HoonSmart.com>>ส.อ.ท.เผยสหรัฐฯขึ้นภาษี 36% คาดอุตฯไทยเสียหาย 8-9 แสนล้านบาท ชงเปิดนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อาวุธ เครื่องบินรบ ลดผลกระทบ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (4 เม.ย.2568) ได้มีการเรียกประชุมด่วนทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อระดมสมองหามาตรการต่างๆ หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งไทยถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 36% มากกว่าที่ภาครัฐและเอกชนคาดการณ์ไว้เกือบ 3 เท่าตัว คาดมูลค่าเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าว ราว 8-9 แสนล้านบาท
กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ยานยนต์ อาหาร พลาสติก และเคมีภัณฑ์ เนื่องจากอัตราภาษีที่สูงขึ้นทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่ง
อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งถูกเก็บภาษีในอัตรา 25% ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของบริษัทแม่ในการย้ายฐานการผลิต ขณะที่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มากกว่ารถยนต์ อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศคู่แข่ง
อุตสาหกรรมอาหาร ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอาหารแปรรูปและสินค้าประมง เช่น ปลาทูน่าและกุ้งแปรรูป ซึ่งเดิมมีอัตราภาษี 0% แต่ถูกปรับขึ้นเป็น 36% ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
อุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งมีมูลค่าธุรกิจระหว่าง 5-6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็กำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก หากอัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 36% อาจทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและสูญเสียส่วนแบ่งตลาด
อุตสาหกรรมเคมี มีมูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 11% ของทั้งหมด ซึ่งอาจลดลงหากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไป
อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน โดยมูลค่าการค้าลดลงจาก 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อุตสาหกรรมสิ่งทอ อาจต้องชะลอการผลิตและการส่งออก เนื่องจากผู้ซื้อต่างประเทศอาจปฏิเสธรับมอบสินค้าไทยเพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้าสูง ในทางกลับกัน
อุตสาหกรรมรองเท้า อาจได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้ เนื่องจากประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามและกัมพูชา ถูกเก็บภาษีสูงกว่า ทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ ได้ดีขึ้น
ในขณะเดียวกัน กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและกลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ก็ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากถูกเก็บภาษี 25% ตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สูงขึ้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อาจต้องเผชิญกับการคำสั่งซื้อที่ลดลงของคำสั่งซื้อและความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล เนื่องจากคู่แข่งจากประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำกว่ายังคงสามารถรักษาต้นทุนที่ต่ำกว่าได้
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ภาครัฐและเอกชนได้เตรียมรับมือนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว เพื่อพิจารณาแลกเปลี่ยนสินค้าต่อรองกับสหรัฐฯ
เบื้องต้นมีกรอบสินค้าเกษตรหลายตัวที่จะเปิดให้มีการนำเข้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสินค้าหนัก อาทิ อาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องบินรบ โดรน เป็นต้น
ดังนั้นภาครัฐต้องเร่งเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ อย่างเร่งด่วน ไม่ใช่แค่ลดการเกินดุลการค้าสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ต้องเร่งแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาและต้องออกมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศเหมือนเช่นปัจจุบัน