ความจริงความคิด : สถานภาพการสมรส กับ การเสียภาษี

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ใครยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2563 กันไปแล้วบ้าง เชื่อว่าหลายคน (น่าจะส่วนใหญ่ยังไม่ยื่น เพราะปีนี้สรรพากรขยายเวลายื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (แบบ ภ.ง.ด.90 แบบ ภ.ง.ด.91) ที่ต้องยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 31 มี.ค.2564 ให้ขยายถึงวันที่ 30 มิ.ย.2564 แต่เฉพาะแบบยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ดังนั้นใครที่ถนัดยื่นด้วยกระดาษ เส้นตายที่ต้องยื่นภาษียังเป็น 31 มี.ค. 2564 เหมือนเดิมนะ

ทีนี้ เราควรยื่นตอนนี้ดี หรือ ยื่นตอนใกล้ๆเส้นตายดี เอาง่ายๆนะ คนที่ได้ภาษีคืน แนะนำให้รีบยื่นเลย จะได้เงินภาษีคืน เอามาใช้จ่าย หรือฝากแบงค์ก็ยังได้ดอกเบี้ย แต่ถ้าทิ้งไว้ที่สรรพากร ดอกเบี้ยไม่มีนะ เท่ากับเราใจดีให้สรรพากรยืมเงินเราใช้โดยไม่คิดดอกเบี้ย

อ้าว อย่างนี้ คนที่ต้องเสียภาษีเพิ่ม ก็ควรรอใกล้ๆเส้นตายสิ เพราะยังไงก็ต้องเสียเพิ่มแถมเสียช้าสรรพากรก็ไม่คิดดอกเบี้ย (ถ้าไม่เกินเส้นตายของสรรพากร คือ 31 มี.ค. 2564 สำหรับการยื่นด้วยกระดาษ หรือ 30 มิ.ย. 2564) ก็สู้เอาเงินไปฝากแบงค์กินดอกเบี้ยก่อนดีกว่า ใกล้เส้นตายค่อยไปเสียภาษี เท่ากับเรายืมเงินสรรพากรมาใช้โดยสรรพากรไม่คิดดอกเบี้ยเหมือนกัน)

แต่ไม่ว่าจะเสียภาษีเพิ่ม หรือ ขอภาษีคืน ถ้าจะรอยื่นใกล้ๆเส้นตาย ก็ขอให้มั่นใจก่อนนะว่า เรายื่นภาษีถูกต้อง เพราะหากไม่ถูกต้อง และสรรพากรตรวจสอบภาษีพบ เราอาจต้องเสียเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม 1.5%/เดือน เนื่องจากเกินเส้นตายภาษี แต่ถ้าเรายื่นแต่เนิ่นๆ เกิดข้อมูลไม่ถูกต้อง เราก็สามารถยื่นปรับปรุงได้โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับเงินเพิ่ม เพราะยังอยู่ในช่วงเวลาที่กำหนดสำหรับการยื่นแบบภาษี

ทีนี้ตอนกรอกแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในหน้าแรกเลย ก็เจอให้กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเราหลายข้อมาก เรื่อง หนึ่งก็คือ สถานภาพการสมรส มี 4 ข้อให้เลือก

สมรสและอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี
สมรสระหว่างปีภาษี
หย่าระหว่างปีภาษี
ตายระหว่างปีภาษี

สถานภาพการสมรส มีความหมายต่อการยื่นภาษี
คำว่า “สมรส” ของสรรพากร ต้องเป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ จดทะเบียนสมรส เท่านั้น

โดยสถานภาพการสมรส แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

สถานภาพการสมรสไม่ครบปีภาษี แบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ สมรสระหว่างปีภาษี, หย่าระหว่างปีภาษี, ตายระหว่างปีภาษี
สถานภาพการสมรสครบปีภาษี

การหักลดหย่อนบางอย่าง สถานภาพการสมรสครบปีภาษีหรือไม่ ไม่สำคัญ สามารถหักลดหย่อนได้ อย่างเช่น การหักลดหย่อนคู่สมรส สถานภาพการสมรสไม่ครบปีภาษีก็มีสิทธิหักลดหย่อนได้ เช่น จดทะเบียนสมรสระหว่างปีภาษี หรือตายในระหว่างปีภาษี ก็มีสิทธิหักลดหย่อนได้ 60,000 บาท (มีเงื่อนไขว่า คู่สมรสหรือเราต้องอยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วันในปีภาษีนั้น)

การหักลดหย่อนบุตรก็เช่นกัน แม้สถานภาพการสมรสจะไม่ครบปีภาษี อย่างเช่น หย่า

กรณีหย่ากันระหว่างปีภาษี พ่อและแม่ก็ยังสามารถลดหย่อนบุตรได้เต็มจำนวนทั้ง 2 ฝ่าย

กรณีหลังปีที่หย่า ฝ่ายที่ดูแลบุตรจะมีสิทธิหักค่าลดหย่อน ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันดูแล ก็หักลดหย่อนบุตรได้เต็มจำนวนทั้งคู่ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่า ฝ่ายไหน คือ ฝ่ายที่ดูแลบุตร มีวิธีดู ดังนี้ครับ

ดูที่หลังใบทะเบียนหย่า ระบุว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ดูแลบุตร
ดูที่หลักฐานการดูแลบุตร อย่างเช่น เอกสารหรือหลักฐานที่บิดามารดาส่งหรือรับเงินหรือโอนเงินหรือจ่ายเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเสื้อผ้า ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด เป็นต้น ซึ่งระบุให้บุตรหรือบุคคลที่ดูแลบุตรเป็นผู้รับแทน และนำมาพิสูจน์ต่อเจ้าหน้าที่โดยเชื่อได้ว่ามีการอุปการะเลี้ยงดูบุตรจริงในปีภาษีใด ไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่จัดทำเอง หรือเอกสารซึ่งไปรษณีย์ ธนาคาร หรือหน่วยงานที่ให้บริการในลักษณะทำนองเดียวกันเป็นผู้ออก บิดามารดามีสิทธิ หักลดหย่อนบุตรตามมาตรา 47(1)(ค) และมาตรา 47(1)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ตามหลักฐานดังกล่าวในปีภาษีนั้น

(ข้อหารือสรรพากร : กค 0706(กม.06)/148)

แต่การหักลดหย่อนบางอย่าง สถานภาพการสมรสครบปีภาษีมีความสำคัญ อย่างเช่น การหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตที่ผู้มีเงินได้จ่ายไปในปีภาษี สำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยส่วนแรกหักได้ 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท หักได้ไม่เกินเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 90,000 บาท (รวมเป็นไม่เกิน 100,000 บาท)ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร

การหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตนี้ กรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้มีการประกันชีวิตและความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิหักลดหย่อนได้ด้วยสำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายสำหรับการประกันชีวิตของสามีหรือภริยานั้นตามเกณฑ์ข้างต้น ( ถ้าคู่สมรสมีเงินได้ หักได้ทั้งหมดไม่เกิน 100,000 บาท แต่ถ้าไม่มีเงินได้ จะหักได้เพียง 10,000 บาทเท่านั้น ) แปลว่า ถ้าสถานภาพการสมรสไม่ครบปีภาษี เราจะหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตคู่สมรสไม่ได้เลย นอกจากให้แยกยื่น ให้คู่สมรสยื่นภาษีและขอหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตเอง

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)

ความจริงความคิด : เครดิตบูโร

ความจริงความคิด : บทความที่ดีที่สุดเรื่องนึง