ความจริงความคิด : ทักษะทางการเงิน

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

จากประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาการเงินมาตลอดชีวิต สิ่งที่แปลกมากๆสำหรับเมืองไทยที่พบเจอ ก็คือ เราเรียนกันหนักมาก และก็จบมหาวิทยาลัยกันเยอะมาก และหลายคนก็ทำงานหาเงินกันเก่งมาก แต่ที่ว่าแปลกก็คือ ส่วนใหญ่บริหารจัดการเงินไม่เป็น ไม่ใช่หมายถึงไม่มีความรู้ทางการเงิน เช่น วิเคราะห์หุ้น ฯลฯ นะ แต่เป็นความรู้พื้นฐาน หรือ ที่เรียกง่ายๆว่า ทักษะทางการเงิน (financial literacy) ทำให้หลายคนเป็นหนี้ แม้จะมีรายได้เยอะ หลายคนต้องเสียอนาคค เสียทรัพย์สินที่สะสมมาตลอดชีวิต ก็เพราะขาด ทักษะทางการเงิน ตัวนี้

ความสำคัญของทักษะทางการเงินนี้ ผมได้รับมาจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ที่ท่านได้บอกว่าการที่ท่านประสบความสำเร็จในการงานและการเงินขณะนี้ เพราะท่านเรียนรู้ 3 วิชาชีวิต ท่านบอกว่าลูกท่านจะเลือกคณะอะไรไม่ว่า แต่ขอให้เก่งวิชาชีวิต

วิชาชีวิตที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จด้านการงานและการเงิน คือ

1. วิชาเศรษฐศาสตร์ ช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ผลกระทบที่จะตามมา เหตุการณ์ที่จะเกิดต่อไป เพื่อที่เราจะได้วางแผนปรับตัวรองรับผลกระทบหรือสร้างประโยชน์จากปัญหาเศรษฐกิจและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้ และเศรษฐศาสตร์ยังสอนให้เรารู้จักใช้ หรือ บริโภคสินค้าที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด รู้จักใช้ รู้จักออม เพื่อความมั่นคงทางการเงินในอนาคต

2. วิชาการเงิน เพราะเงินเป็นสิ่งสำคัญมากๆในการดำรงชีวิต ตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ต้องใช้เงิน แต่การหาเงินด้วยน้ำพักน้ำแรงเราอย่างเดียว มีความเสี่ยงมาก วันดีคืนดีรายได้เราอาจหายไปได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะตกงาน ป่วยจนทำงานต่อไปไม่ได้ ฯลฯ รายได้เราหยุดได้ตลอดเวลา แต่ค่าใช้จ่ายไม่มีวันหยุดตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ วิชาการเงินจะช่วยตอบโจทย์เรื่องนี้ ช่วยให้เรารู้จักบริหารรายรับ รายจ่าย รู้จักผลิตภัณฑ์การเงิน รู้ทันกลโกงทางการเงินต่างๆ ฯลฯ และที่สำคัญช่วยให้เงินออมของเราแหล่งเงินได้อีกทางหนึ่ง ช่วยให้เรามีฐานะการเงินที่มั่งคั่งมากขึ้นและมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาลงไปได้บ้าง

3. วิชาบัญชี การบันทึกข้อมูลการเงินอย่างมีระบบ เป็นระเบียบ ช่วยให้เราบริหารงาน บริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงช่วยให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ยังช่วยให้เห็นถึงขนาดของปัญหา และช่วยให้เห็นถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต ทำให้เราสามารถแก้ไขและตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ตัวอย่างหนึงก็คือ ผมเคยไปแก้หนี้นอกระบบให้ รปภ. ท่านหนึ่งที่จนปัญญาไม่รู้จะแก้หนี้นอกระบบยังไง ประหยัดก็ประหยัดสุดๆ ใช้เท่าที่จำเป็นแล้ว ก็เลยต้องทำตัวเป็นหมอขอตรวจร่างกายคนไข้หน่อย โดยขอให้เริ่มจากการทำบัญชีรายรับ รายจ่ายทุกวัน บันทึกตามจริง ไม่ให้หลอกตัวเอง วันไหนใช้อะไรบ้าง จะมากจะน้อย จดให้หมด เพื่อหาสาเหตุของการเป็นหนี้ ปรากฏว่าที่เป็นหนี้ เพราะกินชานมไข่มุกวันละ 3 แก้วๆละ 30 บาท เดือนนึงก็ 2,700 บาท เลยแนะนำให้ลดชานมไข่มุกเพื่อจะได้มีเงินมาชำระหนี้ ลดชานมไข่มุกแค่ปีเดียว ก็ปลดหนี้นอกระบบได้ แถมร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกต่างหาก สุดท้าย รปภ. ยังมาขอบคุณว่า ถ้าไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย คงไม่รู้หรอกว่า ชานมไข่มุกคือ สาเหตุของการเป็นหนี้

ทางภาครัฐเอง อย่างเช่น สำนักงาน ก.ล.ต. สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (TSI) ก็พยายามพัฒนาทักษะทางการเงินให้กับคนไทยทุกระดับ

หลายคนอาจจะคิดในใจว่า ทักษะทางการเงินไม่น่าจะเป็นปํญหา คนไทยน่าจะมีความรู้ดีอยู่แล้ว จริงครับ บางคนอาจมีทักษะทางการเงินที่ดีอยู่แล้ว แต่อีกหลายคนที่มีปัญหาทางการเงิน สาเหตุส่วนหนึ่งก็คือ การขาดทักษะทางการเงินที่ถูกต้อง เราลองมาทดสอบตัวเองดูก็ได้นะว่า เรามีทักษะทางการเงินที่ดีพอยัง

นักวิจัยในวงการนี้มักตั้ง 3 คำถามหลักๆ เพื่อวัดระดับความรู้เรื่องทางการเงิน ดังนี้ครับ

1. ถ้าคุณมีเงิน 100 บาทในบัญชีออมทรัพย์และอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปีคุณจะมีเงินในบัญชีนี้เท่าไหร่ถ้าคุณไม่ถอนออกไปเลย
1. มากกว่า 102 บาท
2. 102 บาท
3. น้อยกว่า 102 บาท

2. แล้วถ้าอัตราดอกเบี้ยเหลือแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปี คุณจะสามารถใช้เงินในบัญชีนี้เพื่อซื้อของได้
1. มากกว่าที่ซื้อได้ในวันนี้
2. เท่ากับที่ซื้อได้ในวันนี้
3. น้อยกว่าที่ซื้อได้ในวันนี้

3. ประโยคนี้จริงหรือเท็จ “การซื้อหุ้นของบริษัทหนึ่งนั้นมักให้ผลตอบแทนที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการซื้อกองทุนรวม”
1. จริง
2. เท็จ

ง่ายจนไม่ต้องเฉลยใช่ไหมครับ ข้อแรกวัดความเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยทบต้น ข้อสองวัดความเข้าใจเรื่องเงินเฟ้อ ส่วนข้อสามวัดความเข้าใจเรื่องการกระจายความเสี่ยง

แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าคนทั่วโลกไม่ถึงครึ่งที่สามารถตอบคำถามการเงินแสนเบสิคเหล่านี้ได้

งานวิจัยในสหรัฐฯ พบว่าผู้ใหญ่เพียง 65% เท่านั้นที่เข้าใจเรื่องดอกเบี้ยทบต้น 64% ที่เข้าใจเรื่องเงินเฟ้อ และ 52% ที่เข้าใจเรื่องการกระจายความเสี่ยง (http://gflec.orghttps://storage.googleapis.com/think-algo-com.appspot.com/www/2015/11/3313-Finlit_Report_FINAL-5.11.16.pdf?x87657)

ส่วนในประเทศไทยค่าเฉลี่ยของผู้ใหญ่ที่ตอบคำถามเหล่านี้ได้ถูกต้องอยู่ที่แค่ 27% เท่านั้น

ถ้าเราเชื่อผลวิจัยนี้ แปลว่า 7 จาก 10 คนที่เราเดินผ่าน นั้นไม่มีความเข้าใจใดๆ เกี่ยวกับสามเสาหลักของโลกการเงินเลยแม่แต่น้อย

ความรู้เรื่องทางการเงินตกต่ำแล้วกระทบอะไรบ้าง
หนึ่งคือความยากจนในวัยชรา ความบกพร่องทางความรู้เรื่องทางการเงินสามารถอธิบายความเหลื่อมล้ำในความมั่งคั่ง (wealth inequality) ในวัยชราได้ถึง 30 ถึง 40%

(https://www.forbes.com/sites/pensionresearchcouncil/2017/12/14/a-financial-literacy-test-that-works/)

สองคือความเป็นหนี้ท่วมหัว รายงานของธนาคารโลก พบว่าคนที่ความรู้เรื่องทางการเงินบกพร่อง โดยเฉพาะเรื่องหนี้สินในหมู่ชาวอเมริกันทำให้พวกเขามีภาระหนี้สูงขึ้นและมีต้นทุนในการยืมเงินสูงขึ้น

(http://documents.worldbank.org/curated/en/264001468340889422/pdf/WPS6107.pdf)

เหตุผลหนึ่งคือ พบว่า 1 ใน 3 ของชาวอเมริกันคิดว่าตนมีคะแนนเครดิตที่ดีเกินจริง โดยคนที่ความรู้เรื่องทางการเงินบกพร่องยิ่งอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งทำให้พวกเขาคาดการณ์ต้นทุนทางการเงินไม่ถูก จนทำให้ใช้จ่ายหรือกู้ยืมเกินตัว

สามคือการคาดการณ์เงินเฟ้อคาดเคลื่อน จุดนี้สำคัญและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เนื่องจากการคาดการณ์เงินเฟ้อโดยผู้บริโภคหรือผู้คนมากมายนั้นเป็นหนึ่งใน input สำคัญข้างในการวางแผนนโยบายการเงินหรือการวิเคราะห์โมเดลเศรษฐกิจมหภาค

ที่น่าสนใจคือ Bruine de Bruin et al. (2010) พบว่ายิ่งคนเราความรู้เรื่องทางการเงินน้อยเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อน่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น คำอธิบายหนึ่งคือในกลุ่มคนที่ฐานะไม่ค่อยดีจะคิดถึงประสบการณ์ส่วนตัวในช่วงเวลาที่ราคาปรับขึ้นมากกว่าเวลาราคาปรับลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกลุ่มที่เคยเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงๆ มากก่อนในกลุ่มประเทศแถบลาตินอเมริกา (https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/j.1745-6606.2010.01174.x)

การศึกษาช่วยแค่ไหน

“การศึกษา” มักถูกพูดถึงบ่อยว่ามันน่าเป็นทางออกของปัญหานี้

ทว่าหากไปดูงานวิจัยที่พยายามวัดผลของการศึกษาทั่วไปหรือการศึกษาด้านการเงิน จะผิดหวังและพบว่ามันมีผลกระทบไม่มากนักต่อความรู้เรื่องทางการเงิน
งานวิจัยของ Shapiro

(http://jeremypshapiro.com/papers/Unpacking%20the%20Causal%20Chain%20of%20Financial%20Literacy%20.pdf)

พบว่าในหมู่ผู้เข้าร่วมการทดลอง ผู้ที่มีความรู้เรื่องทางการเงินมากกว่าผู้อื่นนั้นตอบคำถามที่เกี่ยวกับความรู้เรื่องทางการเงินได้ดีกว่าผู้อื่น แต่ไม่ได้ทำให้ผู้เข้าร่วมทดลองสามารถตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ประหยัดต้นทุนที่สุดหรือเหมาะสมที่สุด และการให้เงินเพื่อให้พวกเขาตั้งใจทำแบบทดสอบก็ยังเลือกผลิตภัณฑ์ได้ไม่ดีที่สุด

แสดงว่า การให้ความรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะที่เจอมาคนที่ปัญหาทางการเงินหลายคน คือ คนที่อยู่ในอาชีพทางการเงิน อย่างเช่น พนักงานธนาคาร ตัวแทนประกันชีวิต ฯลฯ เองด้วยซ้ำ ทั้งที่โดยอาชีพคือเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน แต่ตนเองกลับเป็นปัญหาเสียเอง ดังนั้น ลำพังแค่การพัฒนาความรู้อาจเป็นแค่การแก้โจทย์หนึ่งข้อเท่านั้น ส่วนโจทย์อีกข้อที่ผมเจอ ก็คือ Mindset ทางการเงิน หรือ กรอบความคิดหรือทัศนคติทางจิตใจด้านการจัดการการเงินที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของเรา เป็นปัญหาอีกข้อที่ต้องแก้ด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก. ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ / stock2morrow

อ่านบทความอื่นๆ


ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีสำหรับ SMEs ตอน 1
ความจริงความคิด : อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ
ความจริงความคิด : กู้ร่วม
ความจริงความคิด : Forex คือเรื่องหลอกลวง
ความจริงความคิด : จิตวิทยาการโกง รู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา 1
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน
ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ