ความจริงความคิด : คนสาบสูญ

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

วันที่เขียนต้นฉบับ (13 ม.ค. 2566) นับเป็นวันที่ 26 จากเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ซึ่งกองทัพเรือก็ยังพยายามค้นหากำลังพลที่สูญหายอีก 5 นายอย่างเต็มที่ แม้ความหวังจะริบหรี่อย่างไรก็ตาม พวกเราทุกคนก็เฝ้าภาวนาให้มีปาฎิหารย์เกิดขึ้นเสมอ หวังมีผู้รอดชีวิตจากเหตุร้ายแรงครั้งนี้

โดยเฉพาะในหัวใจของญาติและบุคคลใกล้ชิดกับผู้ประสบภัย ก็คงคาดหวังปาฏิหารย์มากกว่าพวกเราแน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนคาดหวังไม่น้อยกว่ากัน ก็คือ ความชัดเจน แม้ว่าการพบว่าผลลัพธ์ที่ออกมา คือ เสียชีวิต ก็ตาม แต่ก็ยังทำใจได้มากกว่า ไม่รู้อยู่หรือตาย

เหมือนกับที่ผมเคยเห็นคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ที่ลูกสูญหาย จะทุกข์และเจ็บปวดกว่าลูกเสียชีวิตมาก เพราะอย่างน้อยลูกเสียชีวิต คนเป็นพ่อเป็นแม่ยังรู้ว่าลูกเป็นยังไง แต่หากลูกสูญหาย คนเป็นพ่อเป็นแม่ได้แต่กังวล ห่วงใยลูก

กรณีกำลังพลที่สูญหายอีก 5 นายเช่นกัน ก็ขอภาวนาให้พบโดยเร็วที่สุดด้วยเถิด

หากสุดท้ายพบว่า เสียชีวิต ญาติพี่น้องหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิตก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเพื่อออกใบมรณะบัตรไว้เป็นหลักฐานการเสียชีวิต เพื่อนำไปดำเนินการกับทรัพย์สินหรือสิทธิหน้าที่ต่างๆของผู้ตายต่อไป เช่น การจัดการมรดก การประกันชีวิต เป็นต้น

แต่หากสุดท้ายหาไม่พบ เป็นคนสูญหายหรือสาบสูญ คนที่เป็นญาติจะต้องทำอย่างไรต่อไปล่ะ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 61 กำหนดว่า “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้ ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือ 2 ปี

(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปางถูกทำลาย หรือสูญหายไป
(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน(1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

ดังนั้น การจะถือว่าเป็นคนสาบสูญ ซึ่งหมายถึง การสิ้นสภาพบุคคล ต้องประกอบด้วย

1. บุคคลนั้นได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเมื่อครบกำหนดเวลา 5 ปี หรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี
2. ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
3. ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญให้ถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดเวลา 5 ปี หรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี

เงื่อนไข 5 ปีไม่มีอะไร แต่เงื่อนไข 2 ปี ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม ยานพาหนะอับปาง หรือ อันตราย มันคืออะไร

การรบหรือสงครามนั้น สงครามตามกฎหมายระหว่างประเทศต้องมีการประกาศสงคราม เช่น สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ประเทศที่เข้าร่วมสงครามได้ประกาศสงคราม ดังนั้น ในกรณีสงครามกลางเมืองที่ไม่มีการประกาศสงครามและฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าร่วมสงคราม ซึ่งถ้าพิจารณาตามกฎหมายระหว่างประเทศอาจจะไม่เป็นสงคราม แต่เมื่อพิจารณาตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว บริเวณที่มีการรบถือได้ว่าเป็นสงครามตามนัยของมาตรา 61 แล้ว

กรณียานพาหนะที่บุคคลเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป หมายความรวมถึงอากาศยาน เรือ และพาหนะอื่นซึ่งรวมถึงรถยนต์ด้วย เช่น ในกรณีเรืออับปางศาลจังหวัดสตูลได้มีคำสั่งให้ นาย ก. เป็นคนสาบสูญ เนื่องจากศาลได้ไต่สวนพยานหลักฐานผู้ร้องแล้ว ได้ความว่า นาย ก. ประสบเหตุเรืออับปางกลางทะเล และไม่มีใครรู้แน่ว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ มาเป็นเวลา 2 ปีเศษ ดังนั้นกรณีเรือหลวงสุโขทัยก็เข้าข่ายอันนี้ ผู้มีส่วนได้เสียต้องรอ 2 ปีก่อนจึงสามารถร้องขอศาลให้มีคำสั่งเป็นคนสาบสูญได้

ภยันตรายแก่ชีวิตประการอื่น หมายถึง กรณีทั่วๆไป นอกจากการรบหรือสงคราม นอกจากยานพาหนะอับปาง เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด ไฟไหม้โรงงาน อุทกภัย อัคคีภัย โรคระบาดต่างๆ เป็นต้น

ผู้มีส่วนได้เสีย คือ ใคร ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง ผู้ที่ได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์หากศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ เช่น บิดา มารดา บุตร สามี ภริยา เป็นต้น หรือพนักงานอัยการ อาจมีคำร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลดังกล่าวนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ผู้ไม่มีส่วนได้เสียจึงไม่สามารถร้องขอให้ศาลสั่งแสดงความสาบสูญได้ เช่น ผู้ไม่มีสิทธิรับมรดกจะร้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่าเจ้ามรดกสาบสูญไม่ได้ ถ้าไม่ได้ประโยชน์หรือไม่เสียประโยชน์จากการที่ศาลสั่งแสดงความสาบสูญ ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้สาบสูญ

คนสาบสูญ แปลว่า อะไร

ผลของคำสั่งว่าบุคคลใดเป็นคนสาบสูญนั้น กฎหมายถือว่าบุคคลนั้นได้ ถึงแก่ความตาย ดังนั้น ทรัพย์สินของผู้สาบสูญก็จะกลายเป็นมรดก สิทธิหรือฐานะทั้งหลายอันเป็นการเฉพาะตัวของผู้สาบสูญก็สิ้นสุดลง และหากผู้สาบสูญได้ทำประกันชีวิตไว้ ผู้รับประโยชน์จากสัญญาประกันชีวิตก็สามารถเรียกเงินจากสัญญาประกันชีวิตได้

แต่การสาบสูญไม่ได้ทำให้ความเป็นสามีภริยาสิ้นสุดลงเพราะกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า การถึงแก่ความตายที่ทำให้การสมรสสิ้นสุดลง ต้องเป็นการถึงแก่ความตายโดยธรรมชาติเท่านั้น ดังนั้น คู่สมรสของผู้สาบสูญต้องฟ้องหย่าเพื่อให้การสมรสสิ้นสุดลง โดยนำคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญนี้ไปเป็นหลักฐานในการฟ้องหย่า

เรื่องนึ้จึงเป็นประเด็นที่อาจจะมีผู้สงสัยว่าถ้าคนสาบสูญมีคู่สมรสและไม่ได้หย่าขาดจากกันจะแบ่งมรดกได้หรือไม่ สมมติว่าคนสาบสูญมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันและมีคู่สมรส และศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้ว แต่คู่สมรสไม่ยอมแบ่งมรดกโดยอ้างว่ายังไม่ได้หย่าขาดกับสามีและยังไม่รู้ว่าส่วนไหนเป็นมรดกของผู้ตาย พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของคนสาบสูญสามารถฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาได้และส่วนใดเป็นของคนสาบสูญ ส่วนนั้นจะเป็นมรดกตกแก่ทายาททันที

แต่อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะสันนิษฐานเด็ดขาดว่า ผู้สาบสูญถึงแก่ความตาย แต่หากต่อมาปรากฏว่าบุคคลที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ ผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการหรือ ผู้ที่ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญสามารถร้องขอให้ศาลสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญได้ แต่การถอนคำสั่งนี้ไม่กระทบกระเทือนต่อความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายที่ได้ทำไปโดยสุจริตในระหว่างที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาที่ถอนคำสั่งนั้น

ปัญหาถัดมาก็คือว่า เมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญดังกล่าวแล้ว จะมีผลกระทบอย่างไรต่อบุคคลอื่นซึ่งได้ทรัพย์สินนั้นมาภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอน และบุคคลผู้ถูกคำสั่งให้สาบสูญนั้นเองจะทำอย่างไร หากกลับมาแล้วไม่มีทรัพย์สินเหลืออยู่อีกเพราะได้แบ่งปันกันไปเสียหมดแล้ว ในเรื่องนี้วรรคท้ายของมาตรานี้บัญญัติทางแก้ไว้ว่า ให้บุคคลผู้ได้ทรัพย์ไปนั้นต้องคืนทรัพย์ตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม คือ เหลือเท่าใดคืนเท่านั้น ไม่เหลือไม่ต้องคืน ถ้าได้ขายทรัพย์ไปได้เงินมาแทนต้องคืนเงิน ถ้านำเงินไปซื้อทรัพย์ใดต้องนำทรัพย์ซึ่งได้มาแทนนั้นมาคืน

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 2
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 1
ความจริงความคิด : เงินเกษียณ ประกันสังคม เกณฑ์ใหม่ที่ควรรู้
ความจริงความคิด : สัญญาณอันตราย เมื่อกระแสเงินสดเข้าน้อยกว่ากระแสเงินสดจ่าย
ความจริงความคิด : ทักษะทางการเงิน
ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน