ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน


โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

 
 
ตอนเริ่มลงทุนใหม่ๆ คำถามนึงที่เกิดขึ้นในใจเสมอ ไม่ว่าตอนนั้นจะกำไร หรือ ขาดทุน สงสัยจริงๆที่เราเล่นหุ้นอยู่นั้น เรากำลังลงทุนหรือเล่นการพนันกันแน่ เลยต้องไปค้นหาดูเลยว่าการลงทุน ต่างกับ การพนัน ตรงไหน

การพนัน หมายถึง การเล่นชนิดหนึ่งเพื่อเอาเงินหรือสิ่งอื่นใดด้วยการเสี่ยงโชค โดยการทำนายหรือคาดเดาผลที่เกิดขึ้นในอนาคต

การลงทุน หมายถึง การจัดสรรเงินเพื่อคาดหวังผลประโยชน์ในอนาคต ผลประโยชน์ทางการเงินเรียกว่า ผลตอบแทน

อ่านๆดู ทั้งการลงทุนและการพนันเหมือนกัน คือ

เป็นเรื่องคาดการณ์ผลลัพธ์ในอนาคต ทั้งการลงทุนและการพนัน เราก็มีวิธีในการคาดการณ์ผลตอบแทนเหมือนกัน อย่างเช่น โอกาสจะถูกรางวัลล็อตเตอรี่มีเท่าไหร่ หรือการคำนวณหาผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนในหุ้นปีนี้เท่ากับเท่าไหร่

มีความเสี่ยงอาจกำไรหรือขาดทุนก็ได้ ทั้งการลงทุนและการพนัน เราอาจเป็นฝ่ายกำไรหรือขาดทุนได้ทั้งนั้น หลายคนอาจแย้งว่า การพนันเราสามารถรู้ว่าถ้าเราชนะ เราจะได้เงินเท่าไหร่ อย่างเช่น ถูกรางวัลที่ 4 ได้เท่านี้บาท ถูกรางวัลที่ 1 ได้เท่านี้บาท แต่การลงทุนเราไม่สามารถระบุได้แน่นอนว่า ถ้าเราได้เราจะได้กี่บาท อย่างเช่น เวลาเราซื้อหุ้น นอกจากเราไม่สามารถรู้ว่าหุ้นจะขึ้นหรือลงแล้ว เรายังไม่รู้หุ้นจะขึ้นไปถึงเท่าไหร่ ซึ่งก็จริงแต่ก็มีการลงทุนหลายอย่างที่เรารู้ผลตอบแทนที่แน่นอน อย่างเช่น การลงทุนในตราสารหนี้ เป็นต้น

ถ้างั้นการลงทุน กับ การพนัน จริงๆแล้ว ต่างกันยังไง ตามความคิดของผม การลงทุน ควรจะเป็นกิจกรรมที่ดำเนินด้วยความรู้ ข้อมูล สติ วินัยที่มากกว่าและระยะเวลาการลงทุนที่นานกว่าการพนัน

การลงทุน หรือ การพนัน ไม่เกี่ยวกับสถานที่ หรือ สิ่งที่จะลงทุนหรือพนัน ต่อให้เรากำลังเล่นหุ้นอยู่ แต่ถ้าเล่นด้วยการเก็งกำไร ด้วยความเชื่อไม่ใช่ด้วยความรู้ ด้วยข้อมูล การเล่นหุ้นของเราตอนนั้นก็คือ การพนัน ครับ

และเมื่อเราเอาการพนันมาใช้กับการลงทุน หลายๆครั้ง เราจึงเจ็บตัว สูญเสียเงินลงทุน หรือถึงกับล้มละลายก็เพราะเรากำลังพนันอยู่นั่นเอง

ตัวอย่างหนึ่งที่ทำไห้หลายคนเจ็บตัวกันมากจากการพนันในการลงทุน ก็คือ เสียแล้วอยากได้คืน พฤติกรรมนี้ทางฝรั่งเรียกว่า Trying-to-Break-Even Effect (ความพยายามเอาทุนคืน) โดยเฉพาะช่วงเริ่มๆของการขาดทุน บางคนอาจจะแย้งว่าไม่จริงเสมอไป เพราะเห็นบางคนขาดทุนแล้วเข็ดการลงทุนนั้นไปเลยก็มี

ตัวอย่างเช่น หลายคนที่เจ็บตัวจากหุ้นตอนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ก็เข็ดไม่กล้าเล่นหุ้นอีก หรือหลายคนที่เจ็บตัวกับหุ้นกู้ที่เบี้ยวหนี้จากการลงทุนในกองทุนแบบ AI ก็เข็ดไม่กล้าลงทุนในหุ้นกู้เสี่ยงสูงหรือกองทุนแบบ AI อีกเลย พฤติกรรมอย่างนี้ ก็คือ เสียแล้วเข็ด ทางฝรั่งเรียกว่า Snake-Bite Effect (ความกลัวจากการเคยขาดทุน เหมือนกลัวงู เพราะเคยถูกงูกัดมาก่อน)

จริงๆแล้ว คนเราสามารถตอบสนองได้ทั้ง 2 แบบขึ้นอยู่กับความสามารถและความชอบในการรับความเสี่ยง เหมือนคนที่ชอบขับมอเตอร์ไซค์ซิ่ง ล้มบ้างเจ็บบ้างก็ยังชอบขับอยู่เหมือนเดิม บางคนแค่มอเตอร์ไซค์เซๆยังไม่ล้มด้วยซ้ำ ไม่กล้าขับอีกล่ะ

คนที่มีพฤติกรรม Snake – Bite Effect มักเป็นคนที่ไม่ชอบเสี่ยง ไม่ชอบลงทุนอะไรที่เสี่ยงมากๆ ชอบอะไรที่ชัวร์ๆ อย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนที่ดีๆ เป็นต้น พวกนี้จึงไม่ค่อยมีปัญหาเอาการพนันมาใช้ในการลงทุน

แต่พวกที่มีพฤติกรรม เสียแล้วอยากได้คืน (Trying-to-Break-Even Effect) นี่สิที่มักมีปัญหาเอาการพนันมาใช้ในการลงทุน

วิธีนึงที่ชอบใช้ในการเอาทุนคืน คือเบิ้ลหรือทบเงินลงทุนทุกครั้งที่เสียเพื่อที่จะเอาทุนคืน วิธีนี้ ฝรั่งเรียกว่า Martingale theory ตัวอย่างเช่น

– หากลงทุน 100 แล้วเสียจะเพิ่มในการลงทุนครั้งต่อไปเป็น 200
– หากลงทุน 200 แล้วเสียจะเพิ่มในการลงทุนครั้งต่อไปเป็น 400
– หากลงทุน 400 แล้วเสียจะเพิ่มในการลงทุนครั้งต่อไปเป็น 800
– คือนักลงทุนมีแนวคิดว่าขอชนะแค่ครั้งเดียวก็จะสามารถเรียกการขาดทุนที่ผ่านมาคืนได้หมดบวกกำไรอีก 1 หน่วย (จำนวนเงินลงทุน อย่างเช่น ลงทุน 100 บาท ถ้าได้จะได้กำไร 100 บาท เป็นต้น

วิธีนี้นักพนันหลายคนบอกว่าเป็นวิธีพนันที่ไม่มีทางแพ้ เพราะเค้าเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะแพ้ตลอด ต้องมีวันชนะบ้างล่ะ ขอชนะแค่ครั้งเดียวก็พอ นอกจากคืนทุนแล้วยังได้กำไรอีกด้วย ไม่รู้ว่าคนที่ชอบซื้อหวยหรือล็อตเตอรี่ทุกงวดคิดอย่างนี้ด้วยเปล่า เห็นคนข้างบ้านขนาดเงินจะกินยังไม่ค่อยมี แต่มีเงินซื้อล็อตเตอรี่ทุกงวด และไม่เคยเห็นถูกซักงวดเลย

คิดๆดูมันก็น่าจะจริงอย่างที่นักพนันคิดกันนะ ใครมันจะแพ้ได้ตลอดชาติอย่างนั้น แล้ววิธีนี้มันได้กำไรมากอย่างนั้นจริงรึเปล่า เรามาดูตัวอย่างจากการเล่นบาคาร่ากัน
วิธีนี้ใช้กัน การเล่นบาคาร่า โดยจะมีให้เราเลือกเล่นทั้งสองฝั่ง คือ Banker และ Player

ถ้าเราเริ่มต้นแทง Banker ด้วยเงิน 100 บาท และถ้าเราเสียทุกครั้ง เราก็จะเพิ่มหน้าตักในการเล่นอีกเท่าตัว
แทงครั้งแรก 100 บาท …เสีย
แทงครั้งที่สอง 200 บาท …เสีย
แทงครั้งที่สาม 400 บาท …เสีย
แทงครั้งที่สี่ 800 บาท …เสีย
แทงครั้งที่ห้า 1600 บาท …ได้ …เย้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ได้กำไร 1600 บาท

เฮ้ย! อย่าเพิ่งดีใจ ใจเย็นๆก่อน เราแทงทั้งหมด 5 ครั้ง เราเสียเงินไปแล้วทั้งหมด 4 ครั้งเป็นเงิน100+200+400+800 รวมเท่ากับ1500 บาท เราเพิ่งแทงได้ในครั้งที่ 5 จากเงินที่เราแทง 1600 บาท และเราก็ได้กำไรมา 1600 บาท แต่เมื่อหักขาดทุนที่ผ่านมา 1500 บาท เท่ากับ เราได้กำไรมาทั้งหมดแค่ 100 บาท จากการแทงทั้งหมด 5 ครั้ง

และสังเกตให้ดี การเล่นแบบ Martingale theory นี้ เราจะเบิ้ลเงินเรื่อยๆในทุกๆครั้ง ปัญหาคือ แล้วเมื่อไหร่โชคถึงจะเป็นของเรา และเรามีเงินมากพอที่จะเบิ้ล 2 เท่าตลอดได้ไกลแค่ไหน ไกลพอที่โชคจะเป็นของเรา หรือ เงินหมดก่อนโชคมา

งั้นเราดูว่าความน่าจะเป็นที่จะแพ้กันดีกว่าว่าเราโอกาสแพ้ต่อเนื่องประมาณกี่ครับ

จากตาราง เรามีโอกาสที่จะแพ้ต่อเนื่อง 16 ครั้ง 50/50 คือครึ่งๆ

งั้นเรามาเงินหน้าตักเรานะว่ามีพอรึเปล่าทีจะทนเสียต่อเนื่องได้ 16 ครั้ง สมมติเราเริ่มต้นด้วยเงิน 1000 บาท แพ้ต่อเนื่อง 16 ครั้ง เราจะเสียเงินทั้งสิ้นกี่บาท?

เราอาจต้องเสียเงินถึง 65.5 ล้านบาท แม่เจ้า! นี่แหละครับที่การมุ่งเอาทุนคืนกลับเป็นตัวเร่งให้เราเสียเงินมากขึ้น ผมเคยเจอบางคนที่เพิ่งได้มรดกจากพ่อเป็นปั๊มน้ำมัน แต่เพียงคืนเดียวก็เสียปั๊มน้ำมันไป

เพราะฉะนั้น หากไม่อยากหมดตัว ก็อย่าใช้วิธีนี้เลยนะครับ ถ้าอยากได้ทุนคืน ผมมองวิธีพื้นฐานสุดๆครับ คือ ลงทุนด้วยความรู้ ข้อมูล วินัย สติ ถ้าไม่มีก็ให้มืออาชีพเค้าเล่นให้ด้วยการลงทุนผ่านกองทุนรวมเถอะครับ

แต่สำหรับคนที่ยังชอบหวือหวา ชอบตื่นเต้น และยังอยากใช้วิธีนี้ ก็คือ เมื่อกำไรให้หยุดทันทีครับ

 
 
 
 

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : กฎของเรือโนอาห์
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : “เจอ จ่าย จบ” ยังไม่ “จบ” ตอนที่ 1
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ
ความจริงความคิด : บันได 10 ขั้นสู่ความสุขในวัยเกษียณ (ตอนที่ 1 )
ความจริงความคิด : ขายฝาก vs จำนอง