โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
ตราบใดที่โควิดไม่หยุด เราก็อาจจะต้องถูกหยุด อันนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะ แต่เป็นเรื่องที่เป็นห่วงมาตลอด นอกเหนือจากคนใกล้ตัวที่ติดโควิด หลายคนเสียชีวิต ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่ารอบๆตัวเรามีละอองโควิดกระจายเต็มไปหมด ตอนนี้ได้ตื่นขึ้นมายังหายใจได้เต็มปอด มีครอบครัวอยู่พร้อมหน้า ก็ถือว่าโชคดีแล้ว และถ้ายังมีงานทำ มีรายได้อยู่ก็ถือว่าโชคดียิ่งกว่าถูกล็อตเตอรีแล้ว เพราะตอนนี้รอบตัวนอกจากโควิด ก็คือ เพื่อนๆคนรู้จัก ไม่ถูกลดเงินเดือน ก็ถูกเลิกจ้าง
แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ก่อนถูกเลิกจ้าง มีเพื่อนผมหลายคนทำงานโดยนายจ้างไม่ได้จ่ายค่าจ้างเลย แถมบางคนนายจ้างก็ไม่ยอมส่งเงินสมทบประกันสังคมให้ด้วย ก็เลยสงสัยว่าแล้วอย่างนี้ ช่วงที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ยังถือว่าจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมป่าว กลัวว่าหากต้องออกจากงานไม่ว่าจะเพราะลาออกเอง หรือ ถูกเลิกจ้าง จะไม่ได้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน เพราะประกันสังคมกำหนดไว้ว่า จะมีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคมก็ต่อเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน
สิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคมกรณีว่างงาน
กรณีถูกเลิกจ้างหรือนายจ้างเลิกกิจการ
ลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกจ้างมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท
กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา
ลูกจ้างจะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกจ้างมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ใครที่ทำงานฟรีไม่ได้รับเงินเดือน หรือนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้ สบายใจได้นะ เพราะเรื่องนี้เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐาน ดังนี้ครับ
คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๓๕๑/๒๕๖๑ (คดีฟ้องสำนักงานประกันสังคม) เรื่อง กรณีที่นายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง ต้องถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้ว เมื่อนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างจำนวน ๘ เดือน ลูกจ้างส่งเงินสมทบ ๑๗๕ เดือน รวมแล้วลูกจ้างจึงส่งเงินสมทบทั้งสิ้น ๑๘๓ เดือน ต้องรับบำนาญชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๗ ทวิ วรรคหนึ่ง
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างบริษัท ร. จ ากัด ต่อมาโจทก์สิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตน ในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๗ รวมระยะเวลาที่โจทก์จ่ายเงินสมทบ ๑๗๕ เดือน โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมมีคำสั่งให้โจทก์ได้รับเงินบำนาญชราภาพ โจทก์ไม่เห็นด้วยเพราะโจทก์ส่งเงินสมทบเพียง ๑๗๕ เดือน โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์ วินิจฉัยยกอุทธรณ์ โจทก์จึงฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณี ชราภาพแก่โจทก์เป็นเงินบำเหน็จชราภาพ ศาลแรงงานภาค ๒ พิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๔๗
• วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้นายจ้างหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามมาตรา ๔๖ และให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่ วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง”
• วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้นายจ้างนำเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่ได้หักไว้ ตามวรรคหนึ่ง และเงินสมทบในส่วนของนายจ้างส่งให้แก่สำนักงานภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดไปจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้…”
• วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามกำหนดเวลาที่ต้องจ่าย ให้นายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง โดยถือเสมือนว่ามีการจ่ายค่าจ้างแล้ว”
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้นายจ้างหักค่าจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของ ผู้ประกันตน จึงต้องแปลความหมายของบทบัญญัติทั้งสามวรรคไปในทำนองเดียวกัน
• วรรคหนึ่ง เป็นกรณี นายจ้างจ่ายค่าจ้าง บทบัญญัติดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้ว โดยไม่คำนึงว่านายจ้างได้หักค่าจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนจริงหรือไม่
• วรรคสาม เป็นกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง บทบัญญัติดังกล่าวให้ถือเสมือนว่านายจ้างได้จ่ายค่าจ้างแล้ว แม้ไม่ได้บัญญัติให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วก็ตาม แต่เมื่อนายจ้างมีหน้าที่หักค่าจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน โดยไม่คำนึงว่านายจ้างได้หักค่าจ้างนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนจริงหรือไม่ และการแปลความซึ่งต้องให้สอดคล้องกับ บทบัญญัติวรรคหนึ่ง จึงถือได้ว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้ว
โดยนายจ้างต้องรับผิดชำระหนี้เงินสมทบ ดังกล่าวต่อจำเลยตามมาตรา ๔๗ ทวิ และมาตรา ๕๐ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๒ – ๑๐ เมษายน ๒๕๕๓ จำนวน ๘ เดือน โจทก์จึงส่งเงินสมทบรวมทั้งสิ้น ๑๘๓ เดือน ต้องรับบำนาญชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๗ ทวิ วรรคหนึ่ง พิพากษายืน —————————————————–
สรุป ก็คือ เมื่อเราทำงานไม่ว่านายจ้างจะจ่ายค่าจ้างเราหรือไม่ หรือนายจ้างจ่ายค่าจ้างแต่ไม่ได้ส่งเงินสมทบประกันสังคม ตามกฎหมายก็ถือว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้เราตามระยะเวลาที่เราทำงาน ดังนั้น หากเราทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน เราก็มีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคม ส่วนเรื่องที่นายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคมเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับกองทุนประกันสังคมครับ โดยกรณีนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคม มีความผิดดังนี้
• นายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้กับลูกจ้าง นายจ้างจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
• นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมล่าช้า เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป นับจากเดือนที่จ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง จะต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน นับจากวันที่ครบกำหนด ยกตัวอย่างเช่น ค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม นายจ้างจะต้องหักเงินสมทบและนำส่งประกันสังคมภายในวันที่ 15 เมษายน แต่นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมในวันที่ 30 เมษายน ดังนั้นนายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 เป็นเวลา 15 วัน (ครึ่งเดือน)
• นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมไม่ครบถ้วน จะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่จ่ายขาด
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : ผ่อน 0% ใครได้ ใครเสีย
ความจริงความคิด : ซื้อของออนไลน์ป้องกันโกง ทำยังไง?
ความจริงความคิด : ม. 40 กับ มาตรการเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์
ความจริงความคิด : เรื่องต้องรู้ ลดหนี้ด้วยวิธีรีไฟแนนซ์
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ
ความจริงความคิด : กองทุนไหนดี เลือกอย่างไร
ความจริงความคิด : การบริหารความเสี่ยงในการลงทุน