ความจริงความคิด : ความชัดเจน คือ พลัง

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

 

กรณีเกี่ยวกับเกณฑ์การจ่ายสินไหมผู้ป่วยโควิดว่าต้องมีอาการตามแนวทางปฏิบัติของกระทรวงกระทรวงสาธารณสุขที่ได้กำหนดแนวปฏิบัติการรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่จะเข้าเป็น “ผู้ป่วยใน” ในโรงพยาบาล จะต้องมีความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรฐานทางการแพทย์ ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข “ข้อใดข้อหนึ่ง” ดังนี้

1. เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาทีในผู้ใหญ่
3. Oxygen Saturation < 94%

 

4. โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์

5. สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง

ปรากฏว่าเกิดความสับสนขึ้นกับโรงพยาบาลที่ไม่กล้ารับคนไข้ เกรงว่าจะไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลกับบริษัทประกันได้ เกิดความสับสนขึ้นกับคนป่วยไม่แน่ใจวาจะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่ เกิดความสับสนกับคนที่จะซื้อประกัน ไม่แน่ใจว่าคุ้มค่ากับเบี้ยที่จ่ายหรือไม่ เกิดความสับสนกับตัวแทนประกันที่ไม่สามารถยืนยันผลประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับได้อย่างเต็มปาก

ต้องขอขอบคุณสมาคมประกันชีวิตไทยที่แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วตามข่าวประชาสัมพันธ์ของสมาคมประกันชีวิตไทย เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ภาคธุรกิจประกันชีวิตได้ให้คุ้มครองตามเงื่อนไขของสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ และแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขมาโดยตลอด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ภาคธุรกิจประกันชีวิตจึงได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเพื่อปรับปรุงเพิ่มเติมไม่ให้เกิดความสับสนของผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง และการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทน ยังคงปฏิบัติเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาทุกประการ โดยไม่ได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเรียกร้อง หรือลดทอนสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด

การเรียกร้องผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันจากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (Hospital Benefit : HB)
ตามเงื่อนไขของสัญญาเพิ่มเติมค่าชดเชยรายวันจากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (Hospital Benefit : HB) ภาคธุรกิจประกันชีวิตจะจ่ายผลประโยชน์ค่าชดเชยรายวันจากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่เข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อการรักษาพยาบาลการบาดเจ็บหรือการป่วย เท่านั้น ไม่ครอบคลุมการขาดรายได้จากการพักฟื้น หรือการกักตัว
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภาคธุรกิจประกันชีวิต ได้มีการอนุโลมจ่ายค่าชดเชยรายวันจากการนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ต้องเข้าพักรักษาตัวในหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) หรือโรงพยาบาลสนาม (Field Hospital) ด้วย จนถึงปัจจุบัน โดยบริษัทประกันชีวิตไม่ได้คิดเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติม

ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ปกติภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบ แต่หากผู้ป่วยรายใดมีประกันสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันชีวิตจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเป็นลำดับแรกตามที่โรงพยาบาลที่ทำการรักษาเรียกเก็บตามผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ทั้งนี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563

เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ของคำว่า “ความชัดเจน” หลายๆเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้น ก็มาจาก “ความไม่ชัดเจน” นี่แหละ อย่างเช่น เคยอ่านกฎ 3 P ของหนูดี วนิษา เรซ ที่จะพิสูจน์ว่าผู้ชายรักเราจริงหรือไม่ ให้ดูที่ 3 P คือ
1. Protect รักจริง ต้องพร้อมปกป้อง ทั้งร่างกาย จิตใจ เกียรติยศ ศักดิ์ศรีของผู้หญิง
2. Profess พร้อมประกาศให้ทุกคนรู้ว่า คือแฟน คือคู่หมั้น คือภริยา ตามแต่ที่ตกลงกัน ถ้าคบกันแล้วเก็บเป็นความลับ แสดงว่า ไม่รักจริง
3. Provide คือ ให้ คือ ให้ความรัก ให้เวลา ให้เงิน ให้ทรัพยากร ฯลฯ ผู้ชายที่รักจริงจะไม่งกกับผู้หญิง ต่อให้จนแค่ไหน เขาจะอยากแสดงความแมนด้วยการดูแลให้ครบถ้วน

P ตัวที่สำคัญที่สุด ก็คือ Profess นั่นเอง เพราะบอกถึง “ความชัดเจน” นั่นเอง


You can’t manage what you can’t measure,

You can’t measure what you can’t define.

You can’t define what you can’t understand.

คุณไม่สามารถบริหารในสิ่งที่คุณวัดไม่ได้

คุณไม่สามารถวัดได้ในสิ่งที่คุณไม่สามารถอธิบายมันได้

คุณไม่สามารถอธิบายได้ในสิ่งที่คุณไม่เข้าใจอย่างแท้จริง

ก็เป็นแนวคิดที่เน้นถึงความสำคัญของ “ความชัดเจน” ในชีวิตของเรา ทุกๆวัน คือ การแก้ปัญหา “ความชัดเจน” จะช่วย
1. ทำให้มั่นใจได้ว่าเรื่องนั้นๆคือเรื่องอะไรแน่

2. ทำให้หาวิธีจัดการได้ง่ายขึ้น

3. ทำให้ทีมงาน หรือผู้ที่จะต้องรับเรื่องนั้นไปดำเนินการเข้าใจประเด็นตรงกัน

ดังนั้น จะทำอะไรมั่นใจหรือเปล่าว่า เรา “ชัดเจน” มากพอ ไม่งั้นปัญหาที่เกิดขึ้น สาเหตุอาจมาจากเราที่ “ไม่ชัดเจน” เอง

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : ความเคยชิน ทำให้ไม่เห็นปัญหา
ความจริงความคิด : ซื้อประกันอย่างไร จ่ายเบี้ยประกันคุ้ม
ความจริงความคิด : องค์ประกอบในการกำหนดราคาเบี้ยประกัน
ความจริงความคิด : ภาษี crypto
ความจริงความคิด : สิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ในกระบวนการยุติธรรม ตอน 1
ความจริงความคิด : เผย 10 กลโกงซื้อขายออนไลน์แห่งปี 64 รู้ไว้! จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อโจรไซเบอร์ 1
ความจริงความคิด : วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุน