HoonSmart.com>>PwC ประเทศไทย ชี้องค์กรไทยยังทำตามกฎระเบียบเพียง 42% ต่ำกว่าภูมิภาค แนะผู้นำต้องเข้าร่วมจริงจัง ใช้เทคโนโลยีช่วยวัดผล รับมือระเบียบโลกที่ซับซ้อน ดันธุรกิจเติบโตยั่งยืน
น.ส. สินสิริ ทังสมบัติ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึง รายงานผลสำรวจการปฏิบัติตามกฎระเบียบทั่วโลกประจำปี 2568 ฉบับประเทศไทย: ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การปฏิบัติตามกฎระเบียบ” ว่า องค์กรไทยส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญต่อฝ่ายปฏิบัติตามกฎระเบียบ (compliance function) ไม่เพียงพอ มีเพียง 42% ของผู้นำฝ่ายปฏิบัติตามกฎระเบียบของไทยเท่านั้นที่กล่าวว่า พวกเขามีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ขององค์กร เปรียบเทียบกับผู้นำฝ่ายปฏิบัติตามกฎระเบียบในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ 51%
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกฎระเบียบข้อบังคับ ระบบนิเวศอุตสาหกรรม และความเสี่ยงทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค
อีกทั้งความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทำให้การดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ ไม่ยั่งยืนอีกต่อไป ผู้บริหารจึงควรต้องผลักดันให้ฝ่ายปฏิบัติตามกฎระเบียบของตน เป็นศูนย์กลางของการสร้างโมเดลการปฏิบัติตามกฎหมายใหม่อย่างแท้จริง
การให้อำนาจในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์นั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้บริษัทสามารถมองเห็น ยอมรับ และจัดการความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม และยังช่วยปกป้องและสร้างมูลค่าให้กับองค์กรในระยะยาว
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า 61% วางแผนที่จะให้ฝ่ายปฏิบัติตามกฎระเบียบของตนมีส่วนร่วมในนวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ (business model innovation)
ขณะที่ 58% ต้องการให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ
น.ส.สินสิริ กล่าวต่อว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบของธุรกิจในประเทศไทยในปัจจุบันนั้นยังคงตามหลังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
โดยรายงานระบุว่า 72% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ใช้เทคโนโลยีในการฝึกอบรมด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (เทียบกับ 81% ในเอเชียแปซิฟิก)
ขณะที่ 62% ใช้เทคโนโลยีในการเปิดเผยข้อมูลตามข้อบังคับ (เทียบกับ 71% ในเอเชียแปซิฟิก) และ 57% ใช้เทคโนโลยีในการติดตามประเด็นปัญหา (เทียบกับ 66% ในเอเชียแปซิฟิก) ตามลำดับ
ยิ่งไปกว่านั้น รายงานระบุว่า 41% ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยกล่าวว่า ตนไม่มีแผนลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อการตรวจสอบด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ
ขณะที่ 35% กล่าวว่า ไม่มีแผนลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อการระบุและตีความข้อบังคับต่าง ๆ สาเหตุหลักอาจเนื่องมาจากหน่วยงานการปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศไทยยังคงพึ่งพาดุลยพินิจของบุคลากรในการตรวจสอบและการระบุข้อกฎหมายและการตีความเป็นหลัก
“ความลังเลในการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อการดำเนินงานด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบของธุรกิจไทย เมื่อเปรียบเทียบกับในระดับภูมิภาคจะส่งผลต่อความสามารถของประเทศในการจัดการกับความท้าทายด้านกฎระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบริษัทต้องการพัฒนานวัตกรรมของผลิตภัณฑ์และการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ” น.ส. สินสิริ กล่าว
ด้านวัฒนธรรมองค์กรด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (compliance culture) ผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทย 44% กล่าวว่า วัฒนธรรมด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กรของพวกเขาอยู่ในระดับปานกลาง โดยปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กรดังกล่าวให้แข็งแกร่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง (75%) การฝึกอบรมและการสื่อสารกับพนักงาน (53%) และการเน้นย้ำถึงความสำคัญของนโยบาย ขั้นตอน และแนวทางปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ชัดเจน (33%)
เหนือสิ่งอื่นใด การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ไม่ใช่เรื่องของการทำตามกฎเท่านั้น แต่เป็นการตระหนักถึงการทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่างเป็นปกติโดยได้ต้องรับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารและมีวัฒนธรรมในการส่งเสริมการปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องและฝังอยู่ในการดำเนินงาน
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหารจะต้องคำนึงถึงการมีกลยุทธ์และแผนการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ชัดเจน มีการแต่งตั้งผู้นำด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบและให้อำนาจทีมงานที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม
รวมทั้งมีการลงทุนในเทคโนโลยีที่จำเป็นซึ่งทั้งหมดจะเป็นวิธีที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถจัดการกับความท้าทายและความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น