ความจริงความคิด : อดเปรี้ยวไว้กินหวาน

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

หลังจากเสร็จงานบรรยายพิเศษให้กับทางมหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็ถึงคิวต้องเขียนงานที่ค้างไว้กับสำนักพิมพ์ แต่อย่างว่านะเหนื่อยมานาน ขอพักบ้าง พักไปพักมา เลยชักขี้เกียจติดซีรี่ย์เกาหลีไปเลย จะลุกขึ้นมาเขียน รู้สึกมันยากเหลือเกิน

สงสัยเป็นไปตามหลักการของทฤษฎี 21 วัน ที่ว่า เราสามารถเปลี่ยนนิสัยเราได้โดยการทำพฤติกรรมที่จะอยากจะเปลี่ยนซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลา 21 วัน หากทำได้ ว่ากันว่า พฤติกรรมนั้นจะกลายมาเป็นนิสัยใหม่ไปโดยปริยาย ว่าง่ายๆ คือ เป็นการสร้างนิสัยใหม่ขึ้นมาแทนนิสัยเดิมนั่นเอง จากเดิมเป็นคนขยันทำโน่นทำนี่ตลอดเวลา พอได้พักดูซีรีย์เกาหลีติดต่อกัน 21 วันก็เลยติดเป็นนิสัยไม่อยากทำอะไร

เมื่อกฎ 21 วันสามารถทำให้เราติดนิสัยที่ไม่ดีมาได้ (นิสัยที่ไม่ทำงาน วันๆดูแต่ซีรีย์เกาหลี) มันก็ต้องทำให้เรามีนิสัยที่ดีได้เช่นกัน ซึ่งผมก็ทดสอบกับตนเองก่อนเขียนบทความนี้เช่นกัน โดยผมเองเป็นคนที่ชอบเช่าพระเครื่องมากทั้งที่ดูพระไม่เป็น หมดเงินไปมาก จะเลิกเช่าหลายครั้ง ไม่เคยสำเร็จ จนต้องใช้กฎ 21 วัน สัญญากับแฟนว่าจะไม่เช่าพระอย่างน้อย 21 วัน ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนด ความอยากมันหายลงไปเยอะมาก

แต่ยอมรับนะว่า ช่วงวันแรกๆของการเปลี่ยนนิสัย อึดอัด จะแพ้ใจตัวเองก็หลายครั้ง โชคดีที่สัญญากับแฟนไว้ ทำให้เหมือนมีคนคอยคุม และรู้สึกเป็น failed person คือคนล้มเหลวที่แค่คำพูดยังรักษาไม่ได้

การอดทนเพื่อปรับเปลี่ยนนิสัยจริงๆแล้ว ก็คือสุภาษิต “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” ที่พวกเราคุ้นเคยกันดีนี่เอง
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 สุภาษิต “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” หมายความว่า อดใจไว้ก่อนเพราะหวังสิ่งที่ดีกว่าข้างหน้า.

อดเปรี้ยวไว้กินหวาน เป็นสุภาษิตหมายถึง การอดทน ฝืนใจ รอสิ่งที่ดีกว่าในวันข้างหน้า เช่น

    1. o คนเราต้องรู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ยอมอดทน ทุ่มเทให้กับงานตอนที่ยังมีแรง เมื่อถึงเวลาพร้อมด้วย วัยวุฒิและประสบการณ์ก็จะมีหน้าที่การงานที่ดี การเงินที่ดี

o ถ้าเธออยากได้คอมพิวเตอร์ที่มีคุณสมบัติตามที่เธอต้องการ ต้องฝืนใจอดเปรี้ยวไว้กินหวาน เพราะอีกไม่นานบริษัทก็จะออกคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่แล้ว

ของฝรั่งก็มีการทดลองเกี่ยวกับการ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” เหมือนกัน ว่าจะส่งผลอนาคตอย่างไรบ้าง การทดลองในเรื่องนี้ที่มีชื่อเสียง คือ การทดลอง marshmallow สแตนฟอร์ด ที่ดำเนินการทดลองในปี ค.ศ. 1972 โดยนักจิตวิทยา Walter Mischel จาก มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด การทดลองนี้ได้รับการพิจารณาว่าเป็นหนึ่งในการทดลองด้านพฤติกรรมที่ประสบความสำเร็จที่สุด”

การทดลองดังกล่าวมีขึ้นในโรงเรียนอนุบาลบิง ในมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด โดยใช้เด็กอายุระหว่างสี่ถึงหกปีเป็นตัวอย่าง เด็กจะถูกนำตัวเข้าไปในห้องโดยจัดไม่ให้มีสิ่งที่อาจทำให้เกิดความไขว้เขวทั้งสิ้น เด็กจะถูกถามให้เลือกระหว่างคุกกี้โอรีโอ marshmallow หรือขนมปังเพรตเซลแท่ง ซึ่งจะถูกวางไว้บนโต๊ะข้างเก้าอี้ นักวิจัยบอกให้เด็กสามารถรับประทาน marshmallowได้ แต่ถ้าหากเด็กคนดังกล่าวสามารถอดทนรอไม่รับประทานได้เป็นเวลา 15 นาที เด็กคนนั้นจะได้รับรางวัลเป็น marshmallowอีกชิ้นหนึ่ง Walter Mischel ได้สังเกตว่าบางคน “ปิดตาของตัวเองด้วยมือหรือหมุนตัวไปทางอื่นเพื่อที่พวกเขาจะได้มองไม่เห็นถาดอาหาร ส่วนหนึ่งเริ่มต้นเตะโต๊ะ หรือดึงหางเปียของตัวเอง หรือสัมผัส marshmallow ราวกับว่ามันเป็นสัตว์สตัฟฟ์ตัวเล็ก ๆ” ในขณะที่มีส่วนน้อยที่กิน marshmallowในทันทีที่นักวิจัยได้จากไป

ผลการศึกษา
มีเด็กจำนวนน้อยที่รับประทาน marshmallow ในทันที หนึ่งในสามของเด็กที่เข้าร่วมการทดลองทั้งสิ้น 600 คน สามารถอดทนได้นานพอที่จะได้รับ marshmallow ชิ้นที่สอง

ผลการทดลองในภายหลังที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1988 – 1990 ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ Walter Mischel เนื่องจาก Walter Mischel ได้ค้นพบว่ามีความสัมพันธ์กันที่ไม่คาดคิดมาก่อนเกิดขึ้นระหว่างผลการทดลอง marshmallow และความสำเร็จของเด็กในอีกหลายปีถัดมา โดยพบว่าเด็กคนที่สามารถชนะใจตนเองรอได้ 15 นาทีได้กลายมาเป็นวัยรุ่นที่มีความสามารถอย่างมาก อย่างเช่น

    1. ความสามารถของการอดทนรอ แต่ละนาทีที่พวกเขารอได้นั้น สะท้อนออกมาเป็นคะแนนสอบ SAT ซึ่งมหาวิทยาลัยใช้ในการรับเด็กเข้าเอนทร้านซ์ที่สูงขึ้น

วินาทีในการรอที่มากขึ้นสะท้อนถึงความสามารถในการเข้าสังคมและการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ที่ดีขึ้นเมื่อพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ที่อายุ 27-32 ปี

เด็กที่อดทนรอได้มีดัชนีมวลกายที่ดีกว่าเด็กที่หักห้ามใจไม่ได้

เด็กที่อดทนรอได้มีความรู้สึกที่ดีกับตนเองมากกว่าและสามารถปรับตัวเพื่อรับกับความเครียดต่าง ๆ ในชีวิตได้ดีกว่า จากการสแกนสมองของพวกเขา พบว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจนในส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับการ “ติด” สิ่งต่าง ๆ และความอ้วนสำหรับคนที่ได้คะแนนการทดสอบต่างกัน

การศึกษาต่อมาของผู้เขียนและวิจัยคือ Walter Mischel ยังพบว่า ระบบการ “ควบคุมตนเอง” ต่อสิ่งเร้าหรือความอยากของคนเรานั้นมีสองระบบนั่นคือ

    1. ระบบ “ร้อน” มาจากสมองส่วนที่เป็นสัญชาตญาณมากกว่า

    ระบบ “เย็น” มาจากสมองส่วนที่เป็นเหตุผลและความนึกคิดมากกว่า

คนที่สามารถใช้หรือบังคับให้ตนเองใช้ระบบเย็นได้มากกว่านั้นจะสามารถที่จะตัดสินใจได้อย่างรอบคอบและถูกต้องกว่า การที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองใช้ระบบร้อนและตัดสินใจโดยอิงกับเหตุการณ์หรือแรงกระตุ้นเฉพาะหน้านั้น เราจะต้องมองไปในอนาคตและดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราตัดสินใจทำอะไรในตอนนี้ พยายามให้เห็นภาพของเราในสถานการณ์ภายหน้า ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีนิสัยใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย สุดท้ายก็จะเป็นหนี้ นอกจากเสียทรัพย์อาจเสียเพื่อน เสียครอบครัว เสียอนาคตก็เป็นได้ และเมื่อเราคิดและจินตนาการแบบนี้ ระบบเย็นก็จะเข้ามาแทนที่ระบบร้อน และก็จะทำให้เราไม่อยากใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น มีเงินเก็บ และมีความสุขทางการเงินในอนาคต

สังคมไทยวันนี้ รู้สึกมีคน “หัวร้อน” กันมากเหลือเกิน อะไรนิดหน่อยก็ใช้ความรุนแรง โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่ตามมา ยังไงๆก็ลองใช้กฎ 21 วันปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นคน “หัวเย็น” น่าจะดีกับตัวเองมากกว่านะ เหนื่อยอย่างมากแค่ 21 วันเท่านั้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่ามาก

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ
ความจริงความคิด : กู้ร่วม
ความจริงความคิด : Forex คือเรื่องหลอกลวง
ความจริงความคิด : จิตวิทยาการโกง รู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา 1
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน
ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ