ความจริงความคิด : ผู้รับประโยชน์กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ “แตงโม”

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีข่าวใดได้รับความสนใจมากเท่าข่าว คุณแตงโมเสียชีวิตจากการจมน้ำ ซึ่งก็ทำให้หลายคนเศร้าเสียใจไปกับคุณแตงโมและครอบครัวด้วย ส่วนการเสียชีวิตจะมีพิรุธอย่างไร หรือ มีหลักฐานพิสูจน์กันอย่างไร ก็คงปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ กรณีที่คุณแตงโมทำประกันอุบัติเหตุไว้ 1 ล้านบาท โดยมีลูกสาวของ “กระติก” ผู้จัดการส่วนตัว มีชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์ และต่อมาคุณพนิดา ศิริยุทธโยธิน แม่ของ “แตงโม” เปิดเผยว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่า ใครจะเป็นคนรับผลประโยชน์ และกำลังให้ทนายความตรวจสอบ ลูกสาวกระติกเพิ่งอายุ 6 ขวบ แตงโมยังไม่ได้แจ้งรับเป็นลูกบุญธรรม จึงยังไม่มีเอกสารใดๆ ที่แสดงว่าแตงโม รับลูกกระติกเป็นลูกบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นผลประโยชน์หลังเสียชีวิต จึงควรต้องตกเป็นของทายาท หรือบุคคลในครอบครัว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้มีข้อสงสัยบางประเด็น คือ

ผู้รับประโยชน์ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยไม่จำเป็นต้องมีส่วนได้เสียกับผู้เอาประกัน

คำว่า “ส่วนได้เสีย” คือ ส่วนได้เสียในเหตุประกันภัย “Insurable Interest” หมายถึงการที่บุคคลใดจะต้อง สูญเสียหรือได้รับความเสียหายถ้ามีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้น หรือจะได้รับประโยชน์ในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์อันใด อันหนึ่งเกิดขึ้น

มาตรา 863 บัญญัติว่า “อัน สัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่ อย่างหนึ่งอย่างใด” แต่กฎหมายมิได้มีบทบัญญัติว่า ผู้รับประโยชน์จะต้องมีส่วนได้เสียกับชีวิตของผู้เอาประกันภัย ดังนั้นผู้เอาประกันจะระบุใครเป็นผู้รับประโยชน์ก็ได้ แต่อาจมีคนนึกแย้งว่า อ้าว ถ้าผู้รับประโยชน์ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องหรือไม่มีส่วนได้เสียกับผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ก็อาจฆ่าผู้เอาประกันเพื่อหวังที่จะได้รับเงินประกันชีวิตได้นะสิ ถูกต้องครับ ดังนั้นเพื่อป้องกันเหตุดังกล่าว กฎหมายจึงได้บัญญัติไว้ว่า “ถ้าผู้เอาประกันภัยถูกผู้รับ ประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาแล้ว ผู้รับประกันภัยก็ไม่ต้องจ่ายเงินตามจำนวนที่ระบุไว้แก่ผู้รับประโยชน์ แต่ต้องจ่ายค่า ไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ทายาทของผู้เอาประกันภัยทั้งนี้เป็นไปตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 895 กำหนดไว้”

แปลง่ายๆ คือ ถึงบริษัทประกันจะไม่ต้องจ่ายเงินหรือประโยชน์ให้ผู้รับประโยชน์ที่เป็นคนฆ่า แต่ต้องจ่ายเงินหรือใช้เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ (หักด้วยหนี้สินกรมธรรม์ ถ้ามี) ให้แก่ทายาทของผู้เอาประกัน แต่ถ้ากรมธรรม์ยังไม่มีมูลค่าเวนคืน บริษัทประกันจะต้องคืนเบี้ยประกันที่จ่ายมาแล้วให้แก่ทายาทของผู้เอาประกันทั้งหมดให้ ยกเว้นแต่มีผู้รับประโยชน์หลายคน บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินประโยชน์ (ทุนประกัน) ให้เฉพาะผู้รับประโยชน์ที่ไม่มีส่วนรู้เห็นในการฆาตกรรมตามสัดส่วนที่ผู้เอาประกันระบุให้ผู้รับประโยชน์แต่ละรายตามปกติ แต่จะไม่ให้เงินประโยชน์ในส่วนของผู้รับประโยชน์ที่เป็นคนฆ่า

จะขอเปลี่ยนตัว “ผู้รับประโยชน์” หลัง “ผู้เอาประกัน” เสียชีวิต ได้หรือไม่

จากข่าว คุณแม่แตงโมปรึกษาทนายเตรียมร้องถอนสิทธิ์ “ลูกกระติก” รับผลประโยชน์จากประกันภัยที่แตงโมทำเอาไว้ สามารถทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ก็คงต้องรอดูความคืบหน้าของรายละเอียดต่างๆนะ แต่อดีตเคยมีกรณีตัวอย่างอันหนึ่งที่ “ผู้เอาประกัน” ได้ทำพินัยกรรมเปลี่ยนตัว “ผู้รับประโยชน์” โดยไม่ได้ไปเปลี่ยน “ผู้รับประโยชน์” กับบริษัทประกัน ผลสุดท้ายเป็นอย่างไร ลองอ่านดูนะ

กรณีตัวอย่างของนายทวี คิดงาม ได้ทำประกันชีวิตไว้ด้วยทุนประกันภัย 1 ล้านบาท และได้ยกผลประโยชน์ให้กับนายทรัพย์ และนางมี คิดงาม ผู้เป็นบิดา มารดา ต่อมานายทวีได้สมรสกับนางสา และมีบุตรด้วยกัน 1 คน เวลาผ่านไปนายทวีได้ป่วยเป็นโรคไต ก่อนที่เสียชีวิตนายทวีได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมด รวมทั้งเงินเอาประกันภัยจำนวน 1 ล้านบาท ตามกรมธรรม์ที่ระบุให้บิดา มารดาของเขาเป็นผู้รับประโยชน์นั้นให้ยกเลิก และขอให้ตกเป็นของบุตร และเมื่อนายทวีเสียชีวิต นางสา ผู้เป็นภรรยาได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดก นางสาจึงไปขอรับเงินสินไหมมรณกรรมจากบริษัทประกันชีวิต ซึ่งบริษัทประกันชีวิตได้จ่ายเงินสินไหมมรณกรรมก้อนนั้นให้กับบิดา มารดา ของนายทวีไปเรียบร้อยแล้ว

ต่อกรณีดังกล่าวได้มีการฟ้องร้องต่อศาล ซึ่งบทสรุปในเรื่องนี้นั้น ศาลได้วิเคราะห์และตัดสินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1646 ที่ได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้” ซึ่งในกฏหมายใช้คำว่าทรัพย์สินของตนเอง

ดังนั้นการทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้คนอื่นเมื่อตนถึงแก่ความตาย ทรัพย์นั้นจะต้องเป็นของตนเองไม่ว่าจะอยู่ก่อน ขณะ หรือภายหลังจากทำพินัยกรรมแล้วก็ได้ แต่การทำประกันชีวิตนั้น ผู้เอาประกันภัยได้แสดงเจตนารมย์ยกให้ผู้อื่นตั้งแต่ต้นย่อมไม่ใช่ทรัพย์ของตน เพราะการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตมีเงื่อนไขการใช้เงินโดยอาศัยการตาย จำนวนเงินเอาประกันภัยที่บริษัทจะจ่ายให้กับผู้รับประโยชน์ที่มีชื่อระบุไว้ในกรมธรรม์ ย่อมตกเป็นของผู้รับประโยชน์ทันทีที่ผู้เอาประกันภัยถึงแก่ความตาย

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าเงินเอาประกันภัยไม่ใช่กองมรดก จึงไม่สามารถจะฟ้องร้องเอาได้

ต่อกรณีดังกล่าวหลายท่านอาจมีคำถามว่า “ทำประกันชีวิตแล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ได้เลยหรือ” แน่นอนว่าการเปลี่ยนเจตนารมย์ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามย่อมทำได้ และเป็นสิทธิโดยชอบของนายทวี หากแต่ต้องทำให้เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น หากนายทวีต้องการยกประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับภรรยาและบุตรสามารถแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์กับบริษัทประกันชีวิตได้ และนายทวีต้องส่งมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับภรรยา ตัวนางสาซึ่งเป็นภรรยาก็ต้องทำหนังสือแสดงความจำนงไปยังบริษัทว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันชีวิต โดยบริษัทจะลงบันทึกสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์จากบิดา มารดา เป็นบุคคลที่นายทวีต้องการ

ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นสาระสำคัญคือ เมื่อมีการส่งมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับผู้รับประโยชน์และผู้รับประโยชน์นั้นได้แสดงความจำนงรับผลประโยชน์จากสัญญาประกันภัยไปแล้วจะไม่สามารถดำเนินการเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ได้อีก

และหากจะพิจารณาสำหรับข้อดีของการประกันชีวิตที่ไม่ใช่มรดกนั้น ข้อแรกก็คือ สามารถระบุผู้รับประโยชน์ได้ตามเจตนารมย์ของผู้เอาประกันภัย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะต้องดำเนินการตามลายลักษณ์อักษรผ่านบริษัทประกันภัยเท่านั้น

อีกทั้งการรับผลประโยชน์ไม่ต้องเสียเวลาตามกระบวนตามกฎหมายในการจัดตั้งผู้จัดการมรดก และที่สำคัญประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตไม่ต้องเสียภาษี เท่ากับคุณได้รับเต็มๆ ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้นั่นเอง

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : เศรษฐกิจดีขึ้น แต่เราก็อย่าประมาท
ความจริงความคิด : ความชัดเจน คือ พลัง
ความจริงความคิด : ความเคยชิน ทำให้ไม่เห็นปัญหา
ความจริงความคิด : ซื้อประกันอย่างไร จ่ายเบี้ยประกันคุ้ม
ความจริงความคิด : องค์ประกอบในการกำหนดราคาเบี้ยประกัน
ความจริงความคิด : ภาษี crypto
ความจริงความคิด : สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม ตอน 1
ความจริงความคิด : เผย 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์แห่งปี 64 รู้ไว้! จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์ 1
ความจริงความคิด : วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุน