ความจริงความคิด : วัยเกษียณ ความเสี่ยงที่หนีพ้นถ้าตายก่อน

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ช่วงนี้ ไม่ได้ออกไปข้างนอกเลย ทั้งที่ใจวิ่งไปอยู่ตามตลาดนัด ตามห้างที่ชอบไปทุกวัน เหตุผลก็เหมือนกับหลายๆคนตอนนี้ที่ขอปลอดภัยจากโควิด ล็อคดาวน์ตัวเองดีกว่า นี่ก็รอคิวฉีดวัคซีนอยู่ แม้จะมีข่าวคนแพ้ คนเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนบ้าง แต่ก็เชื่อมั่นในความรู้ จรรยาบรรณของบุคลากรสาธารณสุขไทยที่วางแผนทุกอย่างเพื่อสวัสดิภาพที่ดีที่สุดของคนไทย

เรื่องโควิด เราป้องกันหรือหลีกหนีจากความเสี่ยงที่จะติดโรคได้ แต่มีโรคหนึ่งที่เราหลีกหนีไม่ได้ถ้าไม่ตายก่อน ก็คือ โรคชรา

ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติที่ว่า “เมื่อประเทศใดมีประชากร อายุ 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมด ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) เมื่อสัดส่วนดังกล่าว เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 และร้อยละ 14 ตามลำดับ”

ซึ่งประเทศไทยเป็นสังคมคนสูงอายุตามนิยามนี้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2548 คือ เกือบ 20 ปีมาแล้ว และตอนนี้ปัญหานี้ยิ่งรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลจาก Bloomberg ปี 2019 พบว่า ปัญหาคนสูงอายุ และการที่คนไทยมีลูกน้อยลงจะทำให้ประฃากรไทยปรับลดลงจาก 70 ล้านคนในปี 2020 เหลือ 68 ล้านคนในปี 2040 โดยกลุ่มคนที่เพิ่มขึ้นคือ คนสูงอายุ กลุ่มคนที่ลดน้อยมากสุด คือ วัยทำงาน (อายุ 20-64 ปี)

ปัญหาคนสูงอายุจึงเป็นปัญหาที่หนักมากสำหรับคนที่จะอายุ 60 ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะแก่ตัวโดยไม่มีลูกหลานคอยดูแล ดังนั้น หากวันหนึ่งเมื่อเราต้องเป็นผู้สูงอายุเอง เราจะดำเนินชีวิตอย่างไร จากรายงานวิจัย เรื่อง “สังคมผู้สูงอายุ เราจะเตรียมรับมืออย่างไร” โดย ไพโรจน์ วงศ์วุฒิวัฒน์ ธนาคารกรุงเทพ ปี 2552) พบว่า

ด้านสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ผู้สูงอายุ สูงถึงร้อยละ 97มีสวัสดิการค่ารักษาประเภทบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง

ด้านการทำงาน ผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ร้อยละ 51.0 ให้เหตุผลว่าต้องทำงานเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว ร้อยละ 36.5 เห็นว่าตนยังแข็งแรง ทำงานได้ อีกร้อยละ 12.5 ต้องส่งเสียบุตร เป็นอาชีพประจำไม่มีผู้ทำแทน และมีหนี้สิน

ด้านแหล่งรายได้หลักในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ คือ บุตร ร้อยละ 52.3 รายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง ร้อยละ 28.9 คู่สมรส ร้อยละ 6.1 เงินบำเหน็จบำนาญ ร้อยละ 4.4

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุต้องการความเอาใจใส่จากบุตรหลานมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การรักษาพยาบาล การเอาใจใส่ ซึ่งนับว่ายังโชคดีที่คนไทยเรายังรักษาวัฒนธรรมการเป็นลูกกตัญญูเอาไว้ เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้สูงอายุของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2552 ที่สอบถามคนที่อยู่ในวัยทำงาน พบว่าลูกหลานหรือคนในวัยทำงานเห็นว่าควรดูแลเอาใจใส่สมาชิกผู้สูงอายุในครอบครัวถึงร้อยละ 64.6 แต่รายงานวิจัยดังกล่าวก็ให้ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ คนในวัยทำงานคิดว่าควรให้ความเอื้อเฟื้อแก่ผู้สูงอายุทั่วไปมีเพียงร้อยละ 20.2 เท่านั้น ตัวเลขนี้ตอกย้ำความ “ไม่เอาคนอื่นมากยิ่งขึ้น” ทั้งยังปัดภาระให้เป็นของรัฐบาลถึงร้อยละ 65 ที่ควรจัดงบประมาณให้ผู้สูงอายุอย่างทั่วถึงและเพียงพอ

ปัญหาก็คือ หากเราเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลาน (คนไทยเริ่มมีแนวโน้มนี้มากขึ้น เพราะเริ่มที่จะอยู่เป็นโสดมากขึ้น มีลูกน้อยลง) เราจะทำอย่างไร จะฝากชีวิตไว้กับรัฐบาลได้หรือไม่ แน่นอนคำตอบที่อยู่ในใจทุกท่านคงเหมือนกับผม ก็คือ พึ่งพาตนเองให้ได้ ปลอดภัยที่สุด คำถามที่จะถามต่อไปก็คือ เรามีการเตรียมตัวรึยัง และถ้าจะเตรียมตัว ควรเตรียมตัวอย่างไร

ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2552 ได้นำเสนอผลการสำรวจเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อการเตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ พบว่าคนส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 89.7 เห็นว่า ควรมีการเตรียมการเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ในจำนวนนี้เห็นว่าควรเตรียมการในเรื่องเงินถึงร้อยละ 98.2 เตรียมการในเรื่องที่อยู่อาศัยร้อยละ 97.4 เตรียมการในเรื่องสุขภาพกาย ร้อยละ 96.3 เตรียมการในเรื่องสภาพจิตใจ ร้อยละ 93.9 เตรียมการหาผู้ดูแล ร้อยละ 88.6 และควรมีการเตรียมการเรื่องมรดก ร้อยละ 83.9

จะเห็นได้ว่า “การเตรียมตัวเรื่องเงิน” เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากที่สุด และยิ่งหากช่วงเกษียณเรามีแนวโน้มต้องอยู่คนเดียวมากขึ้น อยู่นานขึ้น ฯลฯ เราก็ต้องวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณให้ดี
 
 
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : 10 คำถามที่พบบ่อย เมื่อจะต้องเช็คสิทธิ และใช้สิทธิบัตรทอง
ความจริงความคิด : ยิ่งเกิด covid ยิ่งกังวลเรื่องเงิน
ความจริงความคิด : การบริหารความเสี่ยงในการลงทุน
ความจริงความคิด : แม่ค้าตลาดนัด ระวังสรรพากรนัดเจอ