ความจริงความคิด : ไม่มี ไม่หนี ให้ผู้ค้ำประกันจ่าย

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย ทั้งที่เป็นข่าว และไม่เป็นข่าว ไม่ใช่เรื่อง ดูดเงิน หรือ แก๊งค์ call center ที่มีมากเหลือเกิน โทรบ่อยกว่าคนขายประกันเสียอีก แต่เป็นเรื่องหนี้สูญจากการให้เพื่อนหรือคนรู้จักยืมเงิน เพราะส่วนใหญ่แล้วมักจะจบที่ไม่ได้เงินคืน

บางคนแม้จะไม่ได้ให้เพื่อนยืม แต่ก็เพราะเชื่อใจ ไว้ใจเพื่อน ก็เลยไปค้ำประกันให้เพื่อน สุดท้ายเมื่อเพื่อนเบี้ยวหนี้ เจ้าหนี้ก็ตามไล่ผู้ค้ำประกันให้จ่ายหนี้แทน เลยกลายเป็น เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง กระดูกแขวนคอ

ดังนั้น ท่องไว้เลย ไม่ค้ำ ไม่ให้ยืม ถ้าจำเป็นต้องให้ยืม ก็ให้ไปเลยในจำนวนที่เราทำใจได้ จะสบายใจกว่า ไม่เสียเพื่อนด้วย

เตือนตัวเองอย่างนี้ บางทีก็ใจอ่อน ถ้าคนที่ยืม คือ เพื่อนหรือญาติสนิท ถ้าให้เพื่อนยืม กรณีเลวร้ายสุด คือ หนี้สูญ แต่ถ้ารับบทเป็นผู้ค้ำประกัน ก็อาจต้องชดใช้หนี้แทนเพื่อน

ดังนั้นหากจำเป็นต้องเป็นผู้ค้ำประกันและไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ใช้หนี้แทนคนอื่น 4 เรื่องที่ผู้ค้ำประกันต้องรู้ ก่อนเซ็นยินยอมในใบสัญญาเงินกู้ให้กับคนอื่น

1. คนค้ำประกัน เป็นใครได้บ้าง

ไม่ว่าใครก็เป็นผู้ค้ำประกันได้ ด้วยเงื่อนไขที่มีช่องว่างขนาดนี้ ทำให้ผู้ขอสินเชื่อสามารถขอความช่วยเหลือจากคนรอบตัวได้ด้วยการเซ็นยินยอมให้เป็นผู้ค้ำประกัน แต่สิ่งที่ผู้ค้ำประกันต้องตรวจสอบก่อนยินยอม คือ

คนที่จะไปค้ำประกันให้ไว้ใจได้หรือไม่
ผู้กู้สินเชื่อมีความสามารถในการผ่อนจ่ายหนี้หรือเปล่า
หากเซ็นยินยอมโดยไม่ตรวจสอบข้อมูล เมื่อถึงเวลาที่ผู้ขอสินเชื่อจ่ายไม่ไหว หรือ ไม่ยอมจ่าย หนี้สินทั้งหมดก็จะตกเป็นของผู้ค้ำประกันทันที ดังนั้น ควรเซ็นค้ำประกันให้กับคนที่ไว้ใจได้จริง ๆ จะดีที่สุด

2. ทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันไม่นำมาพิจารณา
ธนาคารหรือบริษัทสินเชื่อจะไม่นำทรัพย์สินของผู้ค้ำประกันมาอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาการขอสินเชื่อของผู้กู้ตัวจริง ดังนั้น ถ้าผู้ค้ำประกันรู้จักกับผู้กู้สินเชื่อ และหวังว่าการเป็นผู้ค้ำประกันจะช่วยส่งเสริมให้กู้สินเชื่อผ่าน บอกเลยว่าไม่เกี่ยว และในทางกลับกันหากผู้กู้โดนยึดรถและไม่ปิดบัญชีตามกำหนด ทางผู้ค้ำประกันจะมีสิทธิเข้ามาปิดบัญและรับโอนรถได้ครับ

3. ดอกเบี้ยของผู้กู้ นำไปลดหย่อนภาษีไม่ได้
เมื่อถึงคราวต้องยื่นภาษีประจำปี ใครที่เคยกู้ซื้อบ้าน ก็จะนำดอกเบี้ยตรงนี้มาใช้ยื่นควบคู่กันเพื่อขอลดหย่อนภาษี แต่ขอบอกตรงนี้เลยนะครับว่า ดอกเบี้ยสินเชื่อในการเป็นผู้ค้ำประกัน ไม่สามารถนำไปใช้ยื่นลดหย่อนภาษีได้ เพราะคุณเป็นแค่ผู้ค้ำประกัน ไม่ได้มีส่วนร่วมในการใช้หนี้

4. ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดฝ่ายเดียว
เมื่อเซ็นยินยอมเป็นผู้ค้ำประกันใบสัญญาเงินกู้ ถือว่าผู้ค้ำประกันพร้อมรับความเสี่ยงเองทั้งหมด เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เช่น ผู้กู้สินเชื่อไม่ยอมจ่าย คนที่จะต้องรับผิดก็คือผู้ค้ำประกัน ก่อนหน้านี้ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดในภาระหนี้สินแทนลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นเงินต้น ดอกเบี้ยที่เกิดจากการผิดนัด โดยที่ไม่รู้เลยว่าลูกหนี้ไม่ได้จ่ายเงิน พอรู้ตัวอีกทีก็พบว่าหนิ้สินนั้นเพิ่มขึ้นมากมายก่ายกองกว่าตอนแรกเยอะเลย หรือกรณีสัญญาที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ร่วม ผลทำให้เจ้าหนี้จะเรียกเงินจากฝ่ายไหนก่อนก็ได้

แต่หลังจากที่ กฎหมายคุ้มครองผู้ค้ำประกัน 2558 ใช้บังคับ ผู้ค้ำประกันจะได้รับการคุ้มครองดังนี้

– การค้ำประกันหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไข (เช่น ความเสียหายที่เกิดจากการค้ำประกันบุคคล) ต้องกำหนดรายละเอียดของหนี้และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน รวมทั้งจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้เฉพาะหนี้ตามสัญญานั้น (จะต้องระบุว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบในวงเงินไม่เกินเท่าไร)

– กำหนดให้ข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมเป็นโมฆะ (สัญญาค้ำประกันที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ร่วมไม่มีผลใช้บังคับ ผลคือเจ้าหนี้จะต้องไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน จนก็กระทั่งลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้แล้วจึงค่อยมีเรียกร้องกับผู้ค้ำประกัน)

– กำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันเป็นภาระแก่ผู้ค้ำประกันเกินสมควร ให้ข้อตกลงนั้นมีผลเป็นโมฆะ (จะกำหนดสัญญานอกเหนือจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ ที่ทำให้ผู้ค้ำประกันเสียเปรียบไม่ได้)

– เพิ่มเติมหน้าที่ของเจ้าหนี้ให้ต้องแจ้งผู้ค้ำประกันเมื่อลูกหนี้ผิดนัด และผลกรณีเจ้าหนี้มิได้บอกกล่าว และกำหนดให้สิทธิแก่ผู้ค้ำประกันในการชำระหนี้ที่ถึงกำหนดได้ (ผลคือเวลาลูกหนี้ผิดนัด เจ้าหนี้ต้องแจ้งให้ผู้ค้ำประกัน ภายใน 60 วัน เพื่อที่ผู้ค้ำฯจะชำระหนี้ เพื่อไม่เกิดดอกเบี้ยในกรณีผิดนัด โดยที่ผู้ค้ำฯไปเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้ภายหลัง หากไม่แจ้งผู้ค้ำไม่ต้องรับผิดชอบ)

– ให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหนี้กระทำการใดๆ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ให้แก่ลูกหนี้ด้วย รวมทั้งกำหนดให้ข้อตกลงที่เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำประกันเป็นโมฆะ (ถ้าเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ลูกหนี้ก็มีผลถึงผู้ค้ำประกัน แต่ถ้าเป็นผลเสียแก่ผู้ค้ำจะใช้บังคับไม่ได้ )

– กำหนดให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้อันมีกำหนดเวลาแน่นอน หากเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ และห้ามกำหนดข้อตกลงไว้ล่วงหน้าให้ผู้ค้ำประกันยินยอมที่จะเป็นประกันหนี้นั้นต่อไป แม้ว่าเจ้าหนี้จะผ่อนชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้แล้ว (ผลคือ การขยายเวลาการชำหนี้ หรือการปรับโครงสร้างหนี้จะต้องขอความยินยอมจากผู้ค้ำฯ มิฉะนั้นผู้ค้ำจะพ้นจากการเป็นผู้ค้ำทันที)

สรุป

แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองผู้ค้ำประกัน 2558 แต่ผู้ค้ำประกันก็ยังต้องรับผิดชอบภาระหนี้แทนลูกหนี้อยู่ดี ดังนั้นนอกจากไม่ให้ใครยืมแล้ว อย่าค้ำประกันใคร ดีที่สุด

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : ภาษี e-book
ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้รับซื้อฝาก (ตอน1)
ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้ขายฝาก
ความจริงความคิด : คนสาบสูญ
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 2
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 1
ความจริงความคิด : เงินเกษียณ ประกันสังคม เกณฑ์ใหม่ที่ควรรู้
ความจริงความคิด : สัญญาณอันตราย เมื่อกระแสเงินสดเข้าน้อยกว่ากระแสเงินสดจ่าย
ความจริงความคิด : ทักษะทางการเงิน
ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน