HoonSmart.com>>นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ชี้การแลกเปลี่ยนข้อมูล ช่วยปลดล็อกศักยภาพธุรกิจ เพิ่มความรวดเร็วด้านบริการ ประชาชนได้เบี้ยตรงความเสี่ยง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารค่ารักษาพยาบาล
นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวในงานเปิดตัว”โครงการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลภายในอุตสาหกรรมประกันภัย (Open Insurance)ว่า การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันในวันนี้ที่ถึงยุค Open Insurance จากเดิมที่ทำ อินชัวรันส์เครดิตบูโร (IBS) ที่ใช้ระบบ API เชื่อมโยง ทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ที่วันนี้ทำได้จริงและเห็นแสงสว่างจริงๆ
ธุรกิจประกันชีวิต มีข้อมูลที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา และสัญญาระยะยาว ข้อมูลจำนวนมากต้องอยู่กับบริษัทประกันชีวิตยาวนานมาก ซึ่งการเก็บข้อมูลในรูปของ IBS ก็ดี แต่ด้วยข้อมูลที่มีการปรับเปลี่ยน เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา การเชื่อม API จะทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน มีความผิดพลาดน้อย และคปภ.ไม่เป็นภาระจากการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่
การจะทำให้ Open Insurance เกิดความสำเร็จ ต้องทำให้ทุกภาคส่วนเห็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น ถ้าข้อมูลที่ส่งไปที่ฐานข้อมูล IBS และสามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกกฎหมาย ไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล หรือกฎหมาย PDPA ก็จะนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคควรได้ประโยชน์ด้วย จากการที่สามารถอนุมัติรับประกันได้เร็วขึ้น
ถ้ามีประวัติที่สะอาด เพราะ Open Insurance จะทำให้มองเห็นข้อมูล ตรงกับความต้องการของคนเจนวาย ที่ต้องการได้รับการตอบสนองเร็ว ซึ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้สนใจทำประกันภัยมากขึ้น
“วันนี้ บริษัทประกันชีวิตไม่ทราบว่า ลูกค้ามีการซื้อประกันไปกี่บริษัท และทุนประกันเท่าไหร่ ซื้อประกันเกินตัวไหม”นางนุสรา กล่าว
นางนุสรา กล่าวว่า ขณะที่บริษัทประกันชีวิตสามารถ สามารถทราบว่าลูกค้ามีการซื้อประกันที่บริษัทไหนบ้าง โดยที่ลูกค้าไม่ต้องกรอกข้อมูลในใบคำขอทำประกัน เพียงอนุญาตให้บริษัทประกันชีวิตตรวจสอบผ่านระบบ API เพื่อเข้าไปดูข้อมูล
ปัจจุบัน บริษัทประกันชีวิตไม่ค่อยอยากเปิดเผยข้อมูลลูกค้า เพราะกลัวไปแย่งลูกค้าจากการแข่งขันที่สูง ซึ่งการที่มีฐานข้อมูลให้ตรวจสอบสามารถนำไปวิเคราะห์ในเชิงปริมาณ โดยไม่อิงข้อมูลส่วนบุคคลได้ สามารถพิจารณารับประกันได้เร็ว
ขณะที่ การเคลมสินไหม หลายๆ บริษัทก็มีความกังวลว่า เกิดการเคลมซ้ำซ้อนหรือไม่ ทำไมลูกค้ารายเดิมๆ มีการเคลมบ่อยมากในช่วง 2 เดือน เกิดความทุจริตขึ้นหรือไม่ ความกังวลกับคนไม่กี่ราย ทำให้อีกหลายคนเดือดร้อน เพราะได้รับบริการที่ช้าลง ถ้ามีข้อมูลที่ตรวจสอบได้ย้อนหลัง บริษัทประกันชีวิตสามารถอนุมัติสินไหมได้เร็วขึ้น ลูกค้าได้รับสินไหมเร็วดั่งใจ คู่ค้าอย่างโรงพยาบาลก็ได้รับเงินเร็ว
การที่คปภ.เป็นเจ้าภาพใหญ่ในการจัดเก็บข้อมูล ดูแลระบบ ทำให้มั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของข้อมูล การดูแลข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมาย และยังเป็นการให้ความรู้เรื่องการเปิดเผยข้อมูลของประชาชน เช่น การเปิดเผยข้อมูลการตรวจสุขภาพประจำปี จะทำให้บริษัทประกันเห็นประวัติสุขภาพ จะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันสุขภาพ
สุดท้าย เชื่อว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของบริษัทประกันชีวิต เพราะไม่ต้องไปวิเคราะห์ตัวเราเองทุกด้าน และไม่ต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงสถิติลูกค้าทุกราย เพียงสุ่มจากกลุ่มตัวอย่างที่มีในระบบข้อมูล สามารถออกแบบประกันที่มีความคุ้มครอง มีเบี้ยประกัน ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้
“ลำพัง เห็นข้อมูลบริษัทตัวเองเพียงบริษัทเดียวอาจจะไม่พอ ถ้าเห็นภาพรวมทั้งอุตสาหกรรม โดยไม่ต้องรู้ว่าเป็นลูกค้าของบริษัทไหน จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก จะเห็นพลวัติ หรือ ความเคลื่อนไหวของเบี้ยประกันภัยในอนาคต โดยเชื่อว่าถ้าทำให้ทุกฝ่ายวินวินได้จะเกิดประโยชน์อย่างมากในอนาคต”นางนุสรา กล่าว
นางนุสรา กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ภาคธุรกิจประกันแต่ละบริษัทมีการตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบว่ามีทำประกันภัยกับบริษัทไหน เป็นการเช็คกับแต่ละบริษัท และรอคำตอบกลับจากบริษัท ถ้ามีระบบตรงกลาง สามารถเช็ครายชื่อได้ทันทีว่าทำประกันภัยอะไรไว้ กับบริษัทไหนบ้าง จะทำให้การเข้าให้การบริการ และการให้ความช่วยเหลือจะทำได้เร็วขึ้น
ในกรณีที่การเชื่อมโยง แลกเปลี่ยนข้อมูล ที่จะเริ่มจากข้อมูลของประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเเหตุส่วนบุคคล (พีเอ) ที่เป็นสถิติการเคลมสินไหมรายบุคคล ซึ่งบริษัทประกันต้องเข้าใจมาตรฐานกลาง ว่าระบบ API เชื่อมโยงอย่างไร ข้อมูลกลางที่ต้องการคืออะไร
บริษัทประกันชีวิต มีข้อมูลอยู่เป็นจำนวนมาก และแต่ละบริษัทจะมีข้อมูลไม่เท่ากัน ถ้าเข้าใจเร็วและเข้าใจก่อน ซึ่งมีการทดลองทำแล้ว หรือ ยูสเคส จะเห็นว่าข้อมูลตั้งต้นคืออะไร มีความเป็นปัจจุบันระดับไหน และมีข้อมูลเหล่านั้นไหม ถ้าไม่มีจะเก็บอย่างไร แม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ต้องเก็บ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ในกรณีประกันสุขภาพที่ใช้เงื่อนไข Copayment ทางบริษัทประกันชีวิตกำลังจับข้อมูลอยู่ว่าค่ารักษาพยาบาลตรงไหนที่ถูก และ อะไรที่แพง ที่ทำร่วมกับคู่ค่าที่เป็นโรงพยาบาล คลีนิค ในขณะที่การเก็บข้อมูลลูกค้า จะดูที่ความถี่ในการรักษาพยาบาลเป็นปกติ หรือ มีอะไรผิดปกติ
“ถ้าสามารถจับสถิติตรงนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาลค่าผ่าตัด จะทำให้สามารถบริหารสินไหมได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ดีขึ้น ซึ่งเราต้องจับมือกันไปคุยเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้ประชาชนเปิดเผยข้อมูล จะได้นำไปพัฒนาราคาให้ดีขึ้น”นางนุสรา กล่าว