ความจริงความคิด : ผ่อน 0% ใครได้ ใครเสีย


โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เมื่อได้ยินคำว่า “ผ่อน” แปลว่าภาระหนี้เกิดขึ้นแล้ว อย่างเช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนมือถือ ฯลฯ การผ่อนพูดง่ายๆ ก็คือการที่เจ้าหนี้ เช่น สถาบันเจ้าของบัตรเครดิต ฯลฯ แบ่งยอดชำระจากที่เราต้องชำระเต็มออกเป็นงวดย่อยๆ แบ่งจ่ายรายเดือน อาจจะ 3 เดือน 6 เดือน 10 เดือน แล้วแต่เงื่อนไขและข้อกำหนดของเจ้าหนี้

ข้อดีของการผ่อนชำระคือ รายจ่ายต่อเดือนที่ลดลงจะลดภาระของผู้ซื้ออย่างเราลงไป ทำให้เรามีเงินเหลือไปใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็น หรือเอาไปลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่า

การผ่อนชำระมีข้อดีดังกล่าวอยู่ก็จริงแต่เมื่อเป็นหนี้ ดอกเบี้ยก็ย่อมต้องมีเสมอ เพราะการผ่อน คือ สถาบันการเงินจ่ายเงินจำนวนเต็มให้กับร้านค้าไปก่อนแล้วค่อยมาเก็บจากเราเป็นงวดๆ แน่นอนสถาบันการเงินมีต้นทุนของเงินที่จ่ายแทนไปก่อนอย่างน้อยก็เท่ากับดอกเบี้ยเงินฝากที่สถาบันการเงินนั้นจ่ายให้กับผู้ฝากเงิน ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่สถาบันการเงินจะไม่คิดดอกเบี้ย

อ้าว แล้วเมื่อสถาบันการเงินยังไงก็คิดดอกเบี้ย แล้วอย่างนี้ที่เรามักเห็นร้านค้ามีโปรโมชันผ่อนชำระสินค้าผ่านบัตรเครดิตด้วยอัตราดอกเบี้ย 0% กันอยู่บ่อยๆ ใครเป็นคนจ่ายดอกเบี้ย

งั้นเรามาทำความเข้าใจรูปแบบของการผ่อนชำระสินค้าและบริการกันก่อน ส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

1. ผู้ซื้อเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ย ในกรณีนี้ร้านค้าจะมีการแจ้งอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารจะเรียกเก็บตามระยะเวลาที่ผู้ซื้อต้องการผ่อนชำระ โดยอัตราดอกเบี้ยที่คิดจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับการกำหนดของสถาบันการเงิน ผู้ออกบัตร และระยะเวลาที่ผู้ซื้อต้องการผ่อนชำระ ตัวอย่างเช่น ซื้อมือถือราคา 10,000 บาท และเลือกที่จะผ่อนชำระเป็นเวลา 12 เดือนด้วยอัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี การคิดดอกเบี้ยจะเป็นแบบลดต้นลดดอก เท่ากับว่าเราจะต้องจ่ายค่ามือถือเดือนละ 860.66 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นเวลาทั้งหมด 12 เดือน

2. ร้านค้าเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ย
ในกรณีที่ร้านค้ารับภาระดอกเบี้ยแทนผู้ซื้อ หรือที่เราคุ้นหูกันว่า โปรฯ ผ่อน 0% ธนาคารจะหักดอกเบี้ยออกจากเงินก้อนของร้านค้า และเรียกเก็บค่างวดรายเดือนจากผู้ซื้อเอง ซึ่งร้านค้ายอมจ่าย เพราะสามารถขายของได้มากขึ้น กำไรที่ได้สูงกว่าค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้สถาบันการเงิน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการผ่อน 0% นอกจากสถาบันการเงินได้ดอกเบี้ย ได้ค่าธรรมเนียมแล้ว ประโยชน์อย่างอื่นที่สถาบันการเงินได้ ก็มี เช่น

• เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าด้วยการผ่อน 0% ทำให้โอกาสปิดการใช้บัตรน้อยลง โอกาสที่จะใช้บัตรต่อเนื่องมีมากขึ้น สถาบันการเงินก็มีโอกาสได้ค่าธรรมเนียม (2-3%) ดอกเบี้ยมากขึ้น และ

• หากลูกค้าผ่อนชำระค่าสินค้าไม่ตรงตามระยะเวลาที่กำหนด จะมีค่าธรรมเนียมในการทวงถาม และจะคิดอัตราดอกเบี้ยด้วย สมัยก่อน จะคิดดอกเบี้ยจากยอดเต็ม เช่น ราคาสินค้า 10,000 บาท ธนาคารคิดดอกเบี้ยจากยอดเต็ม คือ 10,000 บาท (ไม่ได้คิดจากยอดคงเหลือที่มีการผ่อนไปแล้ว) แต่มาตอนนี้โชคดีที่แบงค์ชาติปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ใหม่ให้คิดจากเงินต้นเฉพาะเดือนที่ผิดนัดชำระเท่านั้น ทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ของลูกค้าลดลง สอดคล้องกับเงินต้นตามงวดที่มีการผิดนัดชำระหนี้ และเกิดความเป็นธรรมกับลูกค้า

ขณะเดียวกันยังปรับวิธีคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ โดยคิดจาก”อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3% ซึ่งรายได้จากลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ ถือเป็นรายได้ก้อนใหญ่ของสถาบันการเงินเช่นกัน เพราะจากรายงานวิจัย พฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตของคนกรุงเทพฯ ปี 2560 พบว่า ผู้ถือบัตรเป็นหนี้เยอะ, หาเงินจ่ายไม่ทัน และจ่ายหนี้ไม่ตรงกำหนดมีมากถึงร้อยละ 40.86 ซึ่งจุดนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ธนาคารมีรายได้จากดอกเบี้ยบัตรเครดิตเป็นจำนวนมาก

การปิดยอดผ่อนก่อนกำหนด

เราคุยกันเรื่องการผ่อนกับการผิดนัดชำระหนี้ หรือ การผ่อนเกินกำหนด แล้วถ้าเป็นกรณีเราอยากปิดยอดผ่อนก่อนกำหนดล่ะ จะทำได้มั๊ย

การปิดยอดผ่อนชำระก่อนกำหนด คือ การที่เราจ่ายเงินส่วนที่เหลือจากการผ่อนชำระสินค้าให้หมดก่อนกำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระสินค้าที่ได้ตกลงไว้เมื่อซื้อสินค้า ส่วนใหญ่เราจะทำก็เพื่อ

• ลดภาระในการผ่อนสินค้า เพราะเราอาจมีรายได้เพิ่มเข้ามา ทำให้สามารถปิดยอดผ่อนได้หมดก่อนที่ครบกำหนด แต่การปิดยอดผ่อนก่อนกำหนดไม่ช่วยในการลดดอกเบี้ยนะ เพราะ สถาบันการเงินจะรวมค่าดอกเบี้ยที่เหลือลงในยอดค้างชำระอยู่แล้ว

• เพิ่มวงเงินในบัตร ถ้าเราสามารถจ่ายค่าผ่อนชำระสินค้าที่เหลือได้และปิดยอดก่อน วงเงินในบัตรของเราก็จะเพิ่มขึ้นและสามารถนำบัตรไปชำระสินค้าอื่นๆได้

ข้อควรคิดก่อนผ่อน 0%

1.ควรจะพิจารณารายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของเราด้วย ดูว่ารายได้เรามากพอหรือไม่ รายได้มั่นคงหรือไม่ ผมเคยเจอกรณีพนักงานโรงงานแห่งหนึ่งที่มีรายได้ต่อเดือนสูง โดยเป็นรายได้จากเงินเดือน 50% และรายได้จาก OT 50% เดิมรายได้จาก OT มั่นคงพอๆกับเงินเดือน เนื่องจากโรงงานมีงานให้ทำตลอด จึงผ่อน 0% บนฐานรายได้เงินเดือน + OT แต่พอเกิดสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนในยุคประธานาธิบดี ทำให้รายได้จาก OT เริ่มลดลงจนสุดท้ายไม่มี และยังลดชั่วโมงการทำงานอีกด้วย และโชคร้ายซ้ำเติมเข้าไปอีกต้องตกงานจากวิกฤติโควิด (ทำนองสุภาษิตไทย คือ ผีซ้ำด้ามพลอย หรือกฎของ Murphy ของฝรั่ง) ทำให้การจ่ายเงินผ่อนต่อเดือนจากเดิมที่ไม่เป็นปัญหากลายเป็นมีปัญหาทันทีจากรายได้ที่หายไป

2.เมื่อจะผ่อนอะไรก็ตาม แม้การผ่อนนั้นจะเป็นจำนวนไม่มาก แต่ถ้าเราผ่อนหลายๆรายการเข้า ก็อาจจะทำให้ภาระการผ่อนสูงเกินความสามารถโดยไม่รู้ตัว (ทำนองสุภาษิตไทยดินพอกหางหมู หรือ ทฤษฎีกบต้มของฝรั่ง) และสุดท้ายทำให้เป็นหนี้บัตรเครดิตก้อนโตโดยไม่รู้ตัว และจาก 0% ก็จะกลายเป็นหนี้ดอกเบี้ยแพงทันที

3.ผ่อนเฉพาะของที่จำเป็นเท่านั้น เพราะการผ่อนแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะมีดอกเบี้ยหรือ 0% วงเงินคงเหลือในบัตรจะถูกตัดออกไปตามราคาสินค้าในวันที่ทำการซื้อสินค้านั้น เช่นวงเงิน 10,000 บาท เมื่อทำการรูดบัตรเพื่อผ่อนชำระค่าสินค้า 6,000 บาท ทางสถาบันการเงินจะทำการตัดวงเงิน 6,000 บาทออกไป ทำให้วงเงินคงเหลืออยู่ที่ 4,000 บาท จากนั้นสถาบันการเงินจะทำการคืนวงเงินเข้าบัญชีบัตรเครดิต เมื่อมีการผ่อนชำระในแต่ละเดือน วงเงินคงเหลือจะเพิ่มขึ้นมาทีละ 1,000 บาท จนกลับมาอยู่ที่ 10,000 บาทในเดือนที่ผ่อนชำระหมด ดังนั้นหากในช่วงนั้น เราเกิดมีความจำเป็นต้องชำระเงินด้วยบัตรเครดิต วงเงินที่เหลืออาจไม่พอ

ตัวอย่างที่เคยกับผมเองเลย คือ มีช่วงหนึ่งที่ตอนนั้นไม่มีความรู้เรื่องการผ่อนเท่าไหร่ เห็นมีโปรโมชั่นผ่อน 0% ของอะไรที่ไม่จำเป็น รู้สึกจำเป็นไปหมด ของมันต้องมี ตอนแรกผ่อนมือถือเดือนละ 3,000 บาท รู้สึกไม่มากอะไร ผ่อนไหว ถัดมาก็ผ่อนประกันรถ ผ่อนโน่นผ่อนนี่ไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งจะใช้บัตรเครดิตเพื่อชำระค่ารักษาพยาบาล ปรากฎว่าวงเงินในบัตรไม่เพียงพอ สุดท้ายต้องเอาบัตรเครดิตของภรรยามาชำระแทน

ร่วมบริจาคเงิน “รพ.-มูลนิธิ” ฝ่าวิกฤติโควิด รับหนังสือ “ความจริง ความคิด”

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : ซื้อของออนไลน์ป้องกันโกง ทำยังไง?
ความจริงความคิด : ม. 40 กับ มาตรการเยียวยากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์
ความจริงความคิด : เรื่องต้องรู้ ลดหนี้ด้วยวิธีรีไฟแนนซ์
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ
ความจริงความคิด : กองทุนไหนดี เลือกอย่างไร
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : ยิ่งเกิด covid ยิ่งกังวลเรื่องเงิน
ความจริงความคิด : การบริหารความเสี่ยงในการลงทุน