โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
วันก่อนได้คุยกับเพื่อนคนหนึ่งซึ่งก็ได้รับผลกระทบจาก Covid ทำให้รายได้ที่มีอยู่ลดหายไป แต่ที่ไม่หายกลับโตขึ้น ก็คือ ภาระหนี้ จนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขึ้นโรงขึ้นศาล แต่เพื่อนผมก็เป็นลูกหนี้ที่ดีพร้อมรับคำตัดสินใจ และจะพยายามอย่างเต็มความสามารถในการชำระหนี้ คำว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ไม่มีในหัวเลย
แต่สิ่งที่เพื่อนผมหรือคนเป็นหนี้ทั้งหลายคงอยากรู้กันมาก ก็คือ เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว อนาคตจะเป็นอย่างไรบ้าง ขอขอบคุณบทความ “สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม“ จากธนาคารแห่งประเทศไทย เขียนโดยคุณชนาภรณ์ เสรีวรวิทย์กุล และคุณอาทิตา ผลเจริญ ที่ให้ความกระจ่างในข้อสงสัยนี้เป็นอย่างดี จึงอยากขอแชร์บทความนี้เพื่อลูกหนี้จะได้เป็นแนวทางในการวางแผนแก้หนี้กันต่อไป
คนจำนวนไม่น้อยมักคิดว่า เรื่องหนี้สินเป็นเรื่องของลูกหนี้กับเจ้าหนี้หรือผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งถูกเพียงส่วนเดียว เพราะความจริงแล้วเส้นทางชีวิตของลูกหนี้ค่อนข้างยาว เริ่มตั้งแต่จ่ายหนี้ได้เป็นปกติ เริ่มฝืดเคือง จนถึงจ่ายไม่ไหว และถ้าค้างจ่ายครบ 3 เดือนก็เข้าข่ายเป็นหนี้เสีย [1] (NPL) หากลูกหนี้กับเจ้าหนี้ยังตกลงกันไม่ได้ หรือลูกหนี้ไม่ยอมติดต่อ ผ่านไประยะหนึ่งเจ้าหนี้จะฟ้องดำเนินคดีกับลูกหนี้ เพื่อให้กรอบกฎหมายดูแลให้ลูกหนี้คืนเงินที่ได้กู้ยืมไป และถ้าคดีสิ้นสุดมีคำพิพากษา และยังไม่มีการชำระหนี้กัน ก็จะนำไปสู่การสืบทรัพย์ และเข้าสู่การบังคับคดี ได้แก่ การอายัดเงินเดือน ยึดทรัพย์-ขายทอดตลาด ทำให้เส้นทางชีวิตของลูกหนี้ต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับศาลและกรมบังคับคดี ทั้งนี้ จากประสบการณ์ช่วยเหลือลูกหนี้ เราพบว่า ลูกหนี้ส่วนหนึ่งไม่มีความรู้เรื่องสิทธิและหน้าที่ของตัวเองในกระบวนการยุติธรรม และนำไปสู่ความกลัว เครียด และตีปัญหาให้ใหญ่เกินจริง บทความนี้จึงพยายามให้ความรู้ใน 5 เรื่องสำคัญ
เรื่องแรก จะรู้ได้อย่างไรว่าถูกฟ้อง?
เมื่อถูกฟ้องจะมี “หมายศาล” ส่งไปตามที่อยู่ใน “ทะเบียนบ้าน” ลูกหนี้มีหน้าที่ตรวจสอบจดหมายที่ส่งไปยังที่อยู่นี้ เพราะ ในทางกฎหมาย หากหมายศาลถูกส่งถึงบ้านจะถือว่า ลูกหนี้ได้รับแล้ว จะปฏิเสธว่าไม่ได้รับไม่ได้ แม้ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยจะอ้างว่า ไม่ได้รับเพราะอาศัยอยู่ที่อื่นก็ตาม แต่ถ้าลูกหนี้ไม่อยู่บ้านตามทะเบียนบ้านจริงด้วยเหตุผลใดก็ตาม ลูกหนี้มีสิทธิตรวจสอบว่า ตนเองถูกฟ้องหรือยัง? จากศาลในเขตอำนาจตามทะเบียนบ้าน เพื่อดูว่ามีคดีแพ่งที่ฟ้องเราหรือไม่
เรื่องที่สอง ทำอย่างไร เมื่อถูกฟ้อง?
ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยรู้สึกตกใจเมื่อได้รับ “หมายศาล” ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเพียงการสื่อสารระหว่างศาลซึ่งเป็นคนกลางระหว่างเจ้าหนี้ (โจทก์) และลูกหนี้ (จำเลย) หลังจากที่ศาลได้รับคำฟ้องจากเจ้าหนี้เท่านั้น โดยศาลมีหน้าที่ให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย แม้ว่าลูกหนี้จะรู้สึกผิดกับการที่ตัวเองไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่ความเป็นธรรมที่ศาลจะมอบให้จะพิจารณาครอบคลุมถึงความจำเป็นแวดล้อมของลูกหนี้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่นับเป็นเหตุสุดวิสัยย่อมเป็นประเด็นที่อยู่ในกรอบที่จะให้ความเป็นธรรมด้วย
ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ได้รับหมายศาลมาแล้ว มีหน้าที่อ่านให้เข้าใจว่า ศาลต้องการสื่ออะไร และสำหรับหมายศาลแรกที่ลูกหนี้ได้รับในฐานะจำเลยจะเป็นการเรียกให้ไปยื่นคำให้การต่อสู้คดีภายในเวลาที่กำหนดนับจากวันที่รับหมาย อาทิ 15 วัน หมายความว่า ศาลไม่คิดจะฟังความข้างเดียว ต้องการเชิญให้ลูกหนี้เข้าไปให้ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในศาลด้วย จึงไม่มีเหตุต้องตกใจ หรือคิดฟุ้งซ่านใด ๆ ที่สำคัญ คดีแพ่งไม่มีการติดคุก
ในการอ่านหมายศาล ขอให้ตรวจสอบ (1) หมายเลขคดี (2) ศาลไหนเพราะประเทศไทยมีศาลทั่วประเทศ (3) ประเด็นที่เจ้าหนี้ต้องการฟ้อง (4) จำนวนเงินที่ฟ้องตรงกับหนี้สินที่เกิดขึ้นหรือไม่ รายการใดไม่ตรงกับสัญญา และ (5) เจ้าหนี้ฟ้องภายในระยะเวลาหรืออายุความที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ กล่าวคือ เมื่อลูกหนี้ไม่ได้ชำระหนี้ตามสัญญา ก็จะถือว่าผิดนัดชำระ หากเจ้าหนี้ต้องการจะดำเนินคดีเพื่ออาศัยอำนาจศาลให้ลูกหนี้ติดต่อเพื่อชำระหนี้ ก็ต้องฟ้องภายในระยะเวลาหรืออายุความที่กฎหมายกำหนด โดยอายุความของคดีเริ่มนับจากวันผิดนัดชำระหรือวันที่ชำระหนี้ครั้งสุดท้าย ได้แก่ หนี้บัตรเครดิต 2 ปี สินเชื่อส่วนบุคคล 5 ปี หนี้จากเงินกู้ยืมแบบผ่อนคืนเป็นงวด 5 ปี
หลังจากได้รับหมายศาลแล้ว ควรทำอย่างไรต่อ ควรไปศาลหรือไม่ มีช่องทางคุยกับเจ้าหนี้อีกหรือไม่ ไว้คุยกันครั้งหน้าครับ
[1] ลูกหนี้จำนวนมากไม่รู้ผลกระทบต่อมาของการเป็น NPL และทำให้ชะล่าใจ กล่าวคือ ทันทีที่เป็น NPL หรือค้างชำระเกิน 90วัน ความน่าเชื่อถือหรือเครดิตลูกหนี้จะเสียหาย เพราะมันจะมีรหัสติดในบัญชีดังกล่าวกับเครดิตบูโรทันที เมื่อเจ้าหนี้รายอื่นเข้ามาตรวจสอบประวัติจะทราบทันทีว่า ลูกหนี้รายนี้เคยมีประวัติเบี้ยวหนี้เกินกว่า 90วัน ที่สำคัญ แม้เป็น NPL แค่เดือนเดียว แต่ประวัติในเดือนที่เป็น NPLนี้จะอยู่ในระบบต่อไปอีก 3 ปีจึงจะถูกลบออกไป ทำให้เสียโอกาสในการขอกู้เงินจากเจ้าหนี้ในระบบการเงินไปอย่างน้อย ๆ ก็ 3 ปี
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : เผย 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์แห่งปี 64 รู้ไว้! จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์ 1
ความจริงความคิด : สิทธิรักษาพยาบาลบัตรทอง กับ ประกันสังคม
ความจริงความคิด : อย่ากินเหยื่อที่เขาล่อ Phishing กลโกงออนไลน์ ตอนที่ 1
ความจริงความคิด : วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุน
ความจริงความคิด : กลโกงทางการเงิน 1
ความจริงความคิด : เมื่อนายจ้างไม่ส่งเงินสมทบประกันสังคม ลูกจ้างเสียอะไร
ความจริงความคิด : ซื้อของออนไลน์ป้องกันโกง ทำยังไง?
ความจริงความคิด : เรื่องต้องรู้ ลดหนี้ด้วยวิธีรีไฟแนนซ์
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ