ความจริงความคิด : ม. 40 กับ มาตรการเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในครั้งนี้

1. มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สำหรับลูกจ้างและกิจการใน 10 จังหวัดสีแดงเข้ม

1.1 ขอบเขตของกิจการที่ได้รับการเยียวยา

• กลุ่มที่ 1: 9 หมวดกิจการ (เพิ่มเติมจากเดิม 4 หมวด) ประกอบด้วย 1) ก่อสร้าง 2) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3) ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ 4) กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ 5) ขายส่งขายปลีกและซ่อมยานยนต์ 6) ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุนกิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 9) ข้อมูลข่าวสารและสื่อสาร

• กลุ่มที่ 2: 5 กิจการของถุงเงิน (เพิ่มเติมจากเฉพาะร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ประกอบด้วย 1) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 2) ร้าน OTOP 3) ร้านค้าทั่วไป 4) ร้านค้าบริการ 5) กิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่)

1.2 ระยะเวลาในการให้ความช่วยเหลือ: 1 เดือน (อาจมีการขยายต่อตามสถานการณ์)

1.3 รายละเอียดของการเยียวยา แบ่งตามกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ

1. ลูกจ้าง ม. 33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายเงินเยียวยาให้ 50% ของรายได้ (สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท) และจ่ายสมทบให้ลูกจ้างสัญชาติไทยอีก 2,500 บาทต่อคน รวมแล้วได้สูงสุด 10,000 บาท

2. นายจ้าง ม. 33 ในกิจการ 9 หมวด รัฐจะจ่ายให้ตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาทต่อราย สูงสุดไม่เกิน 200 คน

3. สำหรับผู้ประกันตนตาม ม. 39 และ 40 รัฐบาลจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้ 5,000 บาทต่อคน

4. ผู้ประกอบอาชีพอิสระ (freelance) ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม. 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)

5. ผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างแต่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2

6. ผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม. 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)

7. ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่ “มีลูกจ้าง” ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม.33 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับเงินช่วยเหลือตามข้อ 1 และ 2

8. ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” 5 หมวด ภายใต้โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ที่ “ไม่มีลูกจ้าง” ให้ขึ้นทะเบียนตาม ม. 40 ภายในเดือน ก.ค. นี้ เพื่อรับค่าช่วยเหลือ 5,000 บาท (ตามข้อ 3)

รวมทั้งสิ้นภายใต้กรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท

ผู้ที่จะสมัครประกันสังคม มาตรา 40 ได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. มีสัญชาติไทย
2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2563)
3. ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามประกันสังคม มาตรา 33 หรือ ผู้ประกันตนในมาตรา 39 (คนที่รับบำนาญชราภาพสามารถสมัคร ม. 40 ได้)
4. ไม่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการต่าง ๆ หรือไม่เป็นสมาชิกกองทุนของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีลักษณะเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญของส่วนราชการ
5. บุคคลพิการที่สามารถรับรู้สิทธิประกันสังคม

ประกันสังคม มาตรา 40 การจ่ายเงินสมทบและสิทธิประโยชน์

ทางเลือกที่ 1 : ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นจ่ายสมทบ 100 บาท ซึ่งรับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ และเงินค่าทำศพกรณีเสียชีวิต

ทางเลือกที่ 2 : ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ และเงินบำเหน็จชราภาพ

ทางเลือกที่ 3 : เป็นตัวเลือกที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แรงงานนอกระบบ ใกล้เคียงกับแรงงานในระบบมากขึ้น โดยให้ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ และเงินสงเคราะห์บุตร

เมื่อเลือกทางเลือกใดไปแล้ว เกิดอยากเปลี่ยน เราสามารถยื่นขอเปลี่ยนทางเลือกจ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคม ปีละ 1 ครั้ง โดยเมื่อยื่นขอเปลี่ยนแปลงทางเลือกแล้วจะมีผลในเดือนถัดไป
สิทธิประโยชน์ทางภาษี

เงินสมทบในแต่ละปีสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยใช้ใบเสร็จรับเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเป็นหลักฐาน หรือขอหนังสือรับรองการชำระเงินสมทบได้จากสำนักงานประกันสังคม เงินที่ได้รับจากประกันสังคมยกเว้นภาษี

สมัครประกันสังคม มาตรา 40 อย่างไร ?

1. สมัครผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม
– คลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sso.go.th ของสำนักงานประกันสังคม
– เลื่อนลงมาด้านล่าง เลือกลงทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แล้วกรอกข้อมูลตามขั้นตอน
– รอรับ SMS ยืนยันการสมัคร
2. สมัครผ่านแอปพลิเคชัน SSO Connect
– ดาวน์โหลดแอปฯ SSO Connect
– เลือกลงทะเบียนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แล้วกรอกข้อมูลตามขั้นตอน
– รอรับ SMS ยืนยันการสมัคร
3. สมัครที่สำนักงานประกันสังคม คือ
หลักฐานการสมัคร
– บัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง หรือบัตรอื่นที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชน
– แบบคำขอสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 (แบบ สปส.1-40)
4. สมัครผ่านหน่วยบริการรับสมัครผู้ประกันตนตามมาตรา 40
เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เคาน์เตอร์ห้างบิ๊กซี เคาน์เตอร์ ธ.ก.ส.

วิธีจ่ายเงินสมทบประกันสังคม มาตรา 40

– จ่ายเงินสมทบเป็นรายเดือนวันที่เท่าไรของเดือนก็ได้
– สามารถจ่ายเงินสมทบงวดปัจจุบัน และล่วงหน้าได้ 12 งวดเดือน
– หากเดือนใดไม่ได้จ่ายเงินสมทบจะไม่สามารถจ่ายย้อนหลังได้ แต่จะยังคงเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40
– จ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม รวมถึงเคาน์เตอร์เซอร์วิส เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เคาน์เตอร์ ธ.ก.ส. ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ห้างเทสโก้ โลตัส บิ๊กซี ตู้บุญเติม และจ่ายเป็นธนาณัติผ่านทางไปรษณีย์ หรือหักผ่านบัญชีธนาคาร

ข่าวดีช่วงโควิด

ประกันสังคมปรับลดอัตราเงินสมทบ ในปี 2564 เหลือ 60% เป็นเวลา 6 เดือน ( ในงวดเดือนสิงหาคม 2564 – มกราคม 2565) ดังนั้นจะต้องจ่ายเงินสมทบดังนี้

>> ทางเลือกที่ 1 จ่าย 42 บาทต่อเดือน จากเดิมจ่าย 70 บาท
>> ทางเลือกที่ 2 จ่าย 60 บาทต่อเดือน จากเดิมจ่าย 100 บาท
>> ทางเลือกที่ 3 จ่าย 180 บาทต่อเดือน จากเดิมจ่าย 300 บาท

สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม มาตรา 40 สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม หรือโทร. 1506

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : เรื่องต้องรู้ ลดหนี้ด้วยวิธีรีไฟแนนซ์
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ
ความจริงความคิด : กองทุนไหนดี เลือกอย่างไร
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : ยิ่งเกิด covid ยิ่งกังวลเรื่องเงิน
ความจริงความคิด : การบริหารความเสี่ยงในการลงทุน