิด การป้องกันตัวเองของเรายังทำงานอยู่”

แต่ทว่า พอใช้จิตวิทยาการโกงด้วยพฤติกรรมแบบฝูงห่านเข้ามา เช่น จัดหาหน้าม้า หรือทีมงานช่วยกันหว่านล้อม หรือสร้างสภาพให้ดูน่าเชื่อถือ เช่น กรณีหลอกแชร์ลูกโซ่ ที่เสนอผลตอบแทนสูงแบบเป็นไปไม่ได้ เช่น ร้อยละ 93 ต่อเดือน หรือ 30% ใน 5 นาที ฯลฯ ซึ่งถ้ามีใครบอกการลงทุนนี้แก่เราในภาวะปกติ เราก็บอกทันทีว่า “หลอก เป็นไปไม่ได้” เพราะกลไกป้องกันตัวเองของเราทำงาน

แต่ในภาวะพฤติกรรมรวมหมู่ มิจฉาชีพจะมีทีมงานแสดงตัวว่าเป็นผู้ที่เคยลงทุน และได้รับผลตอบแทนจริง ถอนเงินได้จริง และกำลังจะลงทุนเพิ่มอยู่ เมื่อใดที่มีการตัดสินใจกลุ่ม จะทำให้การมองด้วยเหตุผลของเรา “ลดน้อยลง” เพราะเราได้เห็นผู้อื่นที่ตัดสินใจลงทุนแล้วได้จริง เราก็จะสร้างความคิดขึ้นมาว่า “หากไม่ดีจริง คนเขาคงไม่มากัน” หรือ “หากถูกหลอก เราก็ไม่ได้เจ็บอยู่คนเดียว มีคนอื่นเจ็บกว่า”

วิธีการสร้างพฤติกรรมร่วมหมู่นี้จะพบมาก ไม่ว่าจะเป็นโลก offline เช่น การจัดสัมมนาโดยเชิญเราไปอยู่ท่ามกลางพวกมิจฉาชีพที่ปลอมตัวเป็นลูกค้า หรือโลกเสมือนจริง (online) เช่น การเชิญเราเข้าอยู่ในกลุ่ม line ที่เสนอการลงทุน โดยมีหน้าม้าปลอมเป็นลูกค้าที่ได้ผลตอบแทนจริงจากการลงทุน ฯลฯ

ในตลาดหุ้นก็มีพฤติกรรมรวมหมู่ หรือ แบบฝูงห่านด้วยเช่นกัน สังเกตดูง่าย ปริมาณการซื้อขายหุ้นจะสูงในช่วงฟองสบู่มากกว่าในช่วงตลาดหุ้นตก หรืออย่างกรณี GameStop หุ้นร้านเกมใกล้หมดอนาคตในยุคดิจิทัลที่ถูกปั่นราคาจนพุ่งขึ้นถึง 1,625% ในเดือนมกราคม 2564 และทำให้เฮดจ์ฟันด์ที่อยู่ฝั่งขายชอร์ตขาดทุนไปแล้วเกือบ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยฝีมือของนักลงทุนรายย่อยที่ต่างแห่กันเข้าไปไล่ซื้อซึ่งก็เป็นพฤติกรรมฝูงห่านเช่นกัน

ผมมีสัมภาษณ์เรื่องนี้ใน “รู้ทันปากท้อง” กับตลาดหลักทรัพย์ ตอน “ระวัง! กลโกงแอบอ้างผู้มีชื่อเสียง เอกสารหลอก” “อาแปะ” สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP® ที่ https://fb.watch/fpxkVjssv4/ ครับ

#กูรูปลดหนี้ บอกว่า มิจฉาชีพมีกลโกงหลากหลายรูปแบบ เริ่มจากแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียง เสนอผลตอบแทนสูง ใช้หน้าม้าหลอกล่อ ใช้เอกสารหลักฐานปลอมมาแสดง เรื่องเงินทองอย่าหลงเชื่อใครง่ายๆ นะครับ ต้องตรวจสอบให้ดี

ติดตามรายการ #รู้ทันปากท้อง กับ #ตลาดหลักทรัพย์ ได้ที่ LINE “SET ทั่วไทย” กดเพิ่มเพื่อน https://lin.ee/8XMjNPQ

 

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : ภาษีคลีนิค
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : อย่าเชื่อเพียงเพราะเป็นโฆษณาบนสื่อที่เชื่อถือได้
ความจริงความคิด : 600,000 ปล่อยกูไปตามทางของกูเถอะ
ความจริงความคิด : ภาษีลาภลอย
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน
>ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ