ความจริงความคิด : เครดิตบูโร

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิ
 
 
วิกฤติ Covid ไม่ได้กระทบแค่สุขภาพกาย สุขภาพใจ แต่สุขภาพเงินก็กระทบกันถ้วนหน้า รายได้หดหาย รายจ่ายคงที่ โชคดีที่รัฐช่วยคนละครึ่ง ตอนนี้ก็ยังรอลุ้นเราชนะอยู่ว่าจะได้หรือไม่

แต่กับบางคนที่แม้รัฐจะช่วยแล้ว แต่ด้วยความจำเป็น หรือ ความประมาทที่ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ใช้เงินแบบไม่คิด (แล้วแต่คน) ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่าย จะยืมเพื่อน ยืมญาติ แต่ละคนก็ลำบากเหมือนกันหมด จะกู้หนี้นอกระบบ ก็ดอกแพง ไปกู้แบงค์ ก็เจอติดเครดิตบูโรบ้าง ติด black list บ้าง สรุปแล้ว เครดิตบูโร มันคืออะไร ทำไมมันถึงทำให้เรากู้เงินแบงค์ไม่ได้

เครดิตบูโร คือ ข้อมูลสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติและการชำระหนี้ทั้งหมดของแต่ละคน จัดเก็บโดยบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ไม่ว่าเราจะขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือทำบัตรเครดิตมากี่ใบ ธนาคารไหนบ้าง รวมถึงสถานะการชำระหนี้ ว่าเรามีผิดนัดชำระหรือไม่ มีค้างชำระกี่รายการ หยุดชำระกี่รายการ มีปิดบัญชีไปบ้างไหม ทุกพฤติกรรมในการชำระหนี้จะถูกบันทึกไว้ในข้อมูลของเครดิตบูโรทั้งสิ้น

ข้อมูลเครดิตคืออะไร ใครเป็นคนเก็บ

ข้อมูลเครดิตเป็นข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ของคนแต่ละคน ซึ่งจะถูกจัดเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิต ประกอบไปด้วยข้อมูล 2 ส่วน คือ ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวตนลูกค้า และข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติและประวัติการชำระ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเคยทำบัตรเครดิตมากี่ใบ ขอสินเชื่อรถมากี่คัน ขอสินเชื่อบ้านมากี่หลัง บัญชีนั้นจะอยู่ระหว่างใช้งาน ผ่อนชำระ หรือปิดบัญชีไปแล้ว ก็มีแสดงในรายงานข้อมูลเครดิตทั้งหมด

ถ้าจะพูดในเชิงเปรียบเทียบ ข้อมูลเครดิตก็คล้ายกับสมุดพกรายงานข้อมูลทางด้านการเงิน พฤติกรรมการใช้และการชำระสินเชื่อของแต่ละคนนั่นเอง

ตัวเลขบอกสถานะอย่างไร

ในรายงานข้อมูลเครดิตนั้น แสดงประวัติการชำระหนี้ย้อนหลังรวม 36 เดือน โดยข้อมูลล่าสุดจะแสดงอยู่ด้านบน สำหรับความหมายของสถานะบัญชีในปัจจุบันเป็นอย่างไร จะมีตัวเลขกำกับอยู่ เราลองไปดูความหมายของรหัสเลขต่าง ๆ กัน

· 10 – ปกติ แปลว่า บัญชีนี้มีการชำระสินเชื่อตามปกติ จ่ายครบ จ่ายตรงตามเงื่อนไข ไม่มียอดค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน
· 11 – ปิดบัญชี แปลว่า สินเชื่อบัญชีนี้ได้มีการปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว ไม่มีหนี้ค้าง
· 12 – พักชำระหนี้ ตามนโยบายรัฐ แปลว่า ที่ผ่านมาเคยมียอดค้างชำระ แต่ตอนนี้เข้าโครงการพักชำระหนี้ตามนโยบายรัฐ จึงทำให้สถานะไม่เป็นการค้างชำระ
· 20 – หนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน แปลว่า เคยค้างชำระในอดีต และปัจจุบันก็ยังค้างอยู่ ซึ่งเป็นสถานะที่เป็นผลลบต่อตัวผู้เป็นลูกหนี้เจ้าของบัญชีนี้

ใครขอดูข้อมูลเครดิตบูโรได้บ้าง

จะเห็นนะว่าข้อมูลในเครดิตบูโรเป็นข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราและภาระหนี้สินของเรา ซึ่งเป็นข้อมูลที่อ่อนไหวมาก ยกตัวอย่างง่ายๆ เกิดเราเป็นหนี้เสียแบงค์อยู่ วันดีคืนดีมีคนเอาข้อมูลหนี้เราไปเผยแพร่ทางสื่อ internet เราจะเสียเครดิตมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นคนที่จะขอดูข้อมูลเครดิตได้จะมีแค่ 2 คนเท่านั้น คือ สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโรซึ่งก็คือคนที่ปล่อยกู้เรานั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นแบงค์ บริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์ ฯลฯ หรือพวก non-bank ที่อยู่ในระบบ อย่างเช่น ผู้ให้บริการบัตรเครดิต ฯลฯ กับ ตัวเราเองในฐานะเจ้าของข้อมูล เราจะขอดูข้อมูลคนอื่นไม่ได้ถ้าไม่ได้รับมอบอำนาจให้มาขอข้อมูล
ทำไมเราจึงควรตรวจเครดิตบูโรของตัวเอง ?

1. เตรียมพร้อมก่อนขอสินเชื่อ
เครดิตบูโรคือตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เราประเมินโอกาสในการขอสินเชื่อด้วยตัวเองก่อนไปธนาคาร ไม่ว่าจะกู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อรถ สมัครบัตรเครดิต หรือสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทต่าง ๆ ว่าเรามีโอกาสกู้ผ่านได้มากน้อยแค่ไหน หากในข้อมูลเครดิตยังมีเลข 20 ซึ่งหมายถึงหนี้ค้างชำระอยู่หลายบัญชี ก็เป็นไปได้สูงว่าธนาคารอาจจะไม่อนุมัติสินเชื่อให้เรา ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา ขนาดหนี้ที่อื่นเรายังเบี้ยว และเกิดเขาให้เรายืมเงิน เราจะเบี้ยวรึป่าว

2. รู้สถานะการเงินของตัวเอง
พื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดี คือ การหมั่นตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ พื้นฐานของการวางแผนการเงินที่ดีก็เช่นกันคือ เราต้องหมั่นตรวจสุขภาพการเงินของเราเช่นกัน การเช็กเครดิตบูโรก็เป็นการตรวจสุขภาพการเงินของเราเช่นกัน เพื่อให้รู้ว่าในวันนี้เรามีหนี้ก้อนไหนบ้าง ประวัติการชำระหนี้เราดีไหม หากค้างชำระหนี้บ่อยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเป็นโอกาสที่ดีในการขอสินเชื่อต่อไป ที่สำคัญ อย่าลืมเช็กประวัติการค้างชำระด้วยว่าถูกต้องหรือเปล่า หากไม่ถูกต้องสามารถขอแก้ไขได้ รวมถึงตรวจให้แน่ใจว่าเมื่อจ่ายหนี้ที่ค้างไปหมดแล้ว มีสถานะปิดบัญชี ยอดหนี้เป็นศูนย์หรือไม่

3. ป้องกันหนี้ที่เราไม่ได้ก่อ
สำหรับใครที่ยังไม่ได้มีแผนการว่าจะเปิดบัตรเครดิต กู้เงินซื้อบ้าน กู้ซื้อรถ ก็ไม่ควรมองข้ามการตรวจเครดิตบูโร เพราะช่วยให้เราตรวจสอบได้ว่ามีใครแอบอ้างนำข้อมูลส่วนตัวของเรา ไม่ว่าจะสำเนาบัตรประชาชน หรือเอกสารการเงินต่าง ๆ ไปแอบอ้างเพื่อขอสินเชื่อ เพื่อป้องกันหนี้ที่เกิดจากมิจฉาชีพ

4. เอกสารสำคัญประกอบการสมัครงาน
ข้อมูลเครดิตถูกใช้เป็นเอกสารสมัครงานชิ้นสำคัญในการตรวจสอบความมั่นคงด้านการเงินของหลายสายงาน บางตำแหน่งอาจถูกขอให้แสดงเครดิตบูโรของตนเองเพื่อประกอบการพิจารณาเข้าทำงาน รวมถึงตำแหน่งผู้บริหารในหลายสายงานมักต้องตรวจสอบและให้แสดงข้อมูลเครดิตของตนเองในทุกปีเพื่อความโปร่งใสด้านการเงิน ที่ผมเคยเจอมากับตัว ก็คือ งานในสถาบันการเงินมักจะขอข้อมูลเครดิตบูโรในการพิจารณารับเข้าทำงาน ซึ่งก็มีเหตุผล เพราะขนาดเงินของตนเองยังบริหารได้ไม่ดี แล้วจะบริหารเงินของลูกค้าได้ดีอย่างไร และคนที่ติดเครดิตบูโร ก็มีโอกาสสูงที่จะทุจริตเงินของลูกค้าได้

เราควรตรวจข้อมูลเครดิตของตัวเองไหม

เมื่อทำความรู้จักกับรายงานชำระหนี้เครดิตกันไปแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงอยากเช็กเครดิตบูโรของตัวเองกันแล้วว่าพฤติกรรมการเงินของเราที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง มีใครมาสวมรอยมาขอสินเชื่อด้วยชื่อของเราบ้างไหม ซึ่งแต่ก่อนหากต้องการเช็กเครดิตบูโรของตัวเองก็ต้องเดินทางไปขอจากจุดให้บริการต่าง ๆ มีความยุ่งยากและอาจเสียเวลาหลายชั่วโมงการตรวจข้อมูลเครดิตของตัวเอง นอกจากจะเป็นการตรวจเช็กข้อมูลตัวเองในเรื่องประวัติการชำระสินเชื่อทั้งหมดที่เรามีว่าเป็นอย่างไรแล้ว ยังช่วยตรวจสอบให้กับตัวเองอีกด้วยว่าเอกสารสำคัญส่วนตัวของเรานั้น มีใครนำไปแอบอ้างทำอะไรหรือไม่ เช่น ปลอมแปลงสำเนาบัตรประชาชน หรือเอกสารการเงินต่าง ๆ ไปสมัครสินเชื่อโดยใช้ชื่อเรา

ขอเช็กได้ที่ไหนบ้าง
ใครที่อยากเช็กข้อมูลเครดิตของตัวเอง สามารถเตรียมบัตรประชาชนแล้วนำไปตรวจสอบแบบรอรับผลได้เลย ซึ่งมีจุดบริการหลายแห่งด้วยกัน เช่น BTS ศาลาแดง, ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำนักงานใหญ่

แต่หากใครไม่สะดวกเดินทางไปขอเช็กเครดิตบูโรด้วยตัวเอง ก็สามารถมอบอำนาจได้ โดยเตรียมเอกสาร ดังนี้
– บัตรประชาชนตัวจริง และสำเนาบัตรประชาชน พร้อมลงนามรับรองสำเนาถูกต้องของผู้มอบอำนาจ (ผู้ที่ต้องการตรวจเครดิตบูโร) และของผู้รับมอบอำนาจ และหนังสือมอบอำนาจตรวจสอบข้อมูลเครดิต สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.ncb.co.th

การตรวจสอบข้อมูลเครดิตของตัวเอง ก็คล้ายกับการตรวจร่างกายประจำปี อย่างน้อยก็ช่วยให้เรารู้ว่าปีนี้ยังมีสุขภาพการชำระเงินที่แข็งแรงเหมือนเดิมอยู่ไหมตัวเลขในข้อมูลเครดิตบอกสถานะการชำระหนี้อย่างไร ?