ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้รับซื้อฝาก (ตอน 1)

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ครั้งที่แล้วในฝั่งของผู้ขายฝาก จริงๆก็คือ ลูกหนี้ที่ขอยืมเงินโดยมีอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกันนั้นเอง แต่เพราะเป็นการขายฝาก ตามกฎหมายจึงถือเป็นการขาย ผู้ขายฝากมีเงินได้จึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ด้านผู้รับซื้อฝาก (เจ้าหนี้) ล่ะ จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการโอนคืนอสังหาริมทรัพย์ กรณีผู้ขายฝากมาไถ่ถอนหรือไม่ เพราะตามกฎหมายก็ถือเป็นการขายเหมือนกัน คำตอบคือ ต้องเสียภาษีเงินได้ครับ

กรณีผู้ขายฝากมาไถ่ถอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวคืนภายในกำหนดเวลาตามสัญญา

(ขออนุญาตอ้างอิงข้อมูลจาก facebook อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์ วันที่ 9 ก.พ. 2022)

1. เงินค่าสินไถ่ที่ที่ได้รับจากผู้ขายฝาก เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 ( 8 ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามมาตรา 8 (27) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ออกตามความในมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้หักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้การรับสินไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากหรือการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยเด็ดขาดจากการขายฝากเป็นการเหมาในอัตรา ร้อยละ 60 ของเงินได้ หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร ตามวรรคสองของมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ก็ได้

2. อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ขายฝากนำสินไถ่ไปไถ่ถอนอสังหาริมทรัพย์คืนจากผู้รับซื้อฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้น ตามมาตรา 492 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2541) บัญญัติว่า ให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่ ดังนั้น การไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝาก จึงเข้าลักษณะเป็นการ “ขาย” ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับซื้อฝากจึงเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ( 8 ) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (หนังสือกรมสรรพากรเลขที่ 0702/1873 ลงวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557)

ดังจะเห็นได้ว่า เงินได้พึงประเมินทั้งกรณีตามข้อ 1. และข้อ 2. ดังกล่าว เป็นเงินได้ที่เกิดจากรับสินไถ่จากการขายฝากในกำหนดเวลาเช่นเดียวกัน หากแต่ตามข้อ 1. นั้น เป็นไปตามกรณีที่มาตรา 492 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม จึงเป็นการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการรับสินไถ่เพียงครั้งเดียว แต่ครั้งเมื่อมีการแก้ไขมาตรา 492 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยบัญญัติว่า ให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่ ดังนั้น การไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝาก จึงเข้าลักษณะเป็นการ “ขาย” ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับซื้อฝากจึงเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ( 8 ) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายอสังหาริมทรัพย์ด้วย จึงเป็น การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกิจกรรมเดียวกันถึงสองครั้งสองครา อันเป็นการซ้ำซ้อน ไม่อำนวยให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้ ขัดต่อเจตนารมณ์ของการตราบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร

เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติทั้งสองดังกล่าว แล้ว เห็นว่า เป็นการที่กฎหมายลำดับศักดิ์เดียวกันขัดกัน กรณีเงินค่าสินไถ่ที่ที่ได้รับจากผู้ขายฝาก เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 ( 8 ) แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็น “กฎหมายทั่วไป” ในขณะที่การไถ่คืนในกำหนดเวลา ซึ่งถือเป็นกรณที่ผู้รับซื้อฝากได้ขาย อสังหาริมทรัพย์คืนให้แก่ผู้ขายฝาก ถือเป็น “กฎหมายพิเศษ” ซึ่งตามหลักการตีความกฎหมาย กำหนดว่า “กฎหมายพิเศษย่อมใช้บังคับก่อน หรือยกเว้นกฎมายทั่วไป”

ดังนั้น เมื่อผู้รับซื้อฝากได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการ “ขาย” อสังหาริมทรัพย์คืนให้แก่ผู้รับซื้อฝากที่ได้ไถ่ถอนภายในเวลาที่กำหนดตกลงกันแล้ว ตามตามมาตรา 492 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 39 มาตรา 40 ( 8 ) มาตรา 48 (4) และมาตรา 50 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องนำเงินได้จากการรับสินไถ่ไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก เพราะเป็นหลักการตีความกฎหมายที่แม้ไมมีบัญญัติไว้ หรือไม่ได้บัญญัติให้ยกเลิกเงินได้พึงประเมินจากการรับสินไถ่คืนภายในกำหนดเวลาก็ตาม หลักกฎหมายข้อนี้ ก็ยังคงศักดิ์สิทธิ์ และเป็นหลักสากลที่ใช้บังคับได้ตลอดไป จึงเป็นการสมควรที่ทางราชการจะได้ยกเลิกบทบัญญัติข้อนี้ และจัดทำคู่มือการเสียภาษีเงินได้จากการรับสินไถ่ขึ้นใหม่เพื่อความเข้าใจและเป็นแนวทางปฏบัติที่เป็นธรรมสมตามเจตนารมณ์ในการตราประมวลรัษฎากร ที่กล่าวว่า “เพื่อปรับปรุงการรัษฎากรตามหลักความเป็นธรรมแก่สังคม”

กรณีตามข้อเท็จจริง ผู้รับซื้อฝากที่ดินมีเงินได้จากการประกอบกิจการรับซื้อฝากในนามบุคคลธรรมดา เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 โดยตลอดทั้งปีภาษี พ.ศ. 2561 มีรายได้เพียงอย่างเดียว โดยผู้ขายฝากได้ตกลงขายฝากที่ดินแก่ผู้รับซื้อฝาก เป็นจำนวน 3,200,000 บาท โดยมีกำหนดไถ่ถอน 6 เดือน และได้กำหนดสินไถ่เมื่อครบ 6 เดือน เป็นเงิน 3,360,000 บาท และในการจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจำนวน 23,491 บาท ซึ่งคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามกฎหมายที่ดินจำนวน 2,936,364 บาท

ในการยื่น ภ.ง.ด.90 เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในกรณีนี้ คือ เงินได้จากการ“ขาย” อสังหาริมทรัพย์คืนให้แก่ผู้รับซื้อฝากที่ได้ไถ่ถอนภายในเวลาที่กำหนดตกลงกันแล้ว ตามตามมาตรา 492 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 39 มาตรา 40 ( 8 ) มาตรา 48 (4) และมาตรา 50 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 2,936,364 บาท เท่านั้น สำหรับเงินได้จากการรับสินไถ่จำนวน 3,360,000 บาท เป็นเงินได้ที่ซ้ำซ้อน และไม่มีผลใช้บังคับตามหลักการตีความของกฎหมาย ดังกล่าวข้างต้นแล้ว การแสดงเงินได้พึงประเมินจึงเป็นดังนี้

เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 2,936,364 บาท และผลประโยชน์จากการรับสินไถ่ จำนวน 160,000 บาท รวมเป็น 3,096,364 บาท หัก ค่าใช้จ่ายตามจริง 3,200,000 บ ไม่เหลือเงินได้สุทธิ จึงไม่มีภาษีเงินได้ตามมาตรา 48 (1) แห่งประมวลรัษฎากร คำนวณวิธีที่สอง โดยนำยอดเงินได้ 3,096,364 × 0.5% ได้เป็นจำนวนภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 48 (2) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 15,481.82 บาท หักเครดิตภาษี 23,491 บาท มีภาษีที่จะได้คืน 8,009.181 บาท แต่ขอคืนไว้เพียง 6,691 บาท จึงได้สิทธิรับคืนเพียงเท่าจำนวนที่ขอคืนเท่านั้น

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้ขายฝาก
ความจริงความคิด : คนสาบสูญ
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 2
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 1
ความจริงความคิด : เงินเกษียณ ประกันสังคม เกณฑ์ใหม่ที่ควรรู้
ความจริงความคิด : สัญญาณอันตราย เมื่อกระแสเงินสดเข้าน้อยกว่ากระแสเงินสดจ่าย
ความจริงความคิด : ทักษะทางการเงิน
ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน