ความจริงความคิด : ยิ่งเกิด covid ยิ่งกังวลเรื่องเงิน

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เคยอ่านเจอรายงานวิจัยอันหนึ่งซึ่งเป็นข้อมูลจากการสำรวจเรื่องเงินนิตยสารทางการเงินของครอบครัวอเมริกัน โดยผลสำรวจพบว่ามี 8 ความกังวลทางการเงินที่พบบ่อยที่สุดในครอบครัวอเมริกา ซึ่งอ่านดูแล้วไม่น่าจะต่างจากคนไทยเท่าไหร่

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงภาวะ covid อย่างนี้ ความกังวลเรื่องการเงินของคนไทยมีความแตกต่างจากรายงานวิจัยนี้บ้างหรือเปล่า

8 ความกังวลเรื่องการเงินมีดังนี้

1.เกิดอะไรขึ้นถ้ารายได้ของฉันหายไป?

ความกังวลเรื่องรายได้เกิดขึ้นในไทยมาก่อน covid อีก เพราะจากภาวะที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนทำให้ ธุรกิจหลายแห่งต้องปิดตัวลง งานหลายอย่างต้องหายไป ทำให้ทุกคนกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียงาน สูญเสียรายได้ คำถามคือเราจะทำอะไรเพื่อยังชีพหากวันนั้นมาถึง และผลกระทบจาก covid ส่งผลเรื่องรายได้อย่างไรบ้าง ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย หรือ KResearch ที่ได้ทำการสำรวจภาวะหนี้สินและการออมของประชาชนในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ช่วงเดือน มี.ค.64 จำนวนกว่า 300 คน พบว่า มากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม (56.2%) มีปัญหารายได้ลดลงจากปีก่อน โดยกลุ่มพนักงานบริษัทได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยพบว่า

• โบนัสและค่าตอบแทนลดลง 52%
• ชั่วโมงทำงานลดลง 34.7%
• ถูกลดเงินเดือน 13.3%

ขณะที่กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและผู้รับจ้างทั่วไปได้รับผลกระทบอันดับสอง ตามมาด้วยผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว

2. วิธีที่ฉันจะล้างหนี้ของฉันให้หมดได้อย่างไร

จากการศึกษาครัวเรือนอเมริกันที่มีรายได้ปานกลางพบว่า ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปเกือบร้อยละ 33 มีค่าเฉลี่ยของหนี้บัตรเครดิตมากกว่าผู้ที่อายุต่ำกว่า 50 ข้อมูลนี้ก่อให้เกิดคำถามที่น่ากังวล คือ สมมติว่าผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไปที่อีกไม่กี่ปีก็จะไม่ได้ทำงาน และสมมติว่าเงินออมของพวกเขาก็หมด เขาจะจัดการชีวิตอย่างไรในภาวะวิกฤติเรื่องเงินอย่างนี้ ปัญหาหนี้ของคนไทยเดิมก็มากอยู่แล้ว ดูจากหนี้ครัวเรือนของไทยเมื่อสิ้นปี 63 อยู่ที่ 89.2% ของ GDP คาดว่ามีโอกาสเพิ่มขึ้นแตะ 90% ภายในสิ้นปีนี้ จากการสำรวจเดียวกันนี้ กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามมีภาระหนี้สินเฉลี่ย 6.8 แสนบาท เพิ่มขึ้นจากการสำรวจรอบปี 62 ก่อนโควิดระบาด 16%

เมื่อรายได้ลดลง ภาระหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้ภาระหนี้ที่ต้องจ่ายแต่ละเดือน (Debt Service Ratio) มีสัดส่วน 42.8% แปลว่า ถ้ามีเงิน 100 บาท ต้องจ่ายหนี้ 42.8 บาท จะเหลือเงินใช้และเงินออม 57.2 บาทเท่านั้น ถ้ารายได้เยอะก็อาจไม่กังวลมากนัก แต่สำหรับคนที่มีรายได้น้อย ภาระหนี้ที่เยอะมาก จะทำให้เกิดปัญหาการครองชีพได้มากทีเดียว

3. ฉันสามารถที่จะเลี้ยงดูบุตรได้แค่ไหน?

สมบัติที่มีค่ามากที่สุดของพ่อแม่ ก็คือ ลูก เคยพบหลายครั้งที่พ่อแม่ยอมลำบาก ยอมเป็นหนี้เพื่อให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก โดยเฉพาะการศึกษา ข้อมูลจาก Forbes Jun.2017 สำหรับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อปี (คิดที่ค่าใช้จ่ายในปี 2017) สำหรับการศึกษาในระดับชั้นต่างๆ

ยิ่งพ่อแม่ตั้งเป้าหมายการศึกษาของลูกสูงเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายยิ่งมากเท่านั้น ถึงพูดกันว่า มีลูก 1 คนจน 10 ปีน่าจะไม่พอแล้ว น่าจะเป็นจน 21 ปี แต่เมื่อรายได้ลด พ่อแม่อาจประหยัดตนเองได้ แต่จะให้ลดคุณภาพการศึกษาลูก คงต้องเป็นอันดับท้ายๆ

4. ฉันจะวางแผนการเกษียณอายุได้รึเปล่า?

ประเทศไทยเป็นสังคมคนสูงอายุไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2548 คือมีสัดส่วนคนสูงอายุต่อประชากรทั้งประเทศเกิน 10% และทุกวันนี้ด้วยเทคโนโลยีที่เจริญเร็วมาก ทำให้คนไทยอายุยาวขึ้น แต่กลับมีลูกน้อยลง จนทำให้ความหวังที่จะพึ่งลูกหลานมาเลี้ยงดูยามเกษียณเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ตอนนี้รายได้ลดลง แถมบางคนระยะเวลาทำงานลดลง แปลว่าเงินที่จะออมเพื่อเกษียณอายุน้อยลง อาจจะต้องเกษียณเร็วกว่าคาด แต่อายุขัยยาวขึ้น แปลว่าระยะเวลาใช้เงินจะยาวขึ้น ต้องใช้เงินมากขึ้น จะอยู่อย่างไร

5. สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจและพนักงานของฉันในอนาคต?

ในภาวะ Covid อย่างนี้ ได้พบเห็นธุรกิจหลายแห่งต้องเลิกกิจการ จะมีเจ้าของธุรกิจ 2 แบบ คือ แบบที่ห่วงลูกจ้าง อย่างกรณีหนึ่งที่ผมพบเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ที่ธุรกิจต้องเลิกเพราะผลกระทบจากเทคโนโลยี เจ้าของก่อนจะเลิกกิจการก็แนะนำลูกจ้างให้กับโรงพิมพ์อื่นๆจนทุกคนมีงานทำต่อ จึงค่อยเลิกกิจการ แต่ก็มีเจ้าของธุรกิจอีกแบบ ที่ขอให้ลูกจ้างลดเงินเดือนตนเอง แล้วสุดท้ายก็เลิกจ้าง เพื่อจะได้จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานน้อยลง

6. เกิดอะไรขึ้นถ้าฉันได้เจ็บป่วยหนักยามชรา?

สิ่งที่มาพร้อมอายุที่มากขึ้น ก็คือปัญหาสุขภาพ แต่นับเป็นโชคร้ายของคนวัยเกษียณ เพราะในวัยที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูง ก็เป็นวัยที่สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลหมดไป หรือหากต้องการสร้างสวัสดิการรักษาพยาบาลของตนเองด้วยการซื้อประกันสุขภาพ ก็ไม่ค่อยมีบริษัทประกันไหนขาย หรือถ้าขายเบี้ยประกันก็จะแพงมาก หรือ เราเองไม่มีคุณสมบัติพอที่จะซื้อ แล้วอย่างนี้ถ้าเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยจะทำอย่างไร

7. ฉันจะยังสามารถที่จะทำบุญการกุศลได้อีกแค่ไหน?

คนไทยเป็นคนที่มีเมตตา ใจบุญสุนทานมาแต่ไหนแต่ไร ต่อให้มีปัญหาการเงินอย่างไร ก็ยังทำบุญไม่ว่าจะเป็นการตักบาตร ทำบุญตามวัด ฯลฯ การทำบุญถือเป็นการสร้างความสุขทางใจอย่างหนึ่ง แต่เมื่อปัญหาทางการเงินมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น เงินที่จะทำบุญก็ลดน้อยลง การไม่มีความสุขทางการเงินก็ส่งผลกระทบต่อความสุขทางใจด้วยเช่นกัน

8. อะไรจะเป็นมรดกทางการเงินของฉันให้ลูกหลาน

หลายคนไม่มีการวางแผนเรื่องมรดกให้กับลูกหลานที่มีชีวิตอยู่ได้ดีนัก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่า ทรัพย์สินเรามีไม่เยอะ หรือ ไม่อยากแช่งตัวเอง หรือ เดี๋ยวค่อยทำยังไม่ตายวันพรุ่งนี้หรอก ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร การไม่วางแผนมรดกให้เรียบร้อยถือเป็นการประมาท การวางแผนมรดกไม่ใช่แค่การทำพินัยกรรม หรือ ซื้อประกันชีวิต แต่คือการวางแผนทางการเงินเพื่อคนที่อยู่ข้างหลังว่าเราจะเตรียมพร้อมอย่างไรให้พวกเขายามที่เราไม่อยู่ต่างหาก

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : การบริหารความเสี่ยงในการลงทุน

ความจริงความคิด : การบริหารพอร์ตการลงทุนสำหรับคนหลังเกษียณ ตอนที่ 1