ความจริงความคิด : “เจอ จ่าย จบ” ยังไม่ “จบ” ตอนที่ 1

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

แม้ว่าทุกวันนี้ ในแต่ละวันจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังอยู่ในหลักหมื่น ผู้เสียชีวิตยังเกินร้อย คนรอบตัวเป็นโควิดกันมากขึ้น แต่ความกลัว ความวิตกกังวลเรื่องโควิดจะเริ่มลดลง น่าจะเป็นเพราะ omicron ไม่ได้น่ากลัวเหมือน delta ประกอบกับพวกเราได้มีการฉีดวัคซีนกันมาก จึงทำให้มีความรู้สึกกับ omicron เหมือนโรคธรรมดาโรคหนึ่ง ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ มากมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ความมั่นใจในการใช้ชีวิตเพิ่มมากขึ้น ความหวังที่จะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิมมีมากขึ้น

สังเกตได้จากกิจกรรมทางสังคมเพิ่มมากขึ้น ที่เห็นได้ชัด คือ รถกลับมาติดเหมือนเดิมแล้ว รถไฟฟ้าก็แน่น ตลาดคนก็เดินเยอะ ก็หวังนะว่า น่าจะใช้ชีวิตแบบไม่ต้องใส่หน้ากากเข้าหากันในอีกไม่ช้า

แต่ยิ่งพวกเราใช้ชีวิตปกติมากเท่าไหร่ บริษัทประกันที่ยังมีกรมธรรม์ “เจอ จ่าย จบ” ที่ยังไม่ครบอายุกรมธรรม์ ก็ยิ่งกังวลมากขึ้นเท่านั้น เพราะมีผู้เอาประกันมาเคลมประกัน “เจอ จ่าย จบ” มากยิ่งขึ้น

ข้อมูลจาก คปภ. ณ วันที่ 15 มี.ค. 2565 กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 มีเบี้ยประกันรับทั้งระบบอยู่ที่ 11,000 ล้านบาทจำนวนผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความคุ้มครอง 42 ล้านคน ขณะที่ยอดเคลมสินไหมโควิดทั้งระบบอยู่ที่ 52,100 ล้านบาท โดยอัตราการเคลมประกันโควิดเดือน มี.ค.นี้ ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 5,000 ล้านบาทต่อเดือน สู่ระดับ 8,000 ล้านบาทต่อเดือน จากก่อนหน้านี้ในเดือน ม.ค. อยู่ที่ระดับ 4,000 ล้านบาท แล้วยิ่งช่วงวันหยุดยาว สงกรานต์ ก็น่าจะทำให้คนเคลมโควิดกันมากยิ่งขึ้นไปอีก

เมื่อมีคนเคลมเยอะ ปัญหาการเคลมสินไหมก็เกิดขึ้นทันที ซึ่งขอแยกเป็น 2 กรณี

1. ประวิงสินไหม

คือ กรณีผู้เอาประกัน “เจอ จ่าย จบ” ติดโควิด แต่บริษัทประกันจ่ายสินไหมล่าช้า ภาษาทางวิชาการเรียกว่า “ประวิงสินไหม” ”ประวิง” ตามราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง หน่วงไว้ให้เนิ่นช้า ถ่วงเวลา “ประวิงสินไหม” ตามมาตรา 36 พรบ. ประกันวินาศภัย 2535 “ห้ามมิให้บริษัทประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือ ประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่าย หรือ คืนแก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือจ่าย หรือคืนไปโดยไม่สุจริต” โดยการกระทำดังต่อไปนี้ถือเป็นการประวิงสินไหม เช่น

• ประกันไม่ยอมออกหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้มีอำนาจว่า ความเสียหายคิดเป็นเงินเท่าไหร่
• กรณีตกลงความเสียหายเป็นตัวเงิน ไม่กำหนดวันรับเงินแน่นอน หรือ กำหนดวันรับเงิน เกิน 15 วันนับตั้งแต่วันที่คู่กรณีได้ตกลงกัน
• กรณีตกลงความเสียหายเป็นอย่างอื่น ก็ไม่ระบุชัดเจน ว่าเป็นอะไร รับที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ หรือ กำหนดวันรับเกิน 15 วันนับตั้งแต่วันที่คู่กรณีได้ตกลงกัน
• สั่งจ่ายเช็ค แต่ไม่ระบุชื่อผู้รับชัดเจน หรือลงวันที่ล่วงหน้าเกินกว่าเวลาที่ควรจะเป็น (15 วัน)
• เช็คเด้ง
• หากมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ประกันไม่ทำตาม
• บริษัทไม่จ่ายสินไหม ทำให้ผู้เอาประกันไปร้องต่อ คปภ และ คปภ. ออกผลวินิจฉัย ต่อมาประกันก็ไม่ได้โต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษรใน 15 วันนับตั้งแต่ทราบผล และสุดท้ายยังไม่ยอมจ่ายอีก

โดยมาตรา 88 พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย ได้กำหนดโทษปรับบริษัทประกันกรณีประวิงสินไหมไว้ที่ 5 แสนบาท และถ้ายังมีการกระทำผิดต่อเนื่องต้องปรับไม่เกินวันละ 20,000 บาท

เรื่องการจ่ายสินไหมล่าช้านี้ ทาง คปภ.เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ออกคำสั่งเพื่อแก้ปัญหาการเคลมล่าช้า โดยมีผลตั้งแต่ 1 ก.ย.ปีที่ผ่านมา กำหนดให้บริษัทที่มีปัญหาเรียกร้องการจ่ายเคลมตั้งแต่ 100 เรื่องขึ้นไป ต้องจัดตั้งหน่วยงานรับเรื่องเรียกร้องเคลมโควิดขึ้นมา และกำหนดให้ตรวจสอบเอกสารเรียกร้องค่าสินไหมให้เสร็จใน 3 วัน หากเอกสารครบถ้วนต้องจ่ายเคลมภายใน 15 วัน แต่ถ้าไม่ครบต้องรีบแจ้งผู้เอาประกันภัยภายในเดียวกับที่ตรวจ และให้จ่ายหลังจากนั้นภายใน 15 วันหลังยื่นเอกสารแล้ว

ส่วนในกรณีมีปัญหาการตีความและหาข้อยุติไม่ได้ ให้บริษัทประกันเสนอความเห็นต่อ คปภ. ภายใน 7 วัน รวมถึงรายงานผลทุก 15 วัน ซึ่ง คปภ.ได้ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ 4 ชุด มาช่วยพิจารณาประกันในส่วนเจอจ่ายจบ ค่าชดเชยรายวัน ค่ารักษาพยาบาล และอื่นๆ เป็นการเฉพาะ รวมถึงหากพบล่าช้าจนเข้าข่ายประวิงเวลาก็จะใช้กฎหมายดำเนินการต่อไป

ซึ่งมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2549 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 20,000 บาท

เรื่อง “ประวิงสินไหม” เป็นกรณีปัญหาการจ่ายสินไหมล่าช้าของบริษัทประกันที่ยังดำเนินกิจการอยู่ ส่วนเรื่องต่อไปที่จะคุยก็คือ “การเรียกร้องสินไหม” กรณีบริษัทประกันถูกเพิกถอนใบอนุญาต ไว้คุยกันครั้งหน้าครับ

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ
ความจริงความคิด : บันได 10 ขั้นสู่ความสุขในวัยเกษียณ (ตอนที่ 1 )
ความจริงความคิด : โกงภาษี ผิดกฎหมายฟอกเงิน
ความจริงความคิด : เรื่องที่ลูกจ้างต้องรู้เมื่อออกจากงาน
ความจริงความคิด : ขายฝาก vs จำนอง
ความจริงความคิด : วัฏจักรเศรษฐกิจกับการลงทุน
ความจริงความคิด : ผู้รับประโยชน์กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ “แตงโม”ความจริงความคิด : เศรษฐกิจดีขึ้น แต่เราก็อย่าประมาท