ความจริงความคิด : แก่อย่างไรลูกหลานไม่ตีกัน

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

สังคมไทยเป็นสังคมครอบครัวมาตั้งนานแล้ว พ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกันในบ้านเดียวกัน เมื่อครอบครัวขยายใหญ่ พ่อแม่หลายครอบครัวก็ปลูกบ้านอยู่ในบริเวณเดียวกัน จะได้ดูแลช่วยเหลือลูกเมื่อมีปัญหา ไม่ว่าลูกจะแต่งงานมีครอบครัวแล้วก็ตาม

สอดคล้องกับรายงานวิจัยอันหนึ่งที่ผมต้องขอโทษเจ้าของรายงานวิจัยจริงๆที่จำไม่ได้ว่าเป็นของใคร จึงไม่สามารถให้เครดิตได้ในครั้งนี้ แต่ก็ขอขอบพระคุณอย่างสูงสำหรับรายงานวิจัยที่ให้ข้อมูลดีๆ

ตามรายงานวิจัย พบว่าคนสูงอายุกังวลอยู่ 3 เรื่อง

เจอรายงานวิจัยนี้ บางคนอาจคิดว่า พ่อแม่จะห่วงเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง (เรื่องสุขภาพ เรื่องเงิน) มากกว่าลูก แต่จริงๆแล้วเท่าที่เคยประสบมาตลอดชีวิตการทำงานนักวางแผนการเงิน สิ่งที่พ่อแม่ห่วงใยมากที่สุด คือ ลูก

ลองสังเกตุง่ายๆนะ ว่า พ่อแม่ที่สูงอายุอยู่บ้าน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย มักจะเก็บเป็นความลับ ไม่บอกให้ลูกหลานรู้ กลัวลูกหลานเป็นห่วง เป็นกังวล เจ็บไข้ก็ไม่ไปหาหมอ ซื้อยากินเอง ถามว่าทำไมไม่ไปหาหมอ คำตอบที่ได้ คือ เสียดายตังค์ อยากเก็บเงินไว้ให้ลูก กว่าตัวเองจะยอมหาหมอ ก็ต่อเมื่ออาการรุนแรงจนช้าเกินการรักษา

ยามชรา รายได้มีน้อย มีแต่รายจ่าย พ่อแม่ก็ยังให้ทรัพย์สินแก่ลูกเสมอ โดยไม่กังวลว่า ยามแก่จะไม่มีเงินใช้ ยามเจ็บป่วยจะไม่มีเงินรักษา หลายคนถึงกับโอนบ้านที่ตนเองอยู่ให้ลูกเลยก็มี โดยเชื่อมั่นว่าลูกจะรักและเลี้ยงดูตนเอง

แต่หากมองในมุมของเด็กรุ่นใหม่ จะห่วงใยพ่อแม่เหมือนที่พ่อแม่ห่วงใยหรือไม่ คำพูดที่ว่า

“พ่อแม่ 1 คน เลี้ยงลูก 10 คน เลี้ยงได้
ลูก 10 คน เลี้ยงพ่อแม่ 1 คน เลี้ยงไม่ได้”

เป็นจริงหรือไม่ เดือนก่อนอ่านพบกระทู้หนึ่งใน pantip

“เกลียดพ่อแม่ที่ไม่ยอมทําอะไรให้ลูกในสิ่งที่ลูกชอบ ไม่เคยพยายามให้รวยขึ้น ทําอะไรเดิมๆไม่หาอัพสกิล รอเวลาให้ลูกโตเลี้ยงตัวเองตอนแก่ ง่ายๆคือเป็นภาระให้ลูกในอนาคตแน่นอนว่ามีข้ออ้างตามมาว่าเลี้ยงลูกตั้งแต่เด็กๆ วัฎจักรนี้เมื่อไหร่จะหมดไปสักที ถ้าสังคมไทยยังมีคนหัวโบราณแบบนี้อีก คงจะมีแต่คนจนทั่วประเทศแน่นอน หนึ่งเลย พอโตขึ้นต้องเลี้ยงพ่อแม่ค่าอาหาร ค่าเจ็บป่วย ถ้าจะมีครอบครัวก็ต้องเตรียมเงินไว้เป็นกองเลยหละ เพื่อนๆมีวิธีแก้วัฎจักรนี้ยังไงครับมาแชร์ความรู้กัน ถ้ายังมีพ่อแม่แบบนี้ในสังคมลูกของพวกเขาจะไม่มีเงินเก็บเลยครับ”

พบความเห็นคนรุ่นใหม่ (บางคน) เป็นอย่างนี้ คนเป็นพ่อเป็นแม่ถ้าหวังพึ่งลูกยามชรา ก็ถือว่าประมาทมาก

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อพ่อแม่เป็นภาระของลูก ลูกๆบางคนก็จะเกี่ยงกัน ทะเลาะกัน แล้วอย่างนี้ คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ หากรักลูก ไม่อยากให้ลูกทะเลาะกัน ต้องทำอย่างไร

คำตอบก็คือ “อย่าเป็นภาระลูก” มีสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพเงินที่แข็งแรง อยู่ได้ด้วยตัวเองคนเดียว ตามเป้าหมายของการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณอายุ คือ YOYO (You are on your own)

สุขภาพกายที่ดี ก็ด้วยการดูแลรักษาร่างกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย ฯลฯ สุขภาพใจที่ดี ก็ด้วย การมีสังคม การทำสมาธิ การทำงานอดิเรก การทำประโยชน์ให้สังคม ฯลฯ ส่วนสุขภาพเงินที่ดี คือ มีเงินพอใช้ในชีวิตประจำวันและยามเจ็บป่วย ฯลฯ

แต่ความเสื่อมของร่างกายเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เพียงเท่านั้น โรคร้ายแรงอย่างมะเร็งก็มีโอกาสเป็นได้มากขึ้น โดยเฉพาะคนสูงอายุ ดังนั้น พ่อแม่ควรมีแผนสวัสดิการรักษาพยาบาลของตัวเอง จะใช้ประกันสังคม หรือ บัตรทอง หรือ ประกันสุขภาพของบริษัทประกันก็เลือกเอา

ทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ซื้อประกันสุขภาพแบบเรารับผิดชอบส่วนแรก เหมือนประกันรถยนต์แบบหากเราเป็นฝ่ายผิด เราต้องรับผิดชอบส่วนแรก ซึ่งส่วนแรกที่เราต้องรับผิดชอบนี้ เราสามารถใช้สิทธิประกันสังคม หรือ บัตรทอง ก็ได้ ประกันสุขภาพแบบนี้จะเบี้ยถูกกว่าประกันสุขภาพทั่วไป และมีเงินเก็บส่วนหนึ่งเผื่อสำรองค่ารักษาพยาบาลที่เกินกว่าความคุ้มครองของประกัน

ส่วนเรื่องสุขภาพเงิน คงต้องคุยยาวจะต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงพอใช้ จะบริหารเงินอย่างไรดี ไว้ครั้งหน้าแล้วกันนะ

……..

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : ไม่มี ไม่หนี ให้ผู้ค้ำประกันจ่าย
ความจริงความคิด : ภาษี e-book
ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้รับซื้อฝาก (ตอน1)
ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้ขายฝาก
ความจริงความคิด : คนสาบสูญ
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 2
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 1
ความจริงความคิด : เงินเกษียณ ประกันสังคม เกณฑ์ใหม่ที่ควรรู้
ความจริงความคิด : สัญญาณอันตราย เมื่อกระแสเงินสดเข้าน้อยกว่ากระแสเงินสดจ่าย
ความจริงความคิด : ทักษะทางการเงิน
ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน