โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
ในช่วงโควิดที่ผ่านมา การที่พวกเราหลายคนต้อง work from home เพื่อลดโอกาสที่จะติดเชื้อโควิด แต่คนเรามันต้องกินต้องใช้ อยู่บ้านไปไหนไม่ได้ ก็ต้องพึ่ง internet กันล่ะ
ผมเองก็เป็นหนึ่งในนักช็อปออนไลน์ด้วยเหมือนกัน (ขนาดเป็นนักวางแผนการเงินนะเนี่ย) เวลาจะซื้ออะไรที ก็หาข้อมูลแหลกไม่ว่าจะเทียบราคา ดูความน่าเชื่อถือของคนขาย ฯลฯ สุดท้ายก็ถูกหลอก จ่ายเงินไม่ได้ของบ้าง ได้ของไม่ตรงปกบ้าง ฯลฯ และทำทุกวิถีทางที่จะเอาเงินคืน ไม่ว่าจะไปแจ้งความ อายัดบัญชี ประจาน ฯลฯ ก็ได้เงินคืนบ้างในบางเคส แต่บางเคสก็ไม่ได้เงินคืน ทั้งที่ก่อนแจ้งความเพื่อนและที่บ้านแนะนำ
“ช่างๆมันไปเหอะ ไม่กี่บาท อย่าไปเสียเวลาเลย ไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป และน่าจะเสียเวลาเปล่าไม่ได้เงินคืนหรอก”
ตอนนั้นความรู้สึกจริงๆ อยากได้เงินคืนมั๊ย อยากได้ แต่ที่อยากได้มากกว่า คือ คนทุจริตไม่ควรมีที่ยืนในสังคม ยิ่งตอนหลังได้เจอข่าวน้องบางคนเสียอนาคตเพราะถูกหลอกลงทุนออนไลน์ หรือน้องบางคนเครียดจนเสียชีวิต เพราะซื้อของออนไลน์ เลยคิดว่าที่ดำเนินการทางกฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212 OCC ได้สรุปสถิติรูปแบบการฉ้อโกงสำหรับปัญหาการ ซื้อของออนไลน์ ในรอบปี 2564 พบว่า ปัญหาร้องเรียนมากสุด คือ ปัญหาซื้อขายทางออนไลน์ 37,584 เรื่อง (เฉลี่ย 3,132 เรื่อง/เดือน) และตามมาด้วย เว็บไซต์ผิดกฎหมาย 11,476 เรื่อง ปัญหาอื่นๆ/สอบถามข้อสงสัย 3,200 เรื่อง ภัยคุกคามไซเบอร์ 1,667 เรื่อง และข้อสงสัยด้านกฎหมายไอซีที 421 เรื่อง
ทั้งนี้ เกือบ 80% ของข้อร้องเรียนปัญหาซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ คือ ไม่ได้รับสินค้า และสินค้าไม่ตรงตามข้อตกลง/ไม่ตรงตามโฆษณา โดยประเภทสินค้าที่มีการร้องเรียรนมากสุด ได้แก่ อุปกรณ์ไอทีและสินค้าแฟชั่น ครองสัดส่วนรวมกันเกือบ 50%
ช่องทางการซื้อขายที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก มีสัดส่วนถึง 82.1% ตามมาด้วย เว็บไซต์ อินสตาแกรม แพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลส ไลน์ ทวิตเตอร์ และยูทูบ ตามลำดับ
สำหรับรูปแบบการฉ้อโกงในการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ แบ่งได้ 15 รูปแบบ ประกอบด้วย
1. การซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระ มักเกิดเหตุกับสินค้าราคาสูง เช่น ทองคำ โทรศัพท์มือถือ
2. การกดดันให้โอนเงิน มิจฉาชีพมักแฝงตัวขายสินค้าบนแพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลสซึ่งเป็นที่นิยม และกดดันให้ลูกค้าโอนเงินทันที โดยอ้างว่าสินค้ามีน้อยและมีลูกค้ารายอื่นกำลังสนใจ
3. ใช้สถานการณ์ Hot issue เป็นช่องการฉ้อโกง โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด มีการหลอกขายแอลกอฮอล์ หน้ากาอนามัย เครื่องวัดค่าออกซิเจน ชุดตรวจ ATK เป็นต้น และล่าสุดขยายมาถึงสินค้ายอดนิยมยุค New normal ได้แก่ ต้นไม้ด่าง
4. การฉ้อโกงผ่าน Social Media สินค้าที่พบปัญหานี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแบรนด์เนม และมีมูลค่าความเสียหายสูง
5. การแลกเปลี่ยนสิ่งของผ่าน App แลกเปลี่ยนสิ่งของ ส่วนใหญ่ไม่ได้รับตามที่ตกลงกันไว้ และถูกบล็อกช่องทางการติดต่อหลังจบการแลกเปลี่ยน
6. การซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยสั่งซื้อสินค้านำเข้าผ่านแพลตฟอร์มด้านนี้โดยตรง แต่ได้รับสินค้าชำรุด
7. การซื้อสินค้าแบบ Pre-order โอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า
8. การถูกฉ้อโกงจากวิธีเก็บเงินปลายทาง ได้รับสินค้าปลอม
9. การแอบอ้างเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า พบบ่อยคือสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือ แต่เมื่อโอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า
10. การใช้บัญชีที่สวมรอย หลอกลวงให้โอนเงิน
11. พนักงานขนส่งสินค้า ติดต่อให้ชำระเงินค่าสินค้า อ้างว่ามีสินค้าที่ถูกจัดส่งมาจากต่างประเทศ ต้องชำระค่าธรรมเนียมก่อนรับสินค้า
12. การประมูลสินค้าผ่านเว็บไซต์ เงื่อนไขคือผู้ประมูลจะต้องเติมเงินก่อนการประมูล แต่หลังจากเติมเงิน ทางแอดมินเพจ แจ้งว่าไม่สามารถประมูลได้โดยอ้างเหตุผลต่างๆ และผู้เสียหายไม่ได้รับเงินที่โอนเติมเงินคืน
13. การแจกสินค้าฟรี แต่เรียกเก็บเงินค่าจัดส่ง โอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า
14. การซื้อสินค้าประเภทผลไม้ตามฤดูกาล และไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลงกันไว้ และ
15. การหลอกลวงจากการซื้อสินค้าประเภทเครื่องขุดเหรียญดิจิทัล ได้รับของไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้
การที่คนโกงออนไลน์กันเยอะ สาเหตุหนึ่งผมว่าน่าจะเป็นเพราะคนโกงคิดว่าโอกาสถูกจับมีน้อย เพราะคนซื้อคนขายไม่ได้เห็นหน้ากันจริง ทุกอย่างคุยบนออนไลน์ แม้จะป้องกันด้วยการขอดูบัตรประชาชน ก็ไม่แน่ว่าเป็นบัตรประชาชนจริงเปล่า เพราะอาจเอาบัตรประชาชนใครมาหลอกก็ได้
อีกเหตุผลที่สำคัญ ก็คือ กระบวนการในการดำเนินทางกฎหมายยุ่งยากและเสียเวลามาก คือต้องไปแจ้งความที่โรงพัก โดยต้องนำหลักฐานการซื้อขายทั้งหมด เช่น บันทึกการพูดคุย หลักฐานการโอนเงิน ฯลฯ ก็เสียเวลาอย่างน้อยครึ่งวัน และต้องนำหนังสือจากโรงพักไปธนาคารที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวง เพื่อแจ้งอายัดบัญชี ก็เสียเวลาอีกอย่างน้อยครึ่งวัน สรุปเสียเวลาอย่างน้อย 1 วัน แถมการอายัดบัญชี ก็จะอายัดได้เฉพาะบัญชีที่ใช้โกงเท่านั้น พวกมิจฉาชีพหลายคนก็ใช้วิธีถอนเงินออกทันทีที่โกงได้ ถึงจะถูกอายัดบัญชีก็ไม่กลัว เพราะไม่มีเงินในบัญชีแล้ว เสร็จแล้วก็เปิดบัญชีใหม่โกงชาวบ้านต่อ
เหตุการณ์อย่างนี้เกิดซ้ำซาก เป็นข่าวได้ทุกวัน จนเป็นความเคยชิน มองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนสุจริตต้องลุ้นกันเอาเองว่าจะถูกโกงมั๊ย จนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นข่าวศาลแพ่งเปิดทำการ “แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง” อย่างเป็นทางการในวันที่ 27 ม.ค. เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อขายสินค้าบริการทางออนไลน์ สามารถเข้าถึงศาลและใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยตนเองได้อย่างสะดวก ไม่เสียค่าใช้จ่าย ผ่านระบบ e-Filing
ดีใจมากๆ เพราะถ้าระบบนี้ work สามารถดำเนินคดีกับมิจฉาชีพได้ ธุรกิจออนไลน์ไทยก็น่าจะเติบโตกว่านี้ ผมเองก็รีบเป็นลูกค้ารายแรกๆของศาลแพ่งทำเรื่องฟ้องร้องดำเนินคดีเลย ก็สะดวกดี แม้จะมีขั้นตอนการพิสูจน์ตัวตนมาก แต่ก็เข้าใจเพราะจะป้องกันการใช้ช่องทางกฎหมายทำร้ายใส่ความกัน และขอขอบคุณที่ศาลแพ่งมองความเคยชินว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข และได้ดำเนินการแก้ไขในครั้งนี้
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : ซื้อประกันอย่างไร จ่ายเบี้ยประกันคุ้ม
ความจริงความคิด : องค์ประกอบในการกำหนดราคาเบี้ยประกัน
ความจริงความคิด : ภาษี crypto
ความจริงความคิด : สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม ตอน 1
ความจริงความคิด : เผย 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์แห่งปี 64 รู้ไว้! จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์ 1
ความจริงความคิด : วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุน