ความจริงความคิด : การบริหารความเสี่ยงในการลงทุน

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ความเสี่ยง (Risk) เป็นคำที่เราได้ยินมานานแล้ว และเริ่มบ่อยขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติ (อย่างแผ่นดินไหว หรือ สีนามิ) ความเสี่ยงทางการเมือง (ไม่ว่าจากปัญหาการเมืองหรือนโยบายรัฐบาล) ความเสี่ยงทางการเศรษฐกิจ หรือความเสี่ยงทางเงิน (อย่างเช่นหุ้น หรือ ทองคำ ราคาตกลงอย่างตอนนี้ไง)

ความเสี่ยง เป็นเรื่องของ โอกาสที่จะเกิดผลในทางลบที่เราไม่ปรารถนา และขนาดของความเสียหายเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่พึงปรารถนาขึ้น

ตัวอย่างของความเสี่ยงในการลงทุนก็คือ โอกาสที่หุ้นที่เราลงทุนจะราคาตกลง โอกาสนี้จะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าราคาหุ้นนั้นได้สูงเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็นหรือไม่ ยิ่งหุ้นที่ราคาสูงขึ้นมากเท่าไร โอกาสที่หุ้นจะราคาลดลงก็มากขึ้นเท่านั้น

การบริหารความเสี่ยงด้านโอกาส คือ การป้องกันไม่ให้โอกาสเกิด หรือ ลดโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์นั้น วิธีที่ทำง่ายๆ ก็คือ เมื่อเห็นหุ้นราคาสูงเกินปัจจัยพื้นฐานมากๆ ก็อย่าไปซื้อ หรืออย่าไปลงทุนในหุ้นที่เล่นเก็งกำไร หรือ เล่นตามกระแสข่าว เป็นต้น

ปัจจัยของความเสี่ยงอีกอย่าง คือ ขนาดของความเสียหาย เนื่องจากความเสี่ยงเป็นเรื่องของอนาคต อนาคตเป็นเรื่องของความไม่แน่นอน ไม่มีใครสามารถคาดการณ์อนาคตได้ถูกต้อง (แม้ว่าจะมีหลายคนชอบคุยโม้ว่า กะแล้วหุ้นต้องลง หรือ หุ้นต้องขึ้น โชว์ความแม่นยำของตนเอง ส่วนใหญ่ก็มักเป็นคนที่ชอบพูดเมื่อเหตุการณ์เกิดแล้วทั้งนั้น หากเราไปดูพอร์ตของพวกนี้จริงๆ จะเห็นว่าหลายคนก็ติดหุ้นอยู่เหมือนกัน อันนี้ทางวิชาการเขาเรียกว่า hindsight bias) การบริหารความเสี่ยงที่จะลดขนาดของความเสียหาย ทำได้หลายวิธี เช่น

• วิธีแรก คือ วิธีที่ กลต. แนะนำ คือ การหาความรู้และศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน

• วิธีที่สอง คือ การกระจายความเสี่ยงในการลงทุนโดยการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset allocation)ที่เหมาะสมกับเราและภาวการณ์ลงทุน อย่างเช่น ในภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ควรเพิ่มการลงทุนในหุ้น เนื่องจากในช่วงนี้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะดีขึ้นตามเศรษฐกิจที่ขยายตัว ตราสารหนี้และเงินฝากจะให้ผลตอบแทนต่ำ สินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนที่น่าสนใจก็คือ “หุ้นสามัญ” เพราะหุ้นจะได้ผลบวกโดยตรงจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและเศรษฐกิจที่ขยายตัว โดยเฉพาะหุ้นที่ได้รับผลประโยชน์จากเศรษฐกิจฟื้นตัว (cyclical stocks) เป็นต้น

• วิธีที่สาม คือ การกระจายอุตสาหกรรมที่จะเข้าลงทุน (Sector Diversification)ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะมีปัจจัยที่จะกระทบต่อความสามารถในการหารายได้ของธุรกิจที่แตกต่างกัน ทำให้ปัจจัยความเสี่ยงต่างกัน เช่น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะมีผลบวกต่อกลุ่มพลังงาน แต่มีผลลบต่อกลุ่มขนส่ง เป็นต้น หรือ ถ้าค่าเงินบาทแข็งขึ้น จะส่งผลลบต่อธุรกิจส่งออก แต่จะเป็นผลบวกต่อธุรกิจนำเข้า เป็นต้นดังนั้นการกระจายกลุ่มอุตสาหกรรมในการลงทุนจึงเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ดีวิธีหนึ่ง

• วิธีที่สี่ คือ การกระจายเวลาที่จะลงทุน (Time diversification)ในการลงทุนระยะยาว เรามักคาดหวังว่าราคาหุ้นจะไปตามการเติบโตของผลกำไรของบริษัท ถ้าบริษัทที่มีผลประกอบการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ ราคาก็ควรจะวิ่งขึ้น แต่การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในระยะสั้นเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก การเข้าซื้อหุ้นแล้วหุ้นลง หรือขายแล้วหุ้นยังขึ้นต่อทั้งที่การตัดสินใจซื้อขายทำด้วยความมีเหตุผลจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นประจำ ถูกแล้วยังมีถูกกว่า แพงแล้วยังมีแพงกว่า…ดังนั้นการซื้อทั้งหมด หรือขายทั้งหมดในครั้งเดียวจะมีความเสี่ยงอยู่

• วิธีที่ห้า คือ การลงทุนคือการลงทุน ไม่ใช่การพนัน ควรลงทุนระยะยาวในหุ้นที่มีพื้นฐานดี อย่าซื้อขายบ่อย เพื่อเก็งกำไร เพราะไม่มีใครสามารถคาดการณ์ตลาดได้ถูกตลอดเวลา

• วิธีที่หก คือ กำหนดจุดขาดทุน หรือจุด cut loss เมื่อพบว่าการลงทุนที่เราตัดสินใจไม่เป็นไปตามคาด ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปัจจัยภายนอกที่ไม่คาดคิดเปลี่ยนแปลง เราประเมินผิด เราได้ข้อมูลไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง หรือ เกิดจากอารมณ์ของตลาดเปลี่ยนแปลงไป ฯลฯ เมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจะเป็นการดีกว่าที่เรายอมเสียเงินส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้

• วิธีที่เจ็ด คือ การใช้ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) ช่วยในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งปัจจุบันในตลาดหลักทรัพย์ฯมีตราสารอนุพันธ์ที่เราสามารถเลือกมาใช้เพื่อบริหารความเสี่ยงมากมาย แต่ทั้งนี้ ควรจะศึกษาให้เข้าใจและใช้ตราสารอนุพันธ์ให้ถูกต้อง ไม่งั้นแทนที่จะช่วยลดความเสี่ยงกลับเป็นเพิ่มความเสี่ยงไปเสียอีก

และจากวิธีต่างๆที่เล่ามานี้ เป็นวิธีที่สามารถใช้บริหารความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง ซึ่งต้องใช้หลายๆวิธีผสมๆกันไป แต่สุดท้ายนี้ อยากขอสรุปสั้นๆ ว่า คนที่เสี่ยงที่สุดคือคนที่ไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย ครับ

บทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : แม่ค้าตลาดนัด ระวังสรรพากรนัดเจอ

ความจริงความคิด : สถานภาพการสมรส กับ การเสียภาษี

ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)