ความจริงความคิด : ภาษี e-book

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ทุกวันนี้โดยส่วนตัวแล้ว เป็นหนอนหนังสือ ที่ชอบอ่านหนังสือมาก เมื่อชอบมากก็ซื้อมาก รู้สึกดีเวลาซื้อ แต่สุดท้ายหลายๆเล่มที่ซื้อมาไม่ได้เปิดอ่านเลย แถมกินพื้นที่บ้าน เป็นแหล่งเชิญชวนปลวกมาร่วมอยู่อาศัยด้วยอย่างดี จนต้องสังคายนา บริจาคให้กับองค์กรการกุศลต่างๆต่อไป

มาตอนนี้ เริ่มมีทางออกในการอ่านหนังสือมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น e-book หรือ หนังสือเสียงที่เราสมัครสมาชิก ก็สามารถอ่านหรือฟังได้ในราคาที่ถูกกว่าซื้อหนังสือตัวเป็นๆ ประหยัดทั้งตังค์และพื้นที่ ในช่วงหลังๆที่ผมเขียนหนังสือ ทางสำนักพิมพ์ก็จะให้สัญญาลิขสิทธิ e-book ไปพร้อมกันทีเดียว

เมื่อเราในฐานะนักเขียนมีรายได้จากลิขสิทธิ์ e-book อย่างนี้ ภาระภาษีเราจะเป็นยังไง อยากเสียภาษีให้ถูกต้อง ไม่อยากเสี่ยงกับสรรพากร ยิ่งช่วงนี้ท่านสรรพ์ออกมาขู่จัง

จะรู้ว่าต้องเสียภาษียังไง เราก็ต้องรู้ก่อนนะว่า เงินได้จากการเขียน e-book จัดอยู่ในเงินได้ประเภทไหน

ถ้าหากเราเป็นพนักงานสำนักพิมพ์กินเงินเดือน ทำหน้าที่เขียน e-book กรณีนี้เงินได้เราจะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) คือเงินได้จากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า (สำหรับมูลค่าของการที่อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่านั้น สรรพากรคำนวณประโยชน์เพิ่มเป็นเงินได้พึงประเมินในอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งเงินเพิ่มตลอดปีโดยไม่รวมโบนัส) เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน

แต่ถ้าหากเรารับจ้างเขียน e-book ให้สำนักพิมพ์ โดยลิขสิทธิ์เป็นของสำนักพิมพ์ กรณีนี้เงินได้เราจะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) คือ เงินได้จากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้โดยใช้แรงงานของตนเองเป็นสำคัญ(มีค่าใช้จ่ายน้อย) ไม่ว่าจะเรียกว่าค่าจ้าง ค่าตอบแทน เบี้ยประชุม บำเหน็จ ค่านายหน้า ค่าธรรมเนียม ส่วนลด เงินอุดหนุน หรือเรียกเป็นอย่างอื่น รวมถึงประโยชน์อย่างอื่นใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้นั้น เช่น ค่านายหน้าจากการติดต่อขายสินค้า ค่าคอมมิชชั่นของตัวแทนประกันชีวิต ค่านายหน้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ เบี้ยประชุม

เงินได้ทั้ง 2 ประเภทนี้ เงินได้เนื่องจากหน้าที่งานที่ทำ หักค่าใช้จ่ายได้รวมกันแค่ 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

แต่หากเรามีรายได้ในลักษณะของการขายลิขสิทธิ์ให้สำนักพิมพ์ กรณ๊นี้จะเป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(3) ได้แก่ ค่ากู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

ค่าสิทธิ หมายถึง ค่าตอบแทนเพื่อการใช้หรือสิทธิในการใช้ลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรม ศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์ใดๆ รวมทั้งการใช้ฟิล์มภาพยนต์ การใช้สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า แบบหรือหุ่นจำลอง แผนผังสูตรหรือกรรมวิธีลับใด ๆ หรือเพื่อข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยาการ หรือทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นเงินได้เนื่องจากทรัพย์สิน หักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ตัวอย่างที่ผมได้รับค่าลิขสิทธิ์อยู่ ก็อยู่ที่ 10% ของยอดขายที่สำนักพิมพ์ขายได้

แต่อีกกรณีคือ เราจัดทำ e-book เสร็จสิ้น ได้ส่งเป็นลักษณะไฟล์ดิจิทัล ไปยังเว็ปไซต์ที่บริการ e-book โดยเฉพาะ เมื่อลูกค้าของเว็ปไซต์ชำระเงินสั่งซื้อหนังสือ e-book จึงจะได้รับสิทธิแค่อ่านหนังสือ e-book เท่านั้น เมื่อเว็บไซต์มีรายได้จะแบ่งรายได้ให้เราสมมติที่ 80% เป็นของทางเว็บไซต์ 20% กรณีนี้เงินได้ของเราถือเป็นรายได้จากการให้บริการตำราเรียนที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ทั้งเว็บไซต์และเรา (นักเขียน) เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 ( 8 ) แห่งประมวลรัษฎากร (เงินได้พึงประเมินประเภทนี้ ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร)

แต่เนื่องจากเงินได้จากการให้บริการ e-book ไม่อยู่ใน list การหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาทั้ง 43 รายการตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร จึงต้องคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้เพียงสถานเดียว หมายความว่า ผู้มีเงินได้จากการให้บริการ e-book ต้องเก็บหลักฐานการจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ ทั้งในส่วนของรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน และรายจ่ายในการดำเนินงาน เพื่อพร้อมพิสูจน์แสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินได้ทันที เช่นเดียวกับกรณีการคำนวณกำไรสุทธิทางภาษีอากรของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

• ขั้นที่หนึ่ง คำนวณหาจำนวนภาษีตาม วิธีที่ 1 เสียก่อน
การคำนวณภาษีตามวิธีที่ 1เงินได้พึงประเมินทุกประเภทรวมกันตลอดปีภาษี xxxx (1)
หัก ค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด xxxx (2)
(1)-(2) เหลือเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย xxxx (3)
หัก ค่าลดหย่อนต่าง ๆ (ไม่รวมค่าลดหย่อนเงินบริจาค) ตามที่กฎหมายกำหนด xxxx (4)
(3)-(4) เหลือเงินได้หลังจากหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ xxxx (5)
หัก ค่าลดหย่อนเงินบริจาค ไม่เกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด xxxx (6)
(5-6) เหลือเงินได้สุทธิ xxxx (7)
นำเงินได้สุทธิตาม (7) ไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
จำนวนภาษีตามการคำนวณภาษีวิธีที่ 1 xxxx (8)

• ขั้นที่สอง ให้พิจารณาว่าจะต้องคำนวณภาษีตาม วิธีที่ 2 หรือไม่ ถ้าเข้าเงื่อนไขที่จะต้องคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 จึงคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 อีกวิธีหนึ่ง กรณีที่ต้องคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 ได้แก่ กรณีที่เงินได้พึงประเมินทุกประเภทในปีภาษี แต่ไม่รวม เงินได้พึงประเมินตามประเภทที่ 1 มีจำนวนรวมกันตั้งแต่ 120,000 บาทขึ้นไป การคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 นี้ ให้คำนวณในอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดเงินได้พึงประเมิน (= เงินได้พึงประเมินทุกประเภทลบเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 คูณด้วย 0.005) ดังกล่าวนั้น

• ขั้นที่สาม สรุป จำนวนภาษีที่ต้องเสียภาษี กำหนดให้ (9) คือ จำนวนภาษีที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 2

การคำนวณภาษี

จำนวนภาษีเงินได้สิ้นปีที่ต้องเสีย เทียบ (8) และ (9) จำนวนที่สูงกว่า xxxx (11)
หัก ภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายแล้ว xx
ภาษีเงินได้ครึ่งปีที่ชำระไว้แล้ว xx
ภาษีเงินได้ชำระล่วงหน้า xx
เครดิตภาษีเงินปันผล xx xx (12)
(11-12) เหลือ ภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย (หรือที่เสียไว้เกินขอคืนได้) xx

หมายเหตุ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป หากคำนวณตามวิธีที่ 2 แล้วมีภาษีเงินได้ที่ต้องเสียจำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 5,000 บาท ผู้มีเงินได้ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามวิธีที่ 2 (10) แต่ยังคงมีหน้าที่เสียภาษีตามจำนวนที่คำนวณได้ตามวิธีที่ 1 ( 8 ) โดยนำมาสรุปจำนวนภาษีที่ต้องเสียขั้นที่สาม

3. ผู้มีเงินได้จากการให้บริการ e-book ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้งได้แก่
> ครั้งแรกยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.94 ในเดือนกันยายนสำหรับเงินได้ในเดือน มกราคม-มิถุนายน
> ครั้งที่ 2 ยื่นตามแบบ ภ.ง.ด.90 ในเดือนมีนาคมของปีถัดไปสำหรับเงินได้ ในเดือนมกราคม-ธันวาคม โดยนำภาษีที่จ่าย ครั้งแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ ในครั้งที่ 2
ด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินได้จากการให้บริการ e-book เป็นเงิยได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 4 (16) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 585) พ.ศ. 2558 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
“มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการให้บริการ ดังต่อไปนี้…
(16) การให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน ที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต”

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ สุเทพ พงษ์พิทักษ์ วิสัชนาปัญหาภาษี

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้รับซื้อฝาก (ตอน1)
ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้ขายฝาก
ความจริงความคิด : คนสาบสูญ
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 2
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 1
ความจริงความคิด : เงินเกษียณ ประกันสังคม เกณฑ์ใหม่ที่ควรรู้
ความจริงความคิด : สัญญาณอันตราย เมื่อกระแสเงินสดเข้าน้อยกว่ากระแสเงินสดจ่าย
ความจริงความคิด : ทักษะทางการเงิน
ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน