โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
ครั้งที่แล้ว เราได้พูดคุยกันว่าสังคมไทยได้กลายเป็นสังคมของคนสูงอายุเรียบร้อยแล้ว และได้พูดคุยกันถึงความจำเป็นของการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ ซึ่งมีผู้สนใจโทรเข้ามาปรึกษาที่บริษัทเป็นจำนวนมากถึงหลักการออมเพื่อเกษียณอายุ มาวันนี้ เราจะพูดกันถึงเคล็ดลับการออมเพื่อวัยเกษียณ หรือที่เราเรียกกันว่า บันได 10 ขั้นสู่ความสุขในวัยเกษียณ นั้นเอง
ขั้นที่ หนึ่ง คือ การรู้จักตนเอง คือการรู้ว่าตนมีทรัพย์สิน หนี้สินมากน้อยแค่ไหน รายได้เทียบกับรายจ่ายเป็นอย่างไร รายจ่ายใดที่จำเป็น และไม่จำเป็น เหลือ เงินที่จะออมเพื่อวัยเกษียณมากน้อยเพียงใด และเป็นผู้ที่เข้าใจและยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยเพียงใด โดยพิจารณาง่ายๆว่า หากผลตอบแทนของการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ผลกระทบทางด้านการเงิน และด้านจิตใจ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเรามากน้อยหรือไม่เพียงใด เราสามารถรับกับมันได้หรือไม่
ขั้นที่ สอง คือ เริ่มออมทันทีและมีวินัยในการออมให้สม่ำเสมอ และจัดสรรเงินออมเพื่อวัตถุประสงค์การใช้เงินในระยะสั้นและระยะยาวให้เหมาะสม เพราะการออมเพื่อวัยเกษียณนั้น เป็นการสะสมเงินระยะยาวมาก สำหรับบางคนอาจถึง 25 ถึง 30 ปี (จากการประเมินของสถาบันต่างๆ ประเมินว่าคนเราจะมีช่วงชีวิตหลังเกษียณเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบันในอีก 20 ปีข้างหน้า นั่นหมายถึงหากปัจจุบันช่วงชีวิตหลังเกษียณของคนไทยอยู่ที่ 20 – 25 ปี ก็จะเพิ่มเป็น 40 – 50 ปี) และมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในช่วงปลายของชีวิตที่เราจะไม่มีรายได้แล้ว แต่ยังคงมีค่าใช้จ่ายอยู่ หากเราไม่เริ่มออมแต่เนิ่นๆ และมีวินัยกับตนเอง ก็ย่อมเป็นเรื่องยากที่เราจะมีเงินออมพอใช้ในช่วงเกษียณ นอกจากนั้นเราจะต้องระมัดระวังไม่ไขว้เขวออกจากเป้าหมายหลัก เช่น ไม่เผลอเอาเงินที่ตั้งใจออมไว้เพื่อเกษียณไปใช้อย่างอื่น
ขั้นที่สาม คือ การศึกษา และเลือกประเภทตราสารหรือหลักทรัพย์หรือกองทุนรวมที่เหมาะสม เช่นอาจลงทุนกองทุนรวมประเภทต่างๆในสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงอายุ ซึ่งช่วงอายุของคนเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในหลายปัจจัยที่ใช้ในการประเมินการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลเท่านั้น หากเราสามารถพิจารณาปัจจัยอื่นที่กล่าวถึงในขั้นตอนการรู้จักตนเองประกอบด้วย ก็จะช่วยให้เราสามารถวางแผนการออมเพื่อเกษียณอายุได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
ขั้นที่ สี่ คือ การตั้งเป้าหมาย ว่าเราอยากจะมีเงินเท่าไหร่ภายหลังเกษียณ
ตามตำราเกี่ยวกับการบริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญ มักจะแนะนำไว้ว่า จำนวนเงินที่พอเหมาะสำหรับการใช้จ่ายในช่วงเกษียณในแต่ละเดือนควรจะประมาณร้อยละ 70 ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนในช่วง 5 ปีสุดท้ายที่ทำงาน เช่น หากรายได้เฉลี่ยต่อเดือนในช่วง 5 ปีสุดท้ายของเราเท่ากับ 10,000 บาทเราควรจะมีเงินสำหรับใช้จ่ายในช่วงเกษียณ ประมาณ 7,000 บาทต่อเดือน เราจึงจะมีคุณภาพชีวิตในช่วงเกษียณใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกษียณ
หากเรากำหนดได้แล้วว่าจะต้องการมีเงินใช้จ่ายเดือนละเท่าใดหลังเกษียณ เราก็จะสามารถคำนวณได้ว่าเราจะต้องมีเงินออมจำนวนเท่าใดในปีที่เกษียณอายุ จึงจะเพียงพอที่เมื่อนำไปลงทุนในเงินฝากประจำ หรือกองทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ(ซึ่งก็ย่อมจะให้ผลตอบแทนต่ำด้วย) แล้วเราจะมีรายได้เพียงพอที่จะดำรงชีวิตในแบบที่ตั้งเป้าหมายไว้และเหลือเงินบางส่วนไว้ออมเพิ่มเพื่อให้เงินออมของเราไม่ลดค่าลงไปเรื่อยๆเพราะเงินเฟ้อ เพื่อที่เราจะได้มีเงินออมสำหรับใช้จ่ายอย่างเพียงพอตลอดช่วงชีวิตหลังเกษียณ
อีกปัจจัยหนึ่งที่จะต้องพิจารณาคือ จำนวนปีที่เราคาดว่าจะมีอายุต่อไปในช่วงหลังเกษียณ ซึ่งตัวเลขที่ใช้ เรามักจะใช้ข้อมูลอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยในรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ คือ ผู้ชายไทยที่อายุ 60 ปี จะมีชีวิตต่อไปเฉลี่ย 25 ปี ส่วนผู้หญิงไทยอายุ 60ปีจะมีชีวิตต่อไปเฉลี่ย 29 ปี ดังนั้นเนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในอนาคตอันห่างไกลมีความไม่แน่นอนอยู่มาก หากช่วงเวลาใดเกิดผลตอบแทนจาการลงทุนลดต่ำลงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้หรืออัตราเงินเฟ้อ สูงกว่าผลตอบแทนที่เราได้ก็จะทำให้เงินที่มีไว้เป็นหลักประกันการดำรงชีพหลังเกษียณลดน้อยถอยลงได้
ดังนั้นในการกำหนดจำนวนเงินก้อนที่เพียงพอสำหรับช่วงหลังเกษียณนั้นเราควรคำนวณเผื่อผลกระทบของเงินเฟ้อและเมื่อเกษียณแล้ว ผลตอบแทนที่ได้จากการนำเงินก้อนนั้นไปลงทุนเราก็ยังควรจะแบ่งบางส่วนไว้ออมต่อเนื่อง เพื่อให้เงินออมของเราเพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะชดเชยกับเงินเฟ้อ เพื่อที่เราจะได้มีเงินออมสำหรับใช้จ่ายอย่างเพียงพอตลอดช่วงชีวิตหลังเกษียณ ขณะเดียวกันเราต้องออมเงินเผื่อว่าเรามีอายุยืนยาวกว่าที่เราคาดไว้ เช่น หากเราคาดว่าเราจะมีช่วงอายุหลัง 20 ปี หากเราออมเงินเผื่อเพียงพอใช้ 20 ปี หากถึงตอนนั้น เราเกิดยังแข็งแรง เราจะเอาเงินที่ไหนมาใช้
วันนี้ขอจบแค่บันได 4 ขั้นแรกก่อน ไว้ฉบับหน้า เราจะมาคุยกันถึงบันไดอีก 6 ขั้นที่เหลือ
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : วัยเกษียณ ความเสี่ยงที่หนีพ้นถ้าตายก่อน
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : 10 คำถามที่พบบ่อย เมื่อจะต้องเช็คสิทธิ และใช้สิทธิบัตรทอง
ความจริงความคิด : ยิ่งเกิด covid ยิ่งกังวลเรื่องเงิน
ความจริงความคิด : การบริหารความเสี่ยงในการลงทุน
ความจริงความคิด : แม่ค้าตลาดนัด ระวังสรรพากรนัดเจอ