HoonSmart.com>> ตลาดหุ้นสหรัฐฯปิดบวก ดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 619 จุด หลังรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของธนาคารขนาดใหญ่ นักลงทุนคลายกังวลสงครามการค้าหลายด้านของสหรัฐ เจ้าหน้าที่เฟดพร้อมดูแลเสถียรภาพ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น ฟาก “ตลาดหุ้นยุโรป”ปิดลบ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average: DJIA) วันที่ 11เมษายน 2568 ปิดที่ 40,212.71 จุด เพิ่มขึ้น 619.05 จุด หรือ +1.56% จากการรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกของธนาคารขนาดใหญ่ นักลงทุนคลายกังวลต่อสงครามการค้าหลายด้านของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯจากการใช้มาตรการภาษีศุลกากรแบบเรียกเก็บในอัตราที่เท่ากัน(reciprocal tariffs) และจากการให้ความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)
ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,363.36 จุด เพิ่มขึ้น 95.31 จุด, +1.81%
ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 16,724.46 จุด เพิ่มขึ้น 337.15 จุด, +2.06%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีหลักทั้งสามของสหรัฐฯ ปิดตลาดอย่างแข็งแกร่ง
ในช่วงเช้าของวันศุกร์ ตลาดปรับตัวลงจากการรายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้น ผู้ตอบแบบสอบถามยังระบุด้วยว่าพวกเขาเตรียมรับมือกับราคาที่พุ่งขึ้น 6.7% ในปีหน้า ซึ่งเป็นระดับของมุมมองในทางลบต่อต้นทุนที่เคยเห็นครั้งสุดท้ายในช่วงต้นทศวรรษ 1980 และเพิ่มขึ้นจาก 5% ที่สำรวจในเดือนที่แล้ว ส่วนการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อระยะยาวก็เพิ่มขึ้นแตะระดับ 4.4% ในอีก 5 ปีข้างหน้า
มหาวิทยาลัยมิชิแกนเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเมษายน ลดลงเหลือ 50.8 จาก 57 ในเดือนก่อนหน้าซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 54.6 ตามผลสำรวจของ Wall Street Journal และต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลก
ตลาดปรับตัวขึ้นในช่วงบ่ายหลังทำเนียบขาวกล่าวว่ามีข้อเสนอการค้า 15 ข้อบนโต๊ะจากการที่ประเทศต่างๆ เริ่มร่างข้อเสนอเพื่อทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ทำเนียบขาวยังให้ความเห็นว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มองในทางบวกว่าจีนจะหาทางทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ
เมื่อวานนี้จีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐเป็น 125% หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรรวมสำหรับจีนเป็น 145% จาก 125% ที่ปรับไปในวันก่อน
ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปกล่าวว่าผู้แทนการค้าของยูโรโซนจะบินไปวอชิงตันในวันอาทิตย์เพื่อพยายามที่จะได้ข้อตกลง
นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากการให้ความเห็นของซูซาน คอลลินส์ ประธานเฟดสาขาบอสตันที่กล่าวว่า ความผันผวนของตลาดในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาดูเหมือนจะไม่มีผลต่อความสามารถในการซื้อขายของนักลงทุน และรับรองว่าเฟดพร้อมที่จะดูแลตลาดการเงินให้ทำงานอย่างราบรื่นหากมีความจำเป็น
ขณะเดียวกัน จอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก เตือนว่าการเติบโตอาจชะลอตัวลงและอัตราเงินเฟ้ออาจพุ่งสูงถึง 4%
สัปดาห์นี้ถือเป็นช่วงที่ผันผวนมากที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นสหรัฐณ โดยดัชนีหลักร่วงลงในวันพฤหัสบดี เนื่องจากนักลงทุนเข้าสู่โหมดเลี่ยงความเสี่ยง ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าส่งผลต่อความเชื่อมั่น
ดัชนี CBOE Volatility Index (CBOE) วัดความวิตกของนักลงทุน ในช่วงต้นสัปดาห์พุ่งสูงกว่า 50 ก่อนที่จะลดลงเหลือประมาณ 37 ในช่วงบ่ายวันศุกร์
อย่างไรก็ตามแม้สัปดาห์นี้จะเต็มไปด้วยความปั่นป่วน แต่ทั้งสามดัชนีหลักก็ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 5.7% นับเป็นสัปดาห์ที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2023 ส่วนดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 7.3% ซึ่งถือเป็นสัปดาห์ที่ดีที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ส่วนดัชนีดาวโจนส์เพิ่มขึ้นเกือบ 5%
สำหรับการรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกถือว่าสดใส โดย JPMorgan Chase Morgan Stanley และ Wells Fargo ต่างรายงานผลกำไรดีกว่าคาด
แต่เจมี ไดมอน ซีอีโอ JPMorgan กล่าวว่าเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับ ความปั่นป่วนอย่างมาก แม้ว่าธนาคารจะรายงานผลประกอบการรายไตรมาสซึ่งได้รับแรงหนุนจากปริมาณการซื้อขายที่พุ่งสูงก็ตาม
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจอื่นที่มีการรายงานได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI)จากกระทรวงแรงงาน ซึ่งดัชนี PPI ทั่วไปเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่ 3.3% ที่นักวิเคราะห์ เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไปลดลง 0.4% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่รวมหมวดอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่า 3.6% ที่นักวิเคราะห์คาด และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐาน ลดลง 0.1% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้น 0.3%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบ โดยดัชนี STOXX 600 ร่วงลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 หลังจากความผันผวนเพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอย่างกะทันหัน ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามการค้า
ตลาดร่วงลง 0.1% หลังจากจีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 125% จาก 84% ส่งผลให้ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสองประเทศซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกทวีความรุนแรงมากขึ้น
ดัชนี STOXX 600 ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 1 ปีครึ่งเมื่อต้นสัปดาห์ แต่พุ่งขึ้นในวันพฤหัสบดีหลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศระงับการบังคับใช้ภาษี ในรอบสัปดาห์นี้ดัชนี STOXX 600 ลดลง 1.8% ปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน
การระงับขึ้นภาษีเป็นเวลา 90 วันทำให้จับตาว่าสหรัฐฯ จะบรรลุข้อตกลงการค้ากับประเทศต่างๆ หรือไม่ สหภาพยุโรปชะลอการขึ้นภาษีตอบโต้ และมารอส เซฟโควิช กรรมาธิการด้านการค้าจะหารือกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ในวันจันทร์
คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป(ECB)กล่าวว่า ตลาดการเงินของยูโรโซนยังคงทำงานได้ดีท่ามกลางความปั่นป่วนของโลก และ ECB ก็ให้ความสนใจต่อผลกระทบจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ
ตลาดจับตาการประชุมนโยบายของ ECB ในวันพฤหัสบดีหน้าซึ่งตลาดเงินมองว่าจะมีการลดดอกเบี้ยลง 0.25% แต่จับตาอย่างใกล้ชิดถึงมุมมองของผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับผลกระทบของภาษีศุลกากรต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ และตลาดเงินมองว่าจะมีการลดดอกเบี้ยลง 0.25%
ผลประกอบการไตรมาสแรกก็อยู่ในความสนใจเช่นกัน โดยนักลงทุนต่างจับตาว่าความไม่แน่นอนของภาษีศุลกากรจะส่งผลกระทบต่อรายได้และการคาดการณ์ของบริษัทอย่างไร
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ซึ่งอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 2.1% กลุ่มดัชนีสินค้าและบริการอุตสาหกรรมลดลงมากที่สุด โดยลดลง 1.3%
สำหรับหุ้นรายตัว หุ้น Stellantis ผู้ผลิตรถยนต์ร่วงลง 3.8% หลังจากการส่งมอบในไตรมาสแรกลดลง 9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
หุ้น BNP Paribas ร่วงลง 2.4% หลังจากมีรายงานว่า ECB คัดค้านการใช้เงินทุนในการซื้อธุรกิจการจัดการสินทรัพย์ของบริษัทประกันภัย AXA ของฝรั่งเศส
ดัชนี STOXX 600 ปิดที่ 486.80 จุด ลดลง 0.48 จุด, -0.10%
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,964.18 จุด เพิ่มขึ้น 50.93 จุด, +0.64%
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 7,104.80 จุด ลดลง 21.22 จุด, -0.30%,
ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 20,374.10 จุด ลดลง 188.63 จุด, -0.92%
ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 1.43 ดอลลาร์ หรือ 2.38% ปิดที่ 61.50ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 1.43 ดอลลาร์ หรือ 2.26% ปิดที่ 64.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
———————————————————————————————————————————————————–