HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ TFEX เตรียมใช้ 2 เกณฑ์ใหม่ดูแลการซื้อขาย ให้ขายชอร์ตได้เฉพาะหุ้นใน SET100 เท่านั้น เริ่ม 16 เม.ย.นี้ ให้ทำ HFT ใน SET100 คาดเริ่มใช้เดือนพ.ค.หวังลดความผันผวนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก ด้าน SCB EIC ประเมินไทยหนีไม่พ้น หากโดนภาษีตอบโต้ 36%ครึ่งปีหลัง ชี้เป้ากลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบในระดับสูง-เชิงลบในระดับปานกลางและในระดับต่ำ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานว่า เนื่องด้วยเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ได้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว ดังนั้น หลังจากสิ้นสุดมาตรการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 8-11 เม.ย. 2568 ตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) (TFEX) จะกลับไปใช้เกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 2568 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็น ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ TFEX ก็พร้อมที่จะพิจารณาทบทวนปรับใช้เกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อขายให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์
อย่างไรก็ดี เพื่อให้การดูแลความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ และการสร้างเสถียรภาพตลาดหุ้นไทยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เห็นชอบให้มีมาตรการใหม่เพิ่มเติมอีก 2 มาตรการ ดังนี้
1.กำหนดหุ้นที่อนุญาตให้ขายชอร์ตได้ เป็นเฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET100 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับทันที ตั้งแต่ 16 เม.ย. 2568 เป็นต้นไป โดยได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว ทั้งนี้ การขายชอร์ตหลักทรัพย์ดังกล่าว ยังคงต้องเป็นไปตามเกณฑ์ uptick คือให้ใช้ราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย
2.กำหนดให้การซื้อขายหุ้นของผู้ลงทุนกลุ่ม HFT จำกัดอยู่เพียงเฉพาะหุ้นในกลุ่ม SET100 เพื่อลดความผันผวนของหุ้นขนาดกลางและเล็ก คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ภายในเดือนพ.ค.นี้ หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อม
นอกจากนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้เห็นชอบให้คงมาตรการ Minimum Resting Time (MRT) ต่อไป เพื่อป้องกันการใส่ถอนคำสั่งซื้อขายที่รวดเร็วเกินไปอีกด้วย
การยกเลิกมาตรการชั่วคราวห้ามชอร์ตเซล ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. 2568 เป็นต้นไป หลังจากพิจารณาสถานการณ์การซื้อขายหุ้นลดความผันผวน โดเฉพาะหลังจากประธานาธิบดีสหรัฐ “ทรัมป์” ประกาศเลื่อนการเพิ่มภาษีส่งสินค้าเข้าไปขายยังสหรัฐ เป็นเวลา 90 วัน ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นแรง เช่น ตลาดหุ้นไทยวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา พุ่งแรงถึง 4.21% และหลังจากนั้นดัชนีปรับตัวลงไม่ถึง 1% ในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ทางด้าน SCB EIC มองว่า แม้ทรัมป์เลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบออกไปอีก 90 วัน แต่ก็จะไม่ช่วยให้ธุรกิจไทยรอดพ้นจากมรสุมทางเศรษฐกิจที่กำลังจะตามมาได้ โดยการเก็บภาษีตอบโต้ที่ระดับ 10% ในระยะ 90 วัน อาจช่วยลดแรงกระแทกในระยะสั้นต่อภาคธุรกิจไทยได้บางส่วน แต่ก็จะยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากกฎกติกาการค้าโลกที่จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป
ไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาในรูปแบบใด ธุรกิจไทยก็จะยังคงได้รับผลกระทบทั้งทางตรง ผ่านการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ และทางอ้อม อีกหลากหลายช่องทาง ได้แก่
1) ความต้องการสินค้าขั้นกลางจากประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ของไทยที่อาจชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีนที่มีการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ ซึ่งจีนโดนกำแพงภาษีในอัตราที่สูงถึง 145%
2) สินค้าจีนมีแนวโน้มทะลักเข้ามาในไทยและตลาดโลกมากขึ้น
3) อุปสงค์ต่อสินค้าในตลาดโลกโดยรวมมีแนวโน้มแผ่วลง
4) การเปิดตลาดสินค้าบางประเภทเพื่อใช้ในการเจรจาต่อรองลดแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐฯ
5) ไทยอาจได้รับอานิสงส์ในการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าจากประเทศที่มีการออกมาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ขณะที่ผลกระทบในระยะต่อไปที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
6) แนวโน้มการปรับเปลี่ยนและออกแบบห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลกที่อาจส่งผลให้มีการชะลอการลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตออกจากไทย และอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทยตามมาได้
SCB EIC ประเมินว่า กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบในระดับสูง ในกรณีที่ไทยโดนภาษีตอบโต้ที่ 36% ในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ จักรยานยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก ยางพาราและไม้ยางพารา สินค้าประมงโดยเฉพาะกุ้ง สิ่งทอ แผงโซลาร์เซลล์และส่วนประกอบ ถุงมือยาง เป็นต้น
สำหรับกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบในระดับปานกลาง เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรอื่น ๆ ผักผลไม้สดและแปรรูป เนื้อสัตว์และอาหารแปรรูป ยานยนต์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบในระดับต่ำ ได้แก่ ข้าว นมและผลิตภัณฑ์นม และเครื่องดื่มต่าง ๆ
“หากใช้สมมติฐานการวิเคราะห์โดยกำหนดให้เจอภาษี 36% จะทำให้ไทยส่งสินค้าออกไปสหรัฐฯ ลดลงสะสมราว 8.1 แสนล้านบาท เมื่อมีการบังคับใช้มาตรการด้านภาษีครบ 5 ปี ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับสงครามการค้าที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อออกไป”
ทั้งนี้การชะลอการเก็บภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบของสหรัฐฯ ออกไปอีก 90 วัน ซึ่งทุกประเทศรวมทั้งไทยจะโดนเก็บภาษีที่อัตราพื้นฐาน ที่ 10% (ยกเว้นจีนซึ่งโดนเก็บที่ 145% ทันที) จะช่วยลดแรงกระแทกในระยะสั้นต่อภาคธุรกิจไทยได้บางส่วน จากอานิสงส์ 3 ประการ ได้แก่ 1) การเร่งส่งออกสินค้าในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ ยังไม่ปรับขึ้นภาษีนำเข้าอย่างเต็มรูปแบบกับไทย แต่ผลบวกอาจถูกลดทอนลงได้ เนื่องจากมีการเร่งส่งออกสินค้าไปบ้างแล้วบางส่วนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา 2) ระดับภาษีที่ไทยถูกเก็บจากสหรัฐฯ ในช่วงเวลา 90 วันต่อจากนี้ จะอยู่ในระดับเดียวกันกับคู่แข่ง ซึ่งจะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยในระยะสั้น ๆ เอาไว้ได้ 3) โอกาสในการเข้ามาทดแทนการส่งออกสินค้าจากจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ และจากตลาดสหรัฐฯ ไปยังจีน โดยเฉพาะในสินค้าที่ไทยมีอุปทานในประเทศและมีกำลังการผลิตส่วนเหลือมากเพียงพอ
SCB EIC ประเมินว่าผู้ประกอบการไทยสามารถใช้กลยุทธ์ 4P ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับแรงกดดันจากนโยบายของ Trump 2.0 และจากปัญหาโครงสร้างการผลิตที่ยังอ่อนแอ ประกอบด้วย 1) Product : พัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์/แตกต่าง/สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า 2) Place : กระจายตลาด 3) Preparedness : บริหารความเสี่ยงในทุกมิติทั้ง Supply chain และ Balance sheet 4) Productivity : การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และถือโอกาสใช้วิกฤติครั้งนี้ยกเครื่องโครงสร้างการผลิตของไทยให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นและตอบโจทย์ความต้องการในตลาดโลกที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ภาคธุรกิจไทยสามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว