ความจริงความคิด : 600,000 ปล่อยกูไปตามทางของกูเถอะ

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ข่าว “UrboyTJ” โวยค่ารักษา “ซึมเศร้า-ไบโพลาร์” แพงมากถึง 600,000 บาท จนต้องออกมาตัดพ้อผ่านไอจีสตอรี่

“ค่ารักษาพยาบาล 6 แสน ไม่ต้องรักษากูก็ได้นะ ถ้าจะแพงขนาดนี้ สั*นรก”
และต่อด้วยสตอรี่อีกหนึ่งอันว่า “ปล่อยกูไปตามทางของกูเถอะ”

อ่านคอมเม้นท์เกี่ยวกับข่าวนี้ ก็มีความเห็นที่หลากหลาย บางคนก็ให้ความเห็นว่าโรงพยาบาลเอกชนว่าค้ากำไรเกินควร บางคนก็บอกว่า ตอนเข้าโรงพยาบาลเอกชนก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าค่ารักษาพยาบาลแพง ดังนั้นไม่ควรมาบ่นออกสื่อ

สำหรับผมแล้วข่าวนี้เป็นอีกข่าวหนึ่งที่สะท้อนถึงปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่ระบบการรักษาพยาบาลยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ไม่ว่าการจะต้องไปรอพบแพทย์เสียเวลาเป็นวัน การรอห้อง หรือ คุณภาพของยาที่ได้รับ ทำให้หลายคนต้องยอมเสียเงินแพงๆเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชน

หากจะถามว่ารู้มั๊ยว่าค่ารักษาพยาบาลแพง รู้นะ แต่ทำไมถึงยอมจ่ายแพง อยากให้ลองคิดดูนะ หากคนที่ป่วยเป็นตัวเราเอง เราก็คงเข้าโรงพยาบาลรัฐ ยอมทนรอ ยอมนอนห้องรวม เพื่อบริหารค่าใช้จ่าย แต่หากคนที่ป่วยเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมาก สุขภาพไม่แข็งแรง หรือเป็นลูกที่ยังเด็กอยู่ เราก็คงเลือกเข้าโรงพยาบาลเอกชน เพราะชีวิตของคนที่เรารักสำคัญกว่าเงินมากมาย

แต่โรงพยาบาลเอกชนก็ไม่ควรคิดค่ารักษาพยาบาลแพงจนเกินเหตุ เพราะเงินที่มาจ่ายค่ารักษาพยาบาลอาจต้องแลกด้วยอนาคตการศึกษาของเด็ก หรือ ชีวิตวัยเกษียณที่มีความสุขของคนอีกหลายคน ฯลฯ ไม่เพียงค่ารักษาพยาบาลจะแพงมากเท่านั้น ยังแพงขึ้นเร็วมากด้วย อัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 ประมาณ 9.2% เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นของค่ารักษาพยาบาลที่สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเฉลี่ยของทุกประเทศทั่วโลก รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในหลาย ๆ หลายประเทศ

เอาง่ายๆที่อัตราเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลที่ 9.2% นี้ ค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้น 2 เท่าทุก 8 ปีเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างเช่น หากวันนี้เป็นมะเร็ง ต้องใช้ค่ารักษา 7 ล้านบาท (ญาติของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเพิ่งเสียชีวิตด้วยมะเร็ง หมดค่ารักษาพยาบาล 7 ล้านบาท) หากเป็นมะเร็งในอีก 8 ปีข้างหน้า จะต้องเตรียมเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลถึง 14 ล้านบาท

หลายคนแนะนำให้ทำประกันสุขภาพเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย แม้จะเป็นทางออกที่ดีแต่หากต้องการให้ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลได้หมด ค่าเบี้ยประกันเบี้ยประกันสุขภาพก็แพงมาก แถมเบี้ยประกันสุขภาพก็แพงขึ้นเรื่อยๆตามอายุเช่นกัน

และยิ่งในปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมคนสูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือ มีคนอายุเกิน 60 ปีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ เรื่องปัญหาสุขภาพยิ่งสำคัญ ข้อมูลองค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2559 พบว่าชายไทยจะมีช่วงอายุขัยที่มีปัญหาสุขภาพประมาณ 7.8 ปี ส่วนหญิงไทยจะมีช่วงอายุขัยที่มีปัญหาสุขภาพประมาณ 9.5 ปี (ตามตาราง) ช่วงเวลาเหล่านี้มักจะเป็นช่วงบั้นปลายชีวิตที่ไม่มีรายได้ แต่กลับป่วย และต้องเจอค่ารักษาพยาบาลที่แพง และรักษานาน เราจะหาเงินที่ไหนมากพอที่จะรองรับค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้น

ผมดีใจที่ปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงได้รับความสนใจจากภาครัฐและองค์กรต่างๆ อาทิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฯลฯ จนได้มีการออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2562 เรื่อง การกำหนดราคาสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 22 ม.ค.2562 โดยข้อ 3 (13) (14) และ (50) กำหนดให้ยารักษาโรค เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรครวมทั้งบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค เป็นสินค้าและบริการควบคุม

แต่ปรากฏว่า สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน ต่อศาลปกครองสูงสุด และขอให้ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม โดยเฉพาะการควมคุมราคายา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล รวมทั้งมีคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าวนั้น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562

ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ สมาคมโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ร่วมกันฟ้องคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมว.พณ.) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน ดังกล่าว

ก็หวังว่าต่อไปเราก็คงได้เห็นโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม ราคาเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายมีข้อตกลงร่วมกัน มีความเห็นชอบร่วมกัน ทั้งในส่วนของผู้บริโภค ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล เพิ่มเติมจากการที่เราสามารถตรวจสอบราคายาตามมาตรการควบคุมราคาและเงื่อนไขยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล

ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 87 พ.ศ.2562 เรื่องการแจ้งราคาการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์และบริการอื่นของสถานพยาบาล ที่กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนต้องแจ้งข้อมูลราคาซื้อ ราคาจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ และค่าบริการรักษาพยาบาลฯ ทั้งนี้ หากโรงพยาบาลไม่ปฏิบัติตามประกาศ กกร. ฉบับที่ 87 มีโทษ ดังนี้

มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ไม่แจ้งราคาซื้อ ราคาจำหน่ายตามประกาศ กกร. มีบทลงโทษคือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ปรับเพิ่มวันละ 2,000 บาท
• มาตรา 25 (3) ไม่แสดง OR Code ไม่ประเมินค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น ไม่ออกใบสั่งยา และใบแจ้งราคายา มีบทลงโทษคือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
มาตรา 29 จำหน่ายราคาสูงเกินสมควร มีบทลงโทษคือ จำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท

ทั้งนี้ ระบบค้นหาและเปรียบเทียบราคายาในโรงพยาบาลเอกชน โดยรายการยาในระบบดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้

1. เป็นรายการยาที่โรงพยาบาลเอกชนแจ้งกับกรมการค้าภายใน ตามประกาศคณะกรรมการ ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 87 พ.ศ.2562 เรื่องการแจ้งราคา การกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายยารักษาโรค เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาล

2. รายการยาครอบคลุมตามรายการที่อยู่ในบัญชีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage Emergency Patients: UCEP) และที่มีปริมาณการจำหน่ายสูงสุด 100 รายการแรกของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีการใช้ยารักษาคนไข้แตกต่างกันไป ดังนั้น ยาบางรายการอาจไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบค้นหาและเปรียบเทียบนี้

เราสามารถค้นหาและเปรียบเทียบราคายาในโรงพยาบาลเอกชนได้ที่นี่ https://hospitals.dit.go.th/app/drug_price_search.php

 

 

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : ภาษีลาภลอย
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน
ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : “เจอ จ่าย จบ” ยังไม่ “จบ” ตอนที่ 1
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ