โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
เทศกาลตรุษจีนทำให้นึกถึงครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่ ญาติผู้ใหญ่ ทั้งที่เสียชีวิตไปแล้ว และที่ยังมีชีวิตอยู่ และนึกถึงตัวเราเองจากเดิมเคยเป็นเด็กที่ดีใจรอวันตรุษจีน รับอั่งเปา (นานมากแล้ว) มาเป็นผู้ใหญ่ที่คอยให้อั่งเปาแทน ยิ่งปีนี้เป็นปีแรกของเกษียณอายุ รู้เลยว่า ชีวิตแกษียณไม่ง่าย ไม่ได้สนุกมีความสุขอย่างที่คิด แม้จะมีการเตรียมพร้อมมาเพื่อวันนี้บ้างแล้ว แต่ก็ยังรู้สึกไม่เพียงพอ เลยอยากขอเตือนคนรุ่นหลังที่ยังมีโอกาส ให้วางแผนเพื่อเกษียณอายุอย่างจริงจังนะ แล้วจะวางแผนอย่างไรดี
เมื่อ เดือนมกราคม 2013 สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการสำรวจวัตถุประสงค์การออมเงินของคนไทย พบว่า
• อันดับ 1 ออมเพื่อการศึกษาของบุตรและมรดกของลูกหลาน
• อันดับ 2 ได้คะแนนเท่ากัน คือ ออมเพื่อเกษียณ และ ออมเพื่อรักษาพยาบาล
• อันดับ 3 ออมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์
• อันดับ 4 ออมเพื่อท่องเที่ยวสันทนาการ
• อันดับสุดท้าย ออมเพื่อซื้อรถยนต์
จะเห็นนะครับว่า วัตถุประสงค์การออมที่สำคัญจะเป็นการออมที่มีเป้าหมายระยะยาวทั้งนั้น ในวันนี้ผมอยากจะขอคุยเกี่ยวกับการออมเพื่อเกษียณอายุ ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์การออมหนึ่งที่สำคัญสำหรับคนไทย หากเราจะออมเพื่อเกษียณอายุ เราต้องตอบคำถามตนเอง 2 ข้อนี้ให้ได้ก่อน คือ
• แก่อย่างมีความสุขต้องแก่อย่างไร
• จะต้องทำอย่างไรจึงจะแก่อย่างมีความสุข
แก่อย่างมีความสุขต้องแก่อย่างไร
สุภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวเกี่ยวกับการวางแผนชีวิตเพื่อวัยเกษียณว่า ถ้าอยากจะแก่อย่างมีความสุข ต้องมี 4 แก่
• แก่เพื่อน
• แก่ภรรยา
• แก่สุขภาพ
• แก่เงิน
เรามาเริ่มจาก “แก่เพื่อน” ก่อนเลย “แก่เพื่อน” หมายถึงมีเพื่อนเยอะๆ หากจะให้ถามว่า “เพื่อนกิน กับ เพื่อนตาย อย่างไหนหายากกว่ากัน?” พวกเราคงตอบว่า “เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก” แต่คนที่เกษียณอายุแล้วอาจไม่ได้คิดเช่นนั้น ผมเคยฟัง ม.ร.ว. ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ท่านบรรยายในงานสัมมนาหนึ่งนานมาแล้ว ท่านบอกว่า “ใครว่าเพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก ไม่จริงเลย ตอนนี้จะหาเพื่อนกินข้าวด้วยซักคนหายากมาก บางคนติดปัญหาสุขภาพ บางคนติดเลี้ยงหลาน บางคนไม่มีเงิน ฯลฯ แต่เพื่อนตายนี่สิมีทุกเดือน”
ฟังอย่างนี้แล้ว ก็ขอให้พวกเรารักษาเพื่อนที่มีอยู่ไว้เยอะๆ และนานๆ ต้องขอขอบคุณ internet และ social media ทั้งหลาย โดยเฉพาะ line ที่ทำให้เพื่อนเรียนที่ไม่ได้เจอกันมากว่า 20-30 ปีได้กลับมาเจอกันอีก
จากประสบการณ์ชีวิตของตนเองเลย เพื่อนในวัยเรียนส่วนใหญ่เป็นเพื่อนที่ดี แม้หลายคนเป็นใหญ่เป็นโต หลายคนอาจตกอับ แต่ในความเป็นเพื่อน ไม่มีการถือศักดิ์ศรี พร้อมจะให้ความช่วยเหลือเพื่อนๆที่ยากลำบากอยู่เสมอ ก็อยากขอแชร์นะครับว่า มีงานเลี้ยงรุ่นอะไร หรือ ใน line group ของเพื่อนๆ ขอให้ไปร่วมเถอะครับ เพราะไม่แน่ว่าเพื่อนที่เราเจอในปีนี้ ปีหน้าจะได้เจออีกหรือเปล่า
จาก “แก่เพื่อน” เช่นกัน ก็ขอให้เราอย่าปิดกั้นตนเองในการคบเพื่อน แต่ก็ไม่ใช่คบโดยไม่เลือก บางครั้งเพื่อนที่ดี อาจไม่ใช่เพื่อนที่เราสนิทคบหากันมานาน อาจเป็นเพื่อนที่พบกันโดยบังเอิญเพียงครั้งสองครั้งก็ได้
ผมขอยกตัวอย่างของผมเองเป็นอุทาหรณ์แล้วกัน ผมเคยประสบปัญหาการทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งจนต้องถูกบีบให้ออกจากงาน ในวันแรกที่ผมถูกมรสุมการงาน น้องที่สนิทและเป็นคนที่ผมพาเข้ามาทำงานที่บริษัทเองได้มาพูดกับผมทันทีว่า “พี่ค่ะ ต่อไปหนูคงไม่มาพูดคุยกับพี่อีกแล้ว ไม่งั้นหนูจะซวยไปด้วย” ผมได้ยินครั้งแรกก็โกรธและเสียใจที่คนที่เรามองเป็นเพื่อนกลับเป็นคนแรกที่ทิ้งเราในวันที่เราลำบาก แต่ก็ขอบคุณพระเจ้าที่ช่วยให้เราได้เห็นธาตุแท้ของคน คำพูดที่ว่า “จะดูว่าใครเป็นคนดี ให้ดูตอนลำบาก สถานการณ์จะพิสูจน์คน” เป็นเรื่องจริงทีเดียว
และในที่สุดผมก็ลาออกจากบริษัทนั้นโดยที่ยังไม่มีงานใหม่รองรับ และต้องขอบคุณพระเจ้าอีกเช่นกันที่ผมได้พบคนดีมีน้ำใจ คือ คุณบุญชัย หรูตระกูล (บอม) จาก AIA ที่ยอมรับเลยว่าตอนนั้นไม่ได้สนิทอะไรกับคุณบอมเลย เพียงรู้จักชื่อและพูดคุยกันเพียงครั้งสองครั้ง แต่กลับเป็นคนที่ช่วยเหลือพาผมไปแนะนำให้กับผู้บริหารบริษัทประกันชีวิตต่างๆ เพื่อหาโอกาสของการทำงาน อีก 2 คนที่ช่วยเหลือผมในตอนนั้นก็ คือ คุณกิตศิริ เกษบูรณะ (น้ำอ้อย) เมืองไทยประกันชีวิต และคุณนุจรีย์ ศิษฏศรีวงศ์ (โป่ง) ประธานสายบริหารทรัพยากรบุคคล ธนาคารเกียรตินาคินในขณะนั้น ที่เข้ามาให้กำลังใจ แนะนำให้รู้จักพระเจ้า คอยช่วยเหลือต่างๆนาๆ โดยเฉพาะคุณโป่งเป็นผู้ที่ช่วยให้ผมมีโอกาสทำงานในธนาคารเกียรตินาคิน และผ่านพ้นมรสุมการงานในครั้งนั้นมาได้
การดูว่าใครเป็นเพื่อนที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การมีเพื่อนมากๆก็ย่อมช่วยให้เรามีโอกาสมีเพื่อนที่ดีได้มากเช่นกัน อย่าปิดกั้นตนเองจากเพื่อนๆ และการคบเพื่อนนะครับ