เผย 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์แห่งปี 64 รู้ไว้! จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์ 1

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ดีใจมากๆกับการเปิดประเทศ และโควิดไม่ได้ลุกลามอย่างที่กังวล แต่ก็ขอให้พวกเราอย่าการ์ดตกเด็ดขาด ประเทศไทยกำลังก้าวไปในทางที่ถูกอยู่แล้ว แต่ยังมีปัญหาอีกมากที่เราต้องก้าวข้ามให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้น มาแบบไม่รู้ตัวมากขึ้น และรุนแรงมากขึ้น

ปัญหาเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ ปัญหาสังคมคนสูงอายุที่เป็นปัญหาใหญ่และทวีความน่ากังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่ในด้านการผลิตและพัฒนาไทยยังก้าวช้ากว่าโลกมาก แต่ด้านการเอามาใช้ในฐานะ user ไทยเราติดอันดับต้นๆเลย

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Future Shopper รายงานการวิจัยตลาดในหมวดธุรกิจพาณิชย์ทั่วโลก โดย วันเดอร์แมน ธอมสัน ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นผู้ตอบแบบสอบถาม 28,000 คนใน 17 ประเทศทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทย การสำรวจ Future Shopper 2021 ได้ศึกษาผู้บริโภคชาวไทยทั่วประเทศ โดยใช้กลุ่มตัวอย่าง 1,025 คน ครอบคลุมทั้ง Gen X, Gen Y และ Gen Z แบ่งเป็นเพศชาย 46% และเพศหญิง 54% โดย 58.8% อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และที่เหลือ 41.2% อาศัยอยู่ในจังหวัดหัวเมืองทั่วประเทศ พบว่า

COVID-19 ได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปอย่างถาวร กลายเป็นฐานของผู้ซื้อที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและพร้อมใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น การศึกษาครั้งนี้พบว่าชาวไทยมีอัตราการใช้ช่องทางช้อปปิ้งออนไลน์สูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของ COVID-19 ผู้บริโภคถึง 94% ระบุว่าการช้อปปิ้งออนไลน์เป็นช่องทางที่มาช่วยพวกเขาไว้ในปี 2563 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 72%

นอกจากนี้ 90% ตอบว่าจะใช้ช่องทางดิจิทัลต่อไปในปีหน้า เทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 62% พวกเขามั่นใจว่าพฤติกรรมช้อปปิ้งออนไลน์ของตนเองได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วตลอดกาล เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นเร็วยิ่งขึ้น (88%) และความกลัวที่จะไปเดินจับจ่ายภายในร้านค้า (62%)

นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวไทยยังใช้เงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นกว่าในอดีต โดยใช้เพื่อซื้อทั้งสินค้าและบริการ และมีถึง 45% ที่ยินดีจ่ายเงินตั้งแต่ 1,000 – 8,000 บาทในการช้อปปิ้งออนไลน์ แม้ว่าโดยรวมการใช้จ่ายในช่องทางออฟไลน์จะยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า แต่การช้อปปิ้งออนไลน์มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นและอยู่ในระดับสูงต่อไปในอนาคต

โดยผู้บริโภคชาวไทย 62% พบว่าตนเองใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นในช่วง COVID-19 และ 92% ระบุว่าจะยังคงซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ต่อไปเช่นเดิมหลังการระบาดสิ้นสุดลง

เมื่อการทำธุรกรรมออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น กลโกงทางออนไลน์ก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ จากการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ (1212 Online Complaint Center หรือ 1212 OCC) ภายใต้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency (ETDA) (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า

ในปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม– เดือนสิงหาคม 2564 มีผู้ร้องเรียนเฉพาะเรื่องซื้อขายออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ย 2,221 ครั้งต่อเดือน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่เฉลี่ย 1,718 ครั้งต่อเดือน และยังนับเป็นสถิติเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการศูนย์ฯ มาตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนไทยหันมาจับจ่ายผ่านออนไลน์สูงขึ้น ขณะเดียวกันร้านค้าต่าง ๆ ก็หันมาเปิดขายบนออนไลน์เช่นกัน

ดังนั้นเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในยุคตลาดดิจิทัลนี้ ขอขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ที่ออกมาชี้ให้เห็น 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์ เพื่อเตือนทุกคนว่าชอปไหน ๆ จะไม่โดนหลอกลวงแบบนี้

กลโกง 1 – “หลอกโอนเงิน” ชวดหนี ไม่มีสินค้าส่งจริง
จากกระแสข่าวแก๊งแม่ค้าวัยทีน #phonebymint หลอกขายมือถือทางออนไลน์ โพสต์ภาพมือถือสวย ๆ ขายบนอินสตาแกรม โดยตั้งราคาถูก พร้อมสร้างข้อมูลรีวิวจากผู้ใช้งานเสมือนจริงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เด็กนักเรียนวัย 14 ปี หลงกลโอนเงินสั่งซื้อสินค้า เพราะหวังใช้มือถือเรียนออนไลน์ สุดท้ายเด็กพบว่าโดนหลอกเพราะแม่ค้าไม่ส่งสินค้าตามที่แจ้ง พร้อมกับติดต่อไม่ได้ ส่งผลให้เด็กเครียดเส้นเลือดสมองแตกเสียชีวิต ก่อนจะพบว่ามีผู้เสียหายจากแม่ค้าดังกล่าวปรากฏเพิ่มขึ้นนับร้อย ๆ ราย

ซึ่งจากสถิติร้องเรียนมายังศูนย์ฯ 1212 เอง ปัญหาการสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าก็มาเป็นอันดับ 1 ถึง 45% ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อ แนะนำให้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องการตั้งราคาที่ถูกเกินจริง เช็กข้อมูลชื่อผู้ขาย เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคารของผู้ขายจากเว็บไซต์ https://www.blacklistseller.com/ ว่าอยู่ในบัญชีดำคนโกงหรือไม่ เว็บนี้ผมเองก็ใช้ประจำ ระบบข้อมูลดีมาก เราสามารถเช็คได้ว่าคนขายมีประวัติมิจฉาชีพหรือไม่ โดยค้นหาได้จากชื่อจริง ชื่อบน online เลขบัญชี ฯลฯ แต่ระบบนี้จะดีขึ้นเรื่อยๆ และป้องกันพวกเราไม่ให้โดนโกงได้มากขึ้น พวกเราต้องร่วมมือกันช่วยกันรายงานรายชื่อ และพฤติกรรมคนโกง หากพวกเราปล่อยปละละเลย พวกคนโกงก็จะมีมากขึ้น เพราะทำผิดไม่ได้รับโทษ อีกวิธี คือ ลองนำชื่อร้านไปค้นหาบนแพลตฟอร์ม e-Commerce เช่น ช้อปปี้ (Shopee) ลาซาด้า (Lazada) ฯลฯ

กลโกง 2– อ้าวเฮ้ย! “สินค้าไม่ตรงปก” จกตาเกินโฆษณา
อ้าวเฮ้ย! ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา จริงอยู่ว่า ขาชอปปิงหลายคนอาจเคยเกิดอาการเบลอ อ่านรายละเอียดก่อนสั่งซื้อสินค้าไม่ครบถ้วน เช่น ตั้งใจซื้อหม้อหุงข้าวหม้อใหญ่มาปรุงอาหารที่บ้านหรือคอนโด ก็กลับได้หม้อหุงข้าวไซส์จิ๋ว ฉบับของเล่นมาแทน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่อ่านรายละเอียดทั้งรูปภาพและข้อความดีแล้ว กลับพบเรื่องชวนปวดหัว เพราะสินค้าที่ส่งมาไม่ตรงปก ผิดสี ผิดขนาด ไม่ได้อย่างที่ตกลงกัน รวมถึงติดต่อร้านเพื่อแจ้งเปลี่ยนก็ทำไม่ได้ ซึ่งปัญหานี้ศูนย์ฯ 1212 พบการร้องเรียนถึง 29% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับสินค้า แนะนำให้ถ่ายรูปและถ่ายวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับร้องเรียนได้ เรื่องสินค้าไม่ตรงปก หากไม่ได้ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม e-commerce ที่ได้มาตรฐาน อาจจะลำบากในการแก้ไขปัญหา อย่างที่ผมเคยเจอก็คือ ซื้อเสื่อโยคะผ่านแพลตฟอร์ม e-commerce ได้ของไม่ตรงปก ผมก็สามารถไม่รับสินค้า ส่งคืน พร้อมรับเงินคืนได้

กลโกง 3– “จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม” เอาปากกามาวงได้ทุกตรง
จากการเป็นผู้พิทักษ์การใช้สินค้าถูกลิขสิทธิ์ ชอบอุดหนุนสินค้าแบรนด์เนมแท้อยู่ดี ๆ ก็อาจพลาดท่าเสียทีให้กับแม่ค้าหัวใสบนโลกออนไลน์ได้ โดยมักจะโพสต์รูปสินค้าแบรนด์เนมแท้ขายบนช่องทางออนไลน์ หลอกให้ลูกค้าหลงกล มั่นใจว่า ฉันซื้อของแท้จริงๆ แต่สุดท้ายกลับได้สินค้าผิดกฎหมาย หรือสินค้าปลอมมาส่งที่บ้าน ดังนั้นแนะนำให้พิจารณาข้อมูลร้านค้าอย่างถี่ถ้วน ตรวจสอบรหัสสินค้า ใบรับประกันสินค้า ตรวจสอบบัญชีธนาคารก่อนโอน หรือติดต่อซื้อขายที่ร้านค้าทางการ (Official) ดีกว่า

ยังขาดอีกตั้ง 7 กลโกง ขอยกยอดไปคุยครั้งหน้านะ

……………………………………………………..
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : สิทธิรักษาพยาบาลบัตรทอง กับ ประกันสังคม
ความจริงความคิด : อย่ากินเหยื่อที่เขาล่อ Phishing กลโกงออนไลน์ ตอนที่ 2
ความจริงความคิด : อย่ากินเหยื่อที่เขาล่อ Phishing กลโกงออนไลน์ ตอนที่ 1
ความจริงความคิด : วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุน
ความจริงความคิด : กลโกงทางการเงิน 1
ความจริงความคิด : ธนาคารมีคุ้มครองเงินฝาก ประกันชีวิตก็มีเหมือนกัน
ความจริงความคิด : เมื่อนายจ้างไม่ส่งเงินสมทบประกันสังคม ลูกจ้างเสียอะไร
ความจริงความคิด : ซื้อของออนไลน์ป้องกันโกง ทำยังไง?
ความจริงความคิด : เรื่องต้องรู้ ลดหนี้ด้วยวิธีรีไฟแนนซ์
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ