ความจริงความคิด : ใกล้เส้นตายยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ยื่นกันยัง

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

31 มีนาคม หรือ 8 เมษายนที่จะถึงนี้ คือเส้นตายที่เราต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันแล้ว เราอาจจะตกงานอยู่ หรือโดนลดเงินเดือนอยู่ หรือขายของไม่ได้ ธุรกิจยังขาดทุนอยู่ มีหนี้ต้องผ่อนอีกเยอะ ฯลฯ ก็อย่าไปคิดนะว่าเราไม่ต้องเสียภาษี เพราะพวกเราทุกคนที่มีเงินได้มีหน้าที่ต้องเสีย และถึงแม้เราอาจคิดว่าเงินได้น้อย ยื่นไปก็ไม่ต้องเสียภาษี ไม่รู้จะยื่นทำไม

สมมติเราเป็นบุคคลธรรมดา มีเงินเดือนอย่างเดียว สมมติได้เงินเดือนๆละ 10,000 บาท ทั้งปีเป็นเงิน 120,000 บาทยังไม่ต้องหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนเลย เงินได้สุทธิเราก็ไม่ถึง 150,000 บาทที่ต้องเสียภาษี ถึงยื่นแบบภาษีฯไปก็ไม่ต้องเสียภาษี

อันนี้ก็ขอให้คิดใหม่นะ เพราะสรรพากรกำหนดเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี

(1) บุคคลธรรมดาและผู้ถึงแก่ความตาย มีเงินได้พึงประเมิน ดังนี้
• ประเภทเงินได้ (เงินเดือนเพียงอย่างเดียว) โสด 120,000 บาท สมรส 220,000 บาท
• ประเภทเงินได้ (เงินได้ประเภทอื่น) โสด 60,000 บาท สมรส 120,000 บาท

(2) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
(3) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

แปลว่า ต่อให้ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเงินได้ถึงเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด ก็ต้องยื่นแบบ ถ้าไม่ยื่น หรือ ยื่นช้า มีบทลงโทษ ดังนี้ครับ

1. บุคคลธรรมดาที่ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ภายในกำหนด (ปีนี้ 30 มิถุนายน ปกติ 31 มีนาคม) ของทุกปี หรือยื่นแบบฯ เกินกำหนดเวลา
ต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร แต่สามารถขอลดค่าปรับได้

2. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 /91 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ
คือ ยื่นภาษีทันกำหนด แต่ไม่ได้ชำระเงินภาษีภายในกำหนด ก็ถือว่าไม่ได้ยื่นแบบ เราต้องไปยื่นแบบอีกทีที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1

3. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เกินกำหนดเวลา
3.1 กรณีนี้เหมือนข้อ 2 เลย ดังนั้นหากมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับตามข้อ 1

3.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ใช่ว่าจะปลอดภัย ยังต้องเสียค่าปรับตามข้อ 1 อยู่ดี หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าถ้าไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องยื่นภาษีก็ได้ คงรู้แล้วนะครับว่า คิดผิด ยื่นภาษีในกำหนดเวลาเถอะครับ จะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับ

4. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เพิ่มเติมภายหลังกำหนดเวลาการยื่นแบบ
4.1 กรณีมีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ
4.2 กรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและค่าปรับ

5. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 ขอผ่อนชำระเงินภาษี
กรณีนี้สำหรับคนที่มีภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีสิ้นปี ผู้เสียภาษีมีสิทธิขอผ่อนชำระภาษีได้เป็น 3 งวดเท่า ๆ กัน (แต่ละงวดห่างกัน 1 เดือน) ถ้ามีภาษีที่ต้องชำระจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป ทั้งภาษีครึ่งปีและภาษีสิ้นปี ผู้เสียภาษีมีสิทธิ ขอผ่อนชำระภาษีได้เป็น 3 งวดเท่า ๆ กัน โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มใดๆ ดังนี้

• งวดที่ 1 ชำระพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภายในวันที่ 30 กันยายน หรือวันที่ 31 มีนาคม (ปีนี้ 30 มิถุนายน)
• งวดที่ 2 ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 1
• งวดที่ 3 ชำระภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่ 2

ถ้าภาษีงวดใดงวดหนึ่งมิได้ชำระภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้เสียภาษีหมดสิทธิที่จะชำระภาษีเป็น รายงวด และต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ

6. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 มีภาษีชำระไว้เกิน แต่ไม่ได้แจ้งความประสงค์ขอคืนเงิน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นแบบฯ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือยื่นแบบฯ ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา

กรณีนี้สำหรับคนมีสิทธิขอภาษีคืน แต่ไม่ได้ทำเรื่องขอคืนไว้ตอนยื่นภาษีเงินได้ กรมสรรพากรก็ยังใจดีเปิดโอกาสให้คนที่เกิดเปลี่ยนใจอยากขอภาษีคืน ก็ขอได้ โดยให้ยื่นคำร้องขอคืนเงินตามแบบ ค.10 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยแนบเอกสารแล้วแต่กรณี เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แบบ ล.ย.03 (ถ้ามี) ใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา/มารดา (ถ้ามี) ฯลฯ

7. กรณีรับคืนเงินภาษีอากรเกินไป และได้รับหนังสือทวงถามให้นำเงินไปคืน
ห้ามอยู่เฉยนะครับ อย่าคิดว่าเป็นความผิดของกรมสรรพากรที่คืนภาษีให้เราเยอะเกินไปเอง เราต้องนำเงินไปคืนกรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถาม หากเราไม่นำส่งเงินคืนที่ได้รับเกินไปภายในกำหนดเวลา ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 แห่งประมวลแพ่งและพาณิชย์ โดยนับตั้งแต่วันที่เริ่มผิดนัด

และปีนี้ (จริงๆก็น่าจะทุกปีนะ) สรรพากรตรวจสอบเข้มมาก ถ้าจะจริงที่เคยมีคนบอก “วิกฤติโควิดทำให้คนมีเงินได้ลดลง ทำให้สรรพากรเก็บภาษีได้น้อยลง และรัฐบาลก็ใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาโควิดมาก พูดง่ายๆ รัฐบาลใช้เงินเยอะ แต่มีรายได้น้อยลง สรรพากรในฐานะหน่วยงานหารายได้ก็เลยมีภาระที่หนักมากขึ้นในการหาเงิน ก็เลยตรวจเข้มมาก ขอแนะนำให้รีบยื่นนะ อย่ารอวันสุดท้าย เพราะถ้าสรรพากรพบว่าเรายื่นภาษีไม่ครบ นอกจากเราต้องเสียภาษีเพิ่มเติมแล้ว เรายังต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5%/เดือนของภาษีที่ต้องยื่นเพิ่มด้วย และอาจโดนเบี้ยปรับอีก 1 – 2 เท่าด้วยนะ

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : เรื่องที่ลูกจ้างต้องรู้เมื่อออกจากงาน
ความจริงความคิด : ขายฝาก vs จำนอง
ความจริงความคิด : ผู้รับประโยชน์กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ “แตงโม”ความจริงความคิด : เศรษฐกิจดีขึ้น แต่เราก็อย่าประมาท
ความจริงความคิด : ความชัดเจน คือ พลัง
ความจริงความคิด : ซื้อประกันอย่างไร จ่ายเบี้ยประกันคุ้ม