ความจริงความคิด : ภาษีลาภลอย

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

อยู่ๆ เรื่องภาษีลาภลอยก็กลับมาเป็นประเด็นที่มีคนพูดถึงกัน ทั้งที่เคยเป็นข่าวฮือฮามาเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งก็เข้าใจได้นะว่าทำไมช่วงนี้ถึงมีการออกภาษีใหม่ๆกันจัง เหตุผลง่ายๆ ถ้าเทียบกับครอบครัว รัฐบาลคือหัวหน้าครอบครัว ประชาชนคือสมาชิกของครอบครัว ที่ผ่านมารัฐบาลต้องจ่ายเงินเยอะมากในการต่อสู้กับวิกฤติโควิด ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีน หรือ ให้รักษาฟรี และจ่ายเงินเยอะมากสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ยิ่งใช้ยิ่งได้ ฯลฯ

เมื่อรัฐบาล (หัวหน้าครอบครัว) มีค่าใช้จ่ายเยอะ ก็ต้องทำงานหาเงินหนักขึ้น (เก็บภาษี) ถ้าไม่พอ ก็ต้องไปกู้เงินชาวบ้าน (ออกพันธบัตร) หรือไม่ก็เอาทรัพย์สินที่มีอยู่มาขาย (เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ) เราจึงเห็นว่าช่วงรัฐบาลขยันมากๆในเรื่องเก็บภาษีไม่ว่าจะเป็นภาษีคริปโต ภาษีขายหุ้น (ที่กำลังเป็นที่สนใจว่าจะออกหรือไม่ สรุปออกมาหน้าตายังไง) และอีกตัวที่ปัดฝุ่นมาใช้ใหม่ คือ ภาษีลาภลอย

ภาษีลาภลอยคืออะไร ?
กฎหมายภาษีลาภลอย หรือ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (Windfall Tax) คือ ภาษีตัวใหม่ที่รัฐบาลมีแผนจะจัดเก็บ โดยกำหนดจัดเก็บภาษีจากมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น และมีการซื้อ-ขายเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในอัตราเพดาน 5% ของมูลค่าส่วนเพิ่ม ซึ่งเล็งเป้าหมายอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากตัวสถานีขึ้น-ลงขนส่งมวลชน ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งภาษนี้จะจัดเก็บเฉพาะราคาที่ดินปรับสูงขึ้นจากผลของโครงการสาธารณูปโภค และหักมูลค่าอาคารออกไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนสาธารณูปโภคของรัฐ ที่ส่งผลให้ราคาที่ดินในบริเวณรัศมีโครงการสาธารณูปโภคปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งก็เข้าใจรัฐบาลเหมือนกัน คือ รัฐบาลออกเงินพัฒนาโครงการระบบสาธารณูปโภค แต่เจ้าของที่ได้ประโยชน์จากราคาที่ดินที่แพงขึ้น จึงควรต้องจ่ายภาษีในส่วนนี้ให้รัฐด้วย

ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีลาภลอย ?
สำหรับผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีนี้ จะเป็นทั้งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ที่มีที่ดินตั้งอยู่ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากตัวสถานีขึ้นลง ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ และโครงการอื่น ๆ ที่จะกำหนดในกฎกระทรวง

สรุปง่ายๆ คือ คนที่เป็นเจ้าของโฉนดเป็นคนเสีย งั้นก็เหมือนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แสดงว่าเก็บซ้ำซ้อนกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใช่ป่าว

จริงๆแล้ว ตามความคิดผมมีทั้งใช่และไม่ใช่ครับ แม้ว่าหน่วยงานจัดเก็บ คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหมือนกัน แต่เพราะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะเก็บบนราคาประเมิน และเก็บทุกปี ส่วนภาษีลาภลอยจะเก็บเฉพาะราคาประเมินที่ดินที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากผลของโครงการสาธารณูปโภค โดยหักตัวมูลค่าอาคารออกไป โดยการจัดเก็บภาษีลาภลอยแบ่งเป็น 2 ช่วง

ช่วงแรก คือ ช่วงตั้งแต่วันลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคนั้น ๆ จนถึงวันตรวจรับมอบโครงการ หรือเรียกว่าเป็นช่วงระหว่างการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค การซื้อขายที่ดินในช่วงนี้ จะถูกจัดเก็บภาษี windfall Tax ในทุกครั้งที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือ โดยเก็บภาษีเฉพาะมูลค่าที่ดิน ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยใช้ฐานราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ณ วันที่ได้รับที่ดินแปลงนั้นมา กับราคาประเมินที่ดินในช่วงระหว่างก่อสร้างโครงการนั้น (ช่วงระหว่างการก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค) สรุป คือ ถ้ามีการเปลี่ยนมือระหว่างโครงการสาธารณูปโภคยังสร้างไม่เสร็จ อย่างเช่น สถานีรถไฟฟ้ายังสร้างไม่เสร็จ หากมีการเปลี่ยนเมืออสังหาริมทรัพย์ในช่วงนี้ เช่นมีการซื้อขายคอนโด หรือ บ้านในช่วงนี้ ทุกครั้งที่ซื้อขายต้องเสียภาษีลาภลอย ซึ่งอันนี้ผมว่าน่าจะซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้มากกว่า เพราะเก็บบนเงินได้

ช่วงที่สอง คือช่วงที่ก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคนั้นแล้วเสร็จ จะเก็บภาษีเพียงครั้งเดียว (one Time) ไม่ได้เก็บทุกครั้งที่เปลี่ยนมือ โดยเก็บภาษีจากมูลค่าที่ปรับเพิ่มขึ้น เฉพาะที่ดิน หรือห้องชุดเฉพาะส่วนที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น มูลค่าที่ดินที่ต่ำกว่านี้ไม่มีภาระภาษี และยกเว้นที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ดินเกษตรกรรม สรุป คือ เมื่อโครงการสาธารณูปโภคสร้างเสร็จ อย่างเช่น สถานีรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ ก็จะเก็บจากเจ้าของโฉนดเลยทันที อันนี้แหละที่ผมมองว่าเก็บซ้ำซ้อนกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะเก็บบนมูลค่าทรัพย์สิน แต่ที่ไม่รู้คือ จะเก็บวันไหน อย่างภาษีที่ดินฯ จะเก็บกับคนที่มีชื่อเป็นเจ้าของโฉนด ณ วันที่ 1 มกราคม ส่วนภาษีลาภลอยยังไม่เห็นข้อมูลตรงนี้

จากกฎหมายจะเห็นได้ว่ากฎหมายบังคับใช้กับโครงการสาธารณูปโภคที่สร้างใหม่เท่านั้น ดังนั้นสำหรับสาธารณูปโภคที่สร้างเสร็จแล้ว เจ้าของโฉนดไม่ต้องเสียภาษีลาภลอยนะ

ความคืบหน้ากฎหมายภาษีลาภลอย
กฎหมายภาษีลาภลอย เมื่อเดือน ก.ค. 2561 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (Windfall Tax) โดยกำหนดเพดานภาษีไว้ไม่เกิน 5 % ของมูลค่าที่ดินที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ตามแนวรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือ หรือโครงการสาธารณูปโภคตามที่กฎหมายกำหนด หากจะผลักดันให้มีผลบังคับใช้ ก็ต้องให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปศึกษาและพิจารณาและต้องนำเข้าสู่วาระการประชุมครม. และส่งให้คณะกรรมการคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย จากนั้นนำส่งสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณา 3 วาระ ก่อนจะนำเข้าทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้กฎหมาย

 

 

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน
ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
ความจริงความคิด : กฎของเรือโนอาห์
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : “เจอ จ่าย จบ” ยังไม่ “จบ” ตอนที่ 1
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ
ความจริงความคิด : บันได 10 ขั้นสู่ความสุขในวัยเกษียณ (ตอนที่ 1 )
ความจริงความคิด : ขายฝาก vs จำนอง