ความจริงความคิด : โกงภาษี ผิดกฎหมายฟอกเงิน

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

“รวบแก๊งโกงภาษี ยื่นแบบออนไลน์เป็นเท็จ ขอคืนเงินทำรัฐเสียหาย” ข่าวจาก เดลินิวส์ เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา โดยพฤติกรรมในการกระทำความผิดคือ ผู้ต้องหาทั้ง 7 คน จะทำหน้าที่เป็นแม่ข่าย หาลูกค้าผ่านทางสังคมออนไลน์โดยอ้างว่าสามารถทำเรื่องขอคืนภาษีบุคคลธรรมดาได้ แม้ว่าจะไม่มีสิทธินั้นก็ตาม เมื่อมีผู้สนใจติดต่อมาก็จะชักชวนให้ร่วมกระทำความผิด ด้วยการกรอกข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลที่จะขอคืนภาษีอันเป็นเท็จ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลการผ่อนชำระบ้านพักอาศัย หรือประกันชีวิต เป็นต้น โดยการยื่นผ่านระบบออนไลน์ พร้อมกับตกลงแบ่งผลประโยชน์กัน ตามสัดส่วนที่ได้รับเงินคืน

จริงอยู่ แม้ว่าหลายคนจะไม่อยากเสียภาษี แต่การเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของผู้มีเงินได้ทุกคน คนที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรจะมีความผิดตามประมวลรัษฎากร ซึ่งมีโทษ ดังนี้

• กรณีผู้เสียภาษีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90/91 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร

• กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษีและจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระ นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี

• กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชอบชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังต้องรับผิดชอบเสียเบี้ยปรับอีก 1 หรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ แล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด ซึ่งอนุมัติโดยรัฐมนตรี

• กรณีจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

• กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอาการ มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

• กรณีผู้ประกอบการที่ใช้ใบกำกับภาษีปลอม และหากพบว่าสำนักงานบัญชีให้ความร่วมมือกระทำผิด เช่น หาใบกำกับภาษีปลอมให้ ก็จะดำเนินคดีอาญาทันที โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีต่อใบกำกับภาษีปลอม 1 ใบ หากใช้ใบกำกับภาษีปลอม 10 ใบ ก็รวมเป็น 70 ปี แต่กฎหมายให้จำคุกรวมแล้วไม่เกิน 20 ปี

ไม่เพียงมีความผิดตามประมวลรัษฎากร แต่หากการหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือฉ้อโกงภาษีอากร หรือขอคืนภาษี โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน แต่ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการฟอกเงินอีกด้วยตามมาตรา 37 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดว่า

“…ผู้กระทำความผิดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรและเป็นความผิดที่เกี่ยวกับจำนวนภาษีอากรที่หลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงตั้งแต่ 10 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไปหรือจำนวนภาษีอากรที่ขอคืนโดยความเท็จโดยฉ้อโกงหรืออุบายหรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไปและผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรดังกล่าวได้กระทำในลักษณะที่เป็นกระบวนการหรือเป็นเครือข่ายโดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมินหรือรายได้เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากรและมีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้ ให้ถือว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน…”

จากบทบัญญัติข้างต้น เห็นว่า การกระทำความผิดในลักษณะอาชญากรรมเกี่ยวกับภาษีอากรที่จะถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่กรมสรรพากรจะทำการส่งข้อมูลให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปได้นั้น ต้องเข้าองค์ประกอบทั้ง 4 ประการ ดังนี้

1. ต้องเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือฉ้อโกงภาษีอากรโดยเจตนา เช่น

a. มีเจตนาให้ข้อความ ถ้อยคำ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีหรือขอคืนภาษีอากร

b. มีเจตนาหลีกเลี่ยง พยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีหรือขอคืนภาษีอากร โดยมีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด คือ กระทำโดยให้ความเท็จ โดยฉ้อโกง อุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้ว กฎหมายได้กำหนดลักษณะการกระทำความผิดในกรณีนี้ไว้ค่อนข้างกว้าง เช่น นำรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณเพื่อเสียภาษี ทำให้หักรายจ่ายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดส่งผลให้เสียภาษีต่ำว่าความเป็นจริง หรือ นำรายได้จากการประกอบกิจการเพียงบางส่วนมาเสียภาษีเป็นต้น

c. มีเจตนาไม่ยื่นรายการ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี

d. มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มหรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น

i.ขายสินค้าได้จำนวนมากกว่าจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ทำให้มีรายได้จากการขายสินค้านั้นต่ำว่าความเป็นจริง เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มน้อยลง
ii.ขายใบกำกับภาษีให้แก่ผู้อื่น (ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภครายสุดท้ายไม่ประสงค์ให้ผู้ขายออกใบกำกับภาษี ผู้ขายจึงนำใบกำกับภาษีไปขายให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม)
iii.ตั้งบริษัทขึ้นมาหลายบริษัทโดยมีเจตนาเพื่อออกใบกำกับภาษีระหว่างกันเอง (ไม่มีการซื้อขายสินค้าหรือให้บริการกันจริง)
iv.ปลอมเอกสาร เช่น ใบขนสินค้า ใบกำกับภาษี เพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

การจะตัดสินว่าบุคคลใดกระทำความผิดและจะได้รับโทษทางอาญาหรือไม่นั้น กฎหมายดูเรื่อง “เจตนา” เป็นสำคัญ โดย “การกระทำโดยเจตนา” หมายถึง การที่ได้ทำผิดโดยรู้สำนึกในสิ่งที่ได้ทำลงไป และในการทำนั้น ผู้ทำความผิดก็หวังผลที่ได้จากการทำนั้น หรือรู้ คาดได้ว่า หากทำผิดแล้วจะเกิดสิ่งใดขึ้นจากการกระทำนั้น

ตามกฎหมายนี้ ถ้าเราผิดพลาดโดยสุจริต เช่น ลืมยื่นเอกสารบางรายการ ฯลฯ ก็ไม่ถือว่าเจตนา ไม่ผิดกฎหมายฟอกเงิน แล้วอย่างนี้ สรรพการจะพิสูจน์เรื่องเจตนายังไง การพิสูจน์เจตนาเขาจะใช้การอนุมานคาดเดาเอาจากพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำและพฤติการณ์แวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการกระทำตามหลักที่ว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” ครับ

2. จำนวนเงินกรณีหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือฉ้อโกงภาษีอากรเช่น จ่ายภาษีขาดไป หรือหักการรายจ่ายเป็นเท็จ การออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีการซื้อขายสินค้ากันจริง เป็นต้น จำนวนตั้งแต่ 10 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือ กรณีขอคืนเงินภาษีอากรไม่ถูกต้อง โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน จำนวนตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป แปลว่าถ้าเราหลีกเลี่ยงภาษีในปีภาษีจำนวนเงินไม่ถึง 10 ล้านบาท หรือขอคืนภาษีไม่ถึง 2 ล้านบาท ก็จะไม่ผิดกฎหมายฟอกเงิน แต่ก็ผิดกฎหมายสรรพากรอยู่ดี โทษไม่น้อยนะ

3. ผู้ที่กระทำเป็นกระบวนการหรือเป็นเครือข่ายโดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมินหรือรายได้เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร ถือว่ามีความผิดฐานฟอกเงินหมด เช่น กรณีการหลีกเลี่ยง หรือการฉ้อโกงภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ ซึ่งมีผู้ร่วมกระทำความผิดหลายคนในลักษณะเป็นโครงข่าย และมีจำนวนเงินของเสียหายหลายพันล้านบาท เป็นต้น

4. มีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้

หากการกระทำความผิดทางภาษีเข้าองค์ประกอบทั้ง 4 ประการข้างต้น และคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองความผิดทางภาษีอากรที่เข้าข่ายความผิดมูลฐาน เห็นว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสรรพากรจะส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป

เห็นโทษหนักอย่างนี้ และบอกได้เลยว่าปัจจุบันเทคโนโลยีสรรพากรดีมาก อย่าเสี่ยงหนีภาษีดีกว่า ได้ไม่คุ้มเสีย และยังมีวิธีประหยัดภาษีมากมาย เช่น การวางแผนภาษีด้วยค่าลดหย่อน เป็นต้น ถูกกฎหมายและประหยัดภาษีด้วย

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : ใกล้เส้นตายยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ยื่นกันยัง
ความจริงความคิด : เรื่องที่ลูกจ้างต้องรู้เมื่อออกจากงาน
ความจริงความคิด : ขายฝาก vs จำนอง
ความจริงความคิด : ผู้รับประโยชน์กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ “แตงโม”ความจริงความคิด : เศรษฐกิจดีขึ้น แต่เราก็อย่าประมาท
ความจริงความคิด : ความชัดเจน คือ พลัง