ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ


โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ปัญหาความไม่รู้และไม่เข้าใจของผู้ประกันตน เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในกองทุนประกันสังคมยังคงมีอยู่ตลอดเวลา จากคำถามที่ว่า “เกษียณแล้วได้อะไรจากกองทุนประกันสังคม” เพื่อให้ผู้ประกันตนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง ลองดูกรณีตัวอย่างคำถาม-คำตอบดังต่อไปนี้…

นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง หรือ จ่ายค่าจ้างแต่ไม่ส่งเงินสมทบประกันสังคม ถือว่า ลูกจ้างขาดส่งเงินประกันสังคม ใช่หรือไม่
ตอบ ไม่ใช่ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๔๗

วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้นายจ้างหักค่าจ้างของผู้ประกันตนตามมาตรา ๔๖ และให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วตั้งแต่ วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้าง”
วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้นายจ้างนำเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่ได้หักไว้ ตามวรรคหนึ่ง และเงินสมทบในส่วนของนายจ้างส่งให้แก่สำนักงานภายในวันที่ ๑๕ ของเดือนถัดไปจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้…”
วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้านายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามกำหนดเวลาที่ต้องจ่าย ให้นายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง โดยถือเสมือนว่ามีการจ่ายค่าจ้างแล้ว”

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้นายจ้างหักค่าจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของ ผู้ประกันตน จึงต้องแปลความหมายของบทบัญญัติทั้งสามวรรคไปในทำนองเดียวกัน

• วรรคหนึ่ง เป็นกรณี นายจ้างจ่ายค่าจ้าง บทบัญญัติดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้ว โดยไม่คำนึงว่านายจ้างได้หักค่าจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนจริงหรือไม่
• วรรคสาม เป็นกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง บทบัญญัติดังกล่าวให้ถือเสมือนว่านายจ้างได้จ่ายค่าจ้างแล้ว แม้ไม่ได้บัญญัติให้ถือว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้วก็ตาม แต่เมื่อนายจ้างมีหน้าที่หักค่าจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตน โดยไม่คำนึงว่านายจ้างได้หักค่าจ้างนำส่งเป็นเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนจริงหรือไม่ และการแปลความซึ่งต้องให้สอดคล้องกับ บทบัญญัติวรรคหนึ่ง จึงถือได้ว่าผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบแล้ว

สรุป ก็คือ เมื่อเราทำงานไม่ว่านายจ้างจะจ่ายค่าจ้างเราหรือไม่ หรือนายจ้างจ่ายค่าจ้างแต่ไม่ได้ส่งเงินสมทบประกันสังคม ตามกฎหมายก็ถือว่านายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้เราตามระยะเวลาที่เราทำงาน ดังนั้น หากเราทำงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน เราก็มีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคม ส่วนเรื่องที่นายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคมเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับกองทุนประกันสังคมครับ โดยกรณีนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคม มีความผิดดังนี้

• นายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้กับลูกจ้าง นายจ้างจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
• นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมล่าช้า เกินวันที่ 15 ของเดือนถัดไป นับจากเดือนที่จ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้าง จะต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน นับจากวันที่ครบกำหนด ยกตัวอย่างเช่น ค่าจ้างงวดเดือนมีนาคม นายจ้างจะต้องหักเงินสมทบและนำส่งประกันสังคมภายในวันที่ 15 เมษายน แต่นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมในวันที่ 30 เมษายน ดังนั้นนายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 เป็นเวลา 15 วัน (ครึ่งเดือน)
• นายจ้างจ่ายเงินสมทบประกันสังคมไม่ครบถ้วน จะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของเงินสมทบที่จ่ายขาด

เมื่อออกจากมาตรา 33 แล้ว ขอรับเงินบำนาญเลย ต่อมาเดือนที่ 5 นับตั้งแต่ออกจากมาตรา 33 จึงสมัครเป็นมาตรา 39 และเมื่อลาออกจากมาตรา 39 จะได้รับเงินบำนาญคุ้มค่ากว่า ใช่หรือไม่

ตอบ ใช่ เหตุที่เงินบำนาญคุ้มค่ากว่า เพราะการคำนวณเงินบำนาญจะใช้ฐานค่าจ้างมาตรา 33 กล่าวคือ

ถ้าออกจากมาตรา 33 แล้ว ต้องยื่นขอรับเงินบำนาญก่อน ซึ่งจะได้รับเงินบำนาญจากการคำนวณจากฐานค่าจ้าง มาตรา 33 คือ ฐานค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาท จากนั้นเมื่อสมัครเป็นมาตรา 39 และเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 จะถูกงดจ่ายเงินบำนาญ และต่อมาหากลาออกจากมาตรา 39 จะคำนวณเงินบำนาญจากฐานค่าจ้างมาตรา 33 (เดิม คือ 15,000 บาท) ไม่ใช่ฐานค่าจ้าง มาตรา 39 (4,800 บาท) และอัตราที่จะนำมาคำนวณเงินบำนาญเพิ่มขึ้น 1.5% ของทุกๆ การจ่ายเงิน 12 งวดเดือน (ติดต่อกัน)

ถ้าอายุครบ 60 ปี ออกจากบริษัทหนึ่งไปทำงานต่ออีกบริษัทหนึ่ง สามารถเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ต่อได้หรือไม่

ตอบ ไม่มีสิทธิเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แต่จะต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เนื่องจากกฎหมายประกันสังคม มาตรา 33 กำหนดคุณสมบัติในเรื่องอายุของการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ไว้ว่า ให้ลูกจ้าง ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์ และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์เป็นผู้ประกันตน (วรรคหนึ่ง) ดังนั้น กรณีที่ลูกจ้างออกจากบริษัท ถือว่าสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงานหรือสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างจากนายจ้างเดิม เมื่อได้ตกลงเป็นลูกจ้างกับนายจ้างใหม่หรือแม้ว่าจะเป็นนายจ้างเดิมแต่เป็นการตกลงจ้างใหม่ (เช่น ไม่ได้นับอายุงานต่อเนื่องเพื่อคำนวณค่าชดเชย) จึงไม่อาจเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ได้

แต่หากเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ต่อเนื่องกับนายจ้างเดิม (โดยไม่ได้สิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงาน) แม้ว่าอายุจะมากกว่า 60 ปีบริบูรณ์ บุคคลดังกล่าวนี้จะยังคงเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ต่อไป เพราะมาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติว่า ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนอยู่แล้วตามวรรคหนึ่ง เมื่อมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์และยังเป็นลูกจ้างของนายจ้างซึ่งอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตนต่อไป

บริษัทกำหนดอายุเกษียณ 55 ปี แต่จ้างต่อถึง 62 ปี พนักงานยังคงเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ถูกต้องหรือไม่ และถ้าบริษัทกำหนดเกษียณอายุ 60 ปี แต่จ้างต่อถึง 62 พนักงานยังคงเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ถูกต้องหรือไม่

ตอบ ลูกจ้างที่เกษียณอายุ 55 ปี ถ้านายจ้างตกลงจ้างต่อไป จะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ต่อไป เพราะขณะเกษียณยังมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 (อายุน้อยกว่า 60 ปีบริบูรณ์) จนกว่าจะเลิกจ้าง (อายุ 62 ปี) ซึ่งต่างกับกรณีที่บริษัทกำหนดเกษียณ 60 ปี และจ้างต่อถึงอายุ 62 ปี กรณีนี้หากเกษียณ 60 ปี และนายจ้างคำนวณจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง การจ้างต่อถือว่าเป็นการจ้างใหม่ ตามกฎหมายประกันสังคม มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ถือว่าพนักงานไม่มีสิทธิเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 แต่ต้องเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากบทความ “เกษียณอายุ…ผู้ประกันตน คำถามและคำตอบที่ควรรู้?” วารสาร HR Society Magazine ปีที่ 20 ฉบับที่ 229 เดือนกุมภาพันธ์ 2565