โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
ในภาวะเศรษฐกิจไม่ดี การลงทุนก็ย่อมมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ผลิตภัณฑ์การเงินสำหรับหลบความเสี่ยงที่นิยมกันก็คงมี เงินฝาก กับ ประกันชีวิต เพราะทั้งเงินฝากและประกันชีวิตเป็นผลิตภัณฑ์การเงินที่มีความเสี่ยงต่ำ และยังได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐกรณีที่สถาบันการเงิน คือ ธนาคาร หรือ บริษัทประกันชีวิต ถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยจะได้รับการคุ้มครองคนละ 1 ล้านบาท ต่อ สถาบันการเงิน
ด้วยเหตุนี้ แม้จะเลือกฝากเงิน หรือ ซื้อประกัน หลายคนก็เลือกที่จะกระจายฝากเงินหลายธนาคารหรือ กระจายซื้อประกันชีวิตกับหลายบริษัทประกัน
แม้จะกระจายความเสี่ยงด้วยการฝากหลายธนาคาร หรือ ซื้อประกันหลายบริษัท ก็ระวังความเสี่ยงอีกอย่างนะครับ คือ ความเสี่ยงที่เราลืมไปว่า เราฝากเงินหรือซื้อประกันที่ไหนบ้าง สุดท้ายเวลาเราจากโลกนี้ไป ลูกหลานก็ไม่รู้ว่าเรามีสมบัติเก็บไว้ที่ไหน แล้วเงินที่เราลืมสุดท้ายจะเป็นอย่างไร วันนี้ขอกล่าวเฉพาะกรณีเงินเราที่อยู่กับบริษัทประกันชีวิตครับ
เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ คืออะไร เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ คือ เงินที่ผู้เอากรมธรรม์ หรือ ผู้รับผลประโยชน์ หรือ ทายาทของผู้รับผลประโยชน์มีสิทธิได้รับตามกรมธรรม์ แต่ไม่ได้มาขอรับเงินดังกล่าวจากบริษัทประกันชีวิตจนล่วงพ้นอายุความ แปลว่าที่อุตส่าห์เก็บออมเงินในประกันชีวิต เพื่อความมั่นคงของครอบครัว
สุดท้ายตัวเราเองหรือครอบครัวก็ไม่ได้ใช้ เพราะเราเองหรือทายาทของเราไม่ได้ไปแจ้งขอรับเงินผลประโยชน์จากบริษัทประกันชีวิตเอง
โดยข้อมูล ณ ธันวาคม 2563 มีจำนวนผู้เอาประกันที่มีสิทธิรับเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความกว่า 9 แสนรายมีเงินตามกรมธรรม์รวมกว่า 1.3 พันล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีชื่อ นายสุระ แสนคำ รวมอยู่ด้วย โดยได้ทำประกันชีวิตไว้เมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาแล้วเลิกส่งเบี้ยประกันไปก่อนครบกำหนด เนื่องจากเพื่อนซึ่งเป็นตัวแทนประกันไม่มาเก็บเงินค่าเบี้ยประกัน
เงินที่ผู้เอากรมธรรม์ หรือ ผู้รับผลประโยชน์ หรือ ทายาทของผู้รับผลประโยชน์มีสิทธิได้รับตามกรมธรรม์ มีดังนี้ จำนวนเงินเอาประกันกรณีเสียชีวิตหรือมีชีวิตอยู่จนครบสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิต เงินปันผล เงินคืนตามเงื่อนไขสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิต เงินเวนคืนตามสัญญากรมธรรม์ประกันชีวิต เงินค่าสินไหมทดแทนของสัญญาเพิ่มเติมที่แนบท้ายสัญญาประกันชีวิต หรือเป็นสิทธิเรียกร้องขอคืนค่าเบี้ยประกันภัยตามสัญญาประกันชีวิต
สาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ ก็มี
1. บริษัทประกันชีวิตไม่สามารถติดต่อผู้ทำประกันได้ เช่น ย้ายที่อยู่ แต่ไม่ได้แจ้งบริษัท เพราะประกันชีวิตเป็นการออมระยะยาว โดยเฉลี่ยประมาณ 10 ปี (เพราะหลายคนซื้อประกันชีวิต ก็เพื่อลดหย่อนภาษี) ทำให้ลืมไปว่าเคยทำประกันชีวิตไว้ เมื่อย้ายที่อยู่ จึงลืมที่จะแจ้งบริษัทประกัน ทำให้บริษัทประกันไม่สามารถติดต่อได้
2. ผู้ทำประกันเสียชีวิตและไม่ได้แจ้งให้ทายาททราบว่าได้ทำประกันชีวิตไว้
3. ผู้ทำประกันชีวิตไม่ส่งเบี้ยประกันปีต่ออายุทำให้ขาดความคุ้มครอง แต่ไม่ทราบว่ากรมธรรม์มีมูลค่าเงินสด
4. เช็คขาดอายุ
และเนื่องจากการประกันชีวิตไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความ ฟ้องร้องไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นการฟ้องร้องให้ผู้รับประกันภัยใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต หรือฟ้องเรียกให้ใช้หรือคืนเบี้ยประกันภัยตามสัญญาประกันชีวิต จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ดังนั้นในกรณีเงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุที่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือทายาทของผู้เอาประกันภัย มีสิทธิได้รับเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิต แต่มิได้เรียกร้องจากบริษัท จนล่วงพ้นอายุความ
10 ปีแล้ว บริษัทประกันชีวิตต้องนำเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ล่วงพ้นอายุความเข้ากองทุนประกันชีวิตภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ครบกำหนดอายุความ ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ หรือทายาทของผู้เอาประกันภัยยังคงมีสิทธิยื่นขอรับจำนวนเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ล่วงพ้นตามอายุความได้จากกองทุนประกันชีวิต หากผู้เอาประกันไม่มาขอรับเงินที่กองทุนนานเกิน 10 ปี เงินตามสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์จะตกเป็นเงินสมทบของกองทุนประกันชีวิตทันทีโดยที่ผู้เอาประกันไม่มีสิทธิ์มาเรียกร้องคืนได้อีก
สรุปก็คือ เรามีระยะเวลาที่จะขอเงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ 20 ปี โดย 10 ปีแรกขอจากบริษัทประกันชีวิต 10 ปีหลังขอจากกองทุนประกันชีวิต หลังจากนั้นแล้วจะไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินคืนได้อีก
วิธีที่จะไม่ให้เกิดปัญหานี้ที่ดีที่สุด คือ ทำทะเบียนเอาไว้เลยว่าเรามีประกันอะไรบ้างที่ไหน กรมธรรม์เก็บไว้ที่ไหน แล้วบอกคนในบ้านให้รู้ไว้ เพื่อว่าหากมีอะไรเกิดขึ้น จะได้สามารถนำผลประโยชน์จากประกันชีวิตมาใช้ได้ตามความต้องการของเราในวันที่ซื้อประกัน
ปัจจุบันสะดวกขึ้นอีก เพราะสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยจัดทำแพลตฟอร์มกลางเชื่อมผ่านข้อมูลของบริษัทประกันภัยกับสำนักงาน คปภ. เพื่อเปิดให้ประชาชนสามารถเข้ามาตรวจสอบกรมธรรม์ของตนเองอย่างสะดวกและรวดเร็ว ผ่านช่องทางบริการ ”กรมธรรม์ของฉัน” หรือ My Policy
สำหรับบริการ ”กรมธรรม์ของฉัน” หรือ My Policy มีขั้นตอนการลงทะเบียนใช้งานง่ายๆ โดย
1. ค้นหาและ Add Line Official Account (@OICConnect)
2. ลงทะเบียนทำการยืนยันตัวตนด้วยภาพถ่ายบัตรประชาชน และภาพถ่ายตนเองคู่กับบัตรประชาชน
3. ใส่หมายเลขโทรศัพท์ เพื่อขอรับรหัส OTP
เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วก็สามารถกดเลือกใช้บริการ “กรมธรรม์ของฉัน” หรือ My Policy ได้ทันที โดยระบบจะทำการเชื่อมต่อฐานข้อมูลกรมธรรม์ที่ท่านถือครอง ทั้งกรมธรรม์ประกันชีวิตและกรมธรรม์ประกันวินาศภัยที่ยังมีความคุ้มครอง รวมถึงกรมธรรม์ที่หมดอายุไม่เกิน 1 ปี ซึ่งในหน้าแรก “กรมธรรม์ของฉัน” นั้น จะระบุข้อมูลเกี่ยวกับ ชื่อแบบประกันภัย, ประเภทประกันภัย, เลขกรมธรรม์, วันที่เริ่มสัญญา, และวันครบกำหนดสัญญา
ทั้งนี้ หากต้องการดูข้อมูลเพิ่มเติม ยังสามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดกรมธรรม์เพื่อตรวจสอบสิทธิ และสถานะกรมธรรม์, จำนวนเบี้ยประกันภัยที่ต้องชำระต่อปี, ความคุ้มครองอื่นๆ ตลอดจนผลประโยชน์ของกรมธรรม์
และหากจะตรวจสอบสิทธิรับเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความสามารถ ทำได้ง่าย ๆ ผ่านเว็บไซต์ของกองทุนประกันชีวิต www.lifeif.or.th และกรอกข้อมูลเพียงแค่ 3 ข้อเท่านั้น 1. เลขประจำตัวประชาชน 2. ชื่อผู้เอาประกันชีวิต 3. นามสกุลผู้เอาประกันชีวิต
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : โกงภาษี ผิดกฎหมายฟอกเงิน
ความจริงความคิด : เรื่องที่ลูกจ้างต้องรู้เมื่อออกจากงาน
ความจริงความคิด : ขายฝาก vs จำนอง
ความจริงความคิด : ผู้รับประโยชน์กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ “แตงโม”ความจริงความคิด : เศรษฐกิจดีขึ้น แต่เราก็อย่าประมาท