ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 2

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ครั้งที่แล้ว เราได้คุยกันเกี่ยวกับความหมายทางกฎหมายของคำว่า “มรดก” รวมถึงอัตราภาษีการรับมรดก หลายคนสงสัยทำไมเวลาคุยเรื่องมรดกถึงต้องมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะไปหมด

เหตุผลก็เพราะ คนที่เป็นเจ้าของทรัพย์มรดกได้เสียชีวิตไปแล้วนั่นเอง ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า เจตนารมณ์ของเจ้ามรดกจริงๆว่า ก่อนตายตั้งใจว่าอย่างไร ยิ่งในประเทศไทย คนส่วนใหญ่ไม่นิยมทำพินัยกรรมกัน จึงทำให้ยิ่งไม่ทราบเจตนารมณ์ของเจ้ามรดกเข้าไปใหญ่ หรือ ถึงแม้จะมีบางท่านทำพินัยกรรม เราก็พบเห็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการปลอมพินัยกรรมจนเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลอยู่หลายคดี

เมื่อไม่สามารถพิสูจน์เจตนารมณ์ของเจ้ามรดกได้ การพิจารณาจัดสรรมรดกอย่างเหมาะสมยุติธรรม จึงต้องอาศัยกฎหมายมาช่วยในการตัดสิน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องศึกษากฎหมายมรดกอย่างเข้าใจ จึงจะสามารถวางแผนมรดกได้อย่างถูกต้อง

งั้นเรามาต่อกันเกี่ยวกับ กฎหมายภาษีการรับมรดก เลยครับ

มรดก (ทรัพย์สิน) ที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก

ต้องเป็นสิ่งของที่มีทะเบียนมี 5 ประเภทใช้ราคา ณ วันที่รับมรดก คือ

• อสังหาริมทรัพย์ ใช้ราคาประเมินกรมที่ดินหักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
• หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ใช้ราคาปิด ณ วันรับมรดก หรือ มูลค่าทางบัญชีรอบบัญชีก่อน
• เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้
• ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน คำนวณตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
• ทรัพย์ทางการเงินที่กำหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา คำนวณตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง
• หากต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมสรรพากรกำหนด

ดังนั้น หากไม่ต้องการให้ทายาทเราเสียภาษีการรับมรดก ก็อย่าทิ้งมรดกเป็นทรัพย์สินที่มีทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ทิ้งมรดกในรูปของเงินสด ทองคำ งานศิลปะ เพชรนิลจินดา ฯลฯ ก็จะช่วยประหยัดภาษีการรับมรดกได้ แต่ควรคำนึงถึงข้อเสียด้วย เช่น ความเสี่ยงและความยากลำบากในการเก็บรักษา ไม่ว่าจะเป็นอัคคีภัย หรือ การโจรกรรม เป็นต้น

ฐานภาษีมรดก คือ มรดกสุทธิ

เนื่องจากเจ้าหนี้มีสิทธิเหนือกองมรดก แปลว่าก่อนที่ผู้จัดการมรดกจะจัดสรรมรดกให้กับทายาท จะต้องนำมรดกมาชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ของเจ้ามรดกก่อน เหลือทายาทค่อยได้รับ ซึ่งเราเรียกทรัพย์มรดกที่เหลือจากการชำระคืนเจ้าหนี้ว่า “มรดกสุทธิ”

ฐานภาษีมรดกจึงคิดจากมรดกสุทธิ เพราะเป็นส่วนที่ทายาทได้รับจริงๆ โดยตามกฎหมายภาษีการรับมรดกกำหนดเงื่อนไขการคิดภาษี ดังนี้

• มูลค่ารวมของทรัพย์สุทธิส่วนที่ไม่เกิน 100 ลบ. ไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดก ดังนั้น กลยุทธ์ข้อหนึ่งที่สำคัญ คือ การจัดการให้มรดกสุทธิแก่ทายาทแต่ละคนไม่เกิน 100 ล้านบาท อย่างเช่น ให้ก่อนตายบางส่วน เพื่อให้เหลือทรัพย์มรดกสุทธิไม่เกิน 100 ล้านบาท

• ผู้ได้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละรายในคราวเดียวหรือหลายคราว (หมายถึงการนับทรัพย์มรดกจะนับเฉพาะเจ้ามรดกแต่ละรายไม่นับรวมเจ้ามรดกรายอื่น และนับรวมทุกครั้งที่ให้) ให้เสียภาษีเฉพาะมูลค่ารวมของทรัพย์สินส่วนที่เกิน 100 ลบ. หลังหักภาระติดพันต่างๆที่เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นแล้ว เช่น ภาระจำนอง ภาษีอากรค้าง ฯลฯ ดังนั้น การกระจายคนให้มรดก หรือ การกระจายคนรับมรดก จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งทำนองเดียวกับการแตกหน่วยภาษี เพื่อให้ผู้รับมรดกแต่ละคนได้รับมรดกจากผู้ให้มรดกแต่ละคนไม่เกิน 100 ล้านบาท หรือ ถ้าจำเป็นต้องเกินก็เกินให้น้อยที่สุด

• ไม่คำนึงถึงจำนวนครั้ง หรือ จำนวนหน่วยของทรัพย์สินที่ได้รับ จะพิจารณาจากยอดรวมของมูลค่าต่อบุคคล แปลว่า การเก็บภาษีการรับมรดกจะคำนวณจากยอดมรดกสุทธิสะสมไม่ได้จบในแต่ละปีภาษีเหมือนภาษีเงินได้ ดังนั้น กลยุทธ์การกระจายปีรับมรดกจึงไม่มีประโยชน์ แถมอาจทำให้ต้องเสียภาษีการรับมรดกมากขึ้นไปอีก เพราะกฎหมายกำหนดให้มีการพิจารณาทบทวนมูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษีทุก 5 ปี โดยนำอัตราเงินเฟ้อที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศในรอบระยะเวลานั้นมาประกอบการพิจารณา ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่ามรดกสุทธิอาจปรับสูงขึ้น

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมรดก

• บุคคลและนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย ให้เสียภาษีจากทรัพย์มรดกทั้งที่อยู่ใน และนอกประเทศไทย
• บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ให้เสียภาษีจากทรัพย์มรดกทั้งที่อยู่ในและนอกประเทศไทย
• บุคคลและนิติบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่ได้รับทรัพย์มรดกที่อยู่ในประเทศไทย ให้เสียภาษีเฉพาะจากทรัพย์มรดกที่อยู่ในประเทศไทย (ถ้าในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
ทรัพย์มรดกอยู่ในประเทศไทย แม้ภายหลังจะเปลี่ยนสภาพ ก็ให้ถือว่าเป็นทรัพย์มรดกที่อยู่ในประเทศไทย ผู้ได้รับมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมรดก)
เห็นกฎหมายกำหนดอย่างนี้แล้ว ถ้าไม่อยากเสียภาษีการรับมรดก ก็คงต้องโอนสัญชาติ ย้ายบ้านออกจากประเทศไทย เรียกได้ว่า ตัดขาดจากความเป็นคนไทยทั้งนิตินัยและพฤตินัยเลย แถมต้องบอกคุณพ่อ คุณแม่อย่าทิ้งมรดกที่เป็นทรัพย์สินในประเทศไทยด้วย ดูแล้วยุ่งจัง มีวิธีอื่นที่ง่ายกว่านี้ป่าว

มีครับ ไว้ไปว่ากันในครั้งหน้าครับ สวัสดีครับ

 

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 1
ความจริงความคิด : เงินเกษียณ ประกันสังคม เกณฑ์ใหม่ที่ควรรู้
ความจริงความคิด : สัญญาณอันตราย เมื่อกระแสเงินสดเข้าน้อยกว่ากระแสเงินสดจ่าย
ความจริงความคิด : ทักษะทางการเงิน
ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน