ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เมื่อพูดถึงการลงทุน คนส่วนใหญ่มักจะโลกสวยมองแต่กำไรหรือผลตอบแทนจนลืมมองถึงความเสี่ยงไป อย่างเช่นข่าว ไฮโซสาวอุบลเปิด ‘บ้านออมเงิน’ หลอกเหยื่อนับร้อย ก่อนหอบเงินหนี เสียหายกว่า 500 ล้าน แม้จะเกิดมาหลายครั้ง แต่ก็ยังมีคนหลงเชื่อสูญเสียเงินหลายล้านบาท

หรืออย่างการลงทุนที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป อย่างเช่น bitcoin กองทุน หุ้น ฯลฯ คนส่วนใหญ่ก็มองแต่กำไรที่คาดว่าจะได้ ไม่มองถึงความเสี่ยงที่จะขาดทุนหรือเสียเงินแลย ทั้งที่จะได้กำไรหรือไม่เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้เลย อย่างเช่น เราไม่สามารถควบคุมราคาหุ้น ราคาทอง ราคาน้ำมัน ฯลฯ ได้ หรืออย่างที่เราทำธุรกิจ เราคาดหวังว่าเราจะได้กำไรจากการทำธุรกิจ แต่เราไม่สามารถควบคุมบังคับคนให้มาซื้อของเราได้

และที่สำคัญ คือ เรามีเงินทุนจำกัด หากลงทุนผิดพลาด ไม่เพียงแต่ข่าดทุนแต่เราจะพลาดโอกาสในการลงทุนอย่างอื่นที่ดี หรือที่จะมีเข้ามาในอนาคตได้ อย่างเช่น ตอนนี้มีหลายคนสนใจลงทุนในหุ้นกู้เอกชนกันเยอะมาก เพราะเห็นว่าได้ดอกเบี้ยเยอะ แต่ด้วยแนวโน้มดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้นในอนาคต การซื้อหุ้นกู้อายุยาวๆในวันนี้ จะทำให้เราพลาดโอกาสซื้อหุ้นกู้ดีๆ ดอกเบี้ยที่สูงกว่าปีนี้ได้ในอนาคต

แต่สิ่งที่เราสามารถบริหารจัดการได้ คือ การบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการลงทุน ขนาด Benjamin Graham อาจารย์ของ Warren Buffett กูรูการลงทุนของโลกยังเคยกล่าวไว้เลยว่า “ความสำเร็จในการบริหารการเงิน คือ การบริหารความเสี่ยง”

เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงมีเยอะแยะหลายอย่างไปหมด อย่างเช่น เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงของชีวิตเรา ก็คือ ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย
หากเป็นเรื่องการลงทุน เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน คือ การกระจายความเสี่ยง หากเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านสินทรัพย์ คือ การบริหารพอร์ตสินทรัพย์ การกระจายความเสี่ยงด้านจังหวะการลงทุน อย่างเช่น การทำ Dollar cost average (DCA) ทั้ง 2 เรื่องนี้สรุปรวมก็คือ การบริหารความเสี่ยงและเงินในการลงทุน ซึ่งทุกครั้งที่เราลงทุน เราต้องตัดสินใจใน 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. จะลงทุนหรือไม่ ถ้ะจะลงทุน เลือกลงทุนตัวไหน
2. ถ้าตัดสินใจลงทุน จะกำหนดจำนวนเงินสูงสุดที่จะเสี่ยงขาดทุนในการลงทุนแต่ละครั้งไว้เท่าไหร่
3. จะใช้เงินในการลงทุนแต่ละครั้งจำนวนเท่าไร
4. คำนวณจำนวนหุ้นที่จะลงทุนในแต่ละครั้ง

ขั้นตอนที่ 1 จะลงทุนหรือไม่
ความเสี่ยง = โอกาส * ขนาด คือ โอกาสที่จะมีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น กับ ขนาดของความเสียหายหากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น การลงทุนมีความเสี่ยง ทุกครั้งที่ลงทุน เราต้องดูโอกาสกำไรเทียบกับโอกาสที่จะขาดทุน (Win/Loss ratio) และต้องพิจารณาอีกว่า หากได้กำไรจะกำไรเท่าไหร่ หากขาดทุนจะขาดทุนเท่าไหร่ (Reward/Risk ratio) หากใครพบการลงทุนที่มี Win/Loss Ratio สูง ๆ ค่า Reward/Risk Ratio ก็อาจจะปรับลดลงก็ได้

อย่างเช่น การลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง Win/Loss Ratio จะสูง พูดง่ายๆ โอกาสเบี้ยวหนี้ต่ำ เราก็ยินดีที่จะรับดอกเบี้ยน้อยกว่าหุ้นกู้ที่เสี่ยงๆ แต่เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยง อย่างเช่น หุ้น ควรจะลงทุนต่อเมือค่า Reward/Risk Ratio ควรจะมากกว่า 2 ขึ้นไป เนื่องจาก โดยทั่วไป Win/Loss Ratio จะอยู่ประมาณ 40% +/- เท่านั้น คือ ลงทุน 10 ครั้ง กำไรประมาณ 4 ครั้ง ขาดทุนประมาณ 6 ครั้ง

ถ้าจะลงทุน เลือกลงทุนตัวไหนดี ก็ควรเลือกตัวที่มีโอกาสกำไรสูงๆโอกาสที่จะขาดทุนน้อยๆ และขนาดของกำไรที่คาดว่าจะได้ควรมากกว่าขนาดของการขาดทุนที่คาดว่าจะเจอ

ขั้นตอนที่ 2 ถ้าตัดสินใจลงทุน จะกำหนดจำนวนเงินสูงสุดที่จะเสี่ยงขาดทุนในการลงทุนแต่ละครั้งไว้เท่าไหร่

พูดง่ายๆ คือ เผื่อใจขาดทุนไว้เท่าไหร่ คล้ายๆกับปัจจุบันที่มีวัฒนธรรมวิบัติ คือ ยืมเงินเพื่อนแล้วไม่คืน ดังนั้นในยุคนี้หากเพื่อนขอยืมเงิน 20,000 บาทเราก็ต้องเผื่อใจที่เพื่อนจะไม่คืนเงิน เรารับได้แค่ไหน ถ้ารับได้แค่ 1,000 บาท ก็ให้เพื่อนยืมแค่ 1,000 พอ

การลงทุนแต่ละครั้งเราก็ควรมีการกำหนดว่าจะเสี่ยงขาดทุนสูงสุดเป็นจำนวนเงินเท่าไร ส่วนมากจะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์เทียบกับจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด เช่น ถ้ามีเงินลงทุน 500,000 บาท และถ้าเรากำหนดว่าจะเสี่ยงขาดทุนครั้งละไม่เกิน 2 % แปลว่าในการลงทุนแต่ละครั้งจะต้องขาดทุนไม่เกิน 10,000 บาท เป็นต้น

แล้วถ้าขาดทุนถึงระดับที่เราตั้งไว้ เราก็ต้องทำตามที่ตั้งไว้ คือ หยุดขาดทุน (Cut loss) นั้นเอง แต่ส่วนใหญ่ที่พวกเราทำกันกลับตรงข้าม คือ หยุดกำไร แต่ไม่หยุดขาดทุน ทำนองว่าไม่ขายไม่ขาดทุน สุดท้ายในพอร์ตเราจะมีแต่สีแดง เพราะที่สีเขียวๆ ขายออกไปหมดแล้ว เก็บไว้แต่ส่วนที่ขาดทุนสีแดงๆ
ขั้นตอนที่ 3 จะใช้เงินในการลงทุนแต่ละครั้งจำนวนเท่าไร

เพราะโลกนี้ไม่แน่นอน เราไม่สามารถคาดการณ์อะไรที่ถูกต้อง 100% ดังนั้น เราต้องเผื่อขาดทุนไว้บ้าง จะลงทุนอะไรก็ตาม ควรจะทยอยลงทุน วันนี้ซื้อได้ถูก พรุ่งนี้อาจถูกกว่า วันนี้อาจคิดว่าซื้อที่ตีนเขา พรุ่งนี้ตีนเขาของเราอาจเป็นยอดดอยก็ได้ ดังนั้นเราจึงต้องมีการจัดสรรเงินทุนสูงสุดในการลงทุนแต่ละครั้งด้วยเพื่อให้สามารถกระจายซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์ได้หลาย ๆ ตัว หรือ กระจายต้นทุน ดังนั้น สมมติว่าเรามีเงินลงทุน 500,000 บาท และต้องการกระจายความเสี่ยงในการในหุ้นทั้งหมด 10 ตัว หมายความว่าในการลงทุนแต่ละครั้งจะต้องใช้เงินลงทุนไม่เกิน 50,000 บาท สำคัญคือ หุ้นทั้ง 10 ตัวควรอยู่ในอุตสาหกรรมต่างกัน มีการเคลื่อนไหวของราคาต่างกัน เพื่อจะได้กระจายความเสี่ยงได้ดี ไม่ใช่ซื้อแต่กลุ่มที่เราชอบ เช่น ชอบกลุ่มธนาคาร ก็ซื้อ BBL, SCB, KBank, TTB, ฯลฯ เป็นต้น อย่างนี้ไม่กระจายความเสี่ยง

ขั้นตอนที่ 4 : คำนวณจำนวนหุ้นที่จะลงทุนในแต่ละครั้ง
ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงินลงทุน 500,000 บาท จะเสี่ยงขาดทุนครั้งละไม่เกิน 2% และจะใช้เงินในการลงทุนแต่ละครั้งไม่เกิน 10% ปัจจุบันกำลังสนใจซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ราคาปัจจุบัน 100 บาท เราคำนวณจุดที่จะตัดขาดทุนได้ที่ 90 บาท เราควรจะซื้อหุ้นครั้งนี้กี่หุ้น?

เงื่อนไขที่ 1 พิจารณาจากเงินที่จะเสี่ยงขาดทุนสูงสุดในแต่ละครั้ง เช่น ครั้งละไม่เกิน 2% ของเงินลงทุน 500,000 บาท = 10,000 บาท

ถ้าผลการลงทุนครั้งนี้ออกมาเป็นขาดทุน เราจะขาดทุนอยู่ที่ 10 บาทต่อหุ้น จาก ราคาตัดขาดทุน – ราคาต้นทุน คือ 90 – 100 = -10 บาท ต่อหุ้น
แต่เราไม่ต้องการเสี่ยงที่จะขาดทุนเกินครั้งละ 10,000 บาท ดังนั้นเราซื้อหุ้นได้ทั้งหมดไม่เกิน 10,000 / 10 = 1,000 หุ้น

เงื่อนไขที่ 2 พิจารณาจากเงินที่จะใช้ในการเทรดสูงสุดในแต่ละครั้ง : ใช้เงินซื้อหุ้นครั้งละไม่เกิน 10% ของ 500,000 บาท = 50,000 บาท
เงิน 50,000 บาท สามารถซื้อหุ้นที่ราคาหุ้นละ 100 บาทได้ทั้งหมด (จำนวนเงินที่จะซื้อหุ้น / ราคาหุ้น) คือ 50,000 / 100 = 500 หุ้น

สรุปจำนวนหุ้นที่จะเทรดในครั้งนี้ : จากทั้ง 2 เงื่อนไขรวมกันสรุปได้ว่าเราสามารถซื้อหุ้นทั้งหมด 500 หุ้น โดยติดเงื่อนไขที่ 2 เรื่องเงินที่ใช้ในการเทรดสูงสุดในแต่ละครั้ง โดยจะใช้เงินซื้อหุ้นทั้งหมด 500 x 100 = 50,000 บาท และมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนในการเทรดหุ้นครั้งนี้ คือ = 500 x 10 = 5,000 บาท

สรุป การบริหารความเสี่ยงและเงินในการลงทุนเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะทำเสมอไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในอะไรก็ตาม เพื่อเราจะได้สามารถอยู่รอดได้ และยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนได้ด้วย

 

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
ความจริงความคิด : กฎของเรือโนอาห์
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : “เจอ จ่าย จบ” ยังไม่ “จบ” ตอนที่ 1
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ
ความจริงความคิด : บันได 10 ขั้นสู่ความสุขในวัยเกษียณ (ตอนที่ 1 )
ความจริงความคิด : ขายฝาก vs จำนอง