ความจริงความคิด : อยากเป็นคนดี แต่กลัวโดนภาษี

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ใกล้สิ้นปีนอกจากเรื่องเกษียณแล้ว อีกเรื่องที่คนสนใจกันมากก็คือ เรื่องภาษี ยิ่งช่วงนี้สรรพากรก็ขยันมากเหลือเกิน (ทีหน่วยงานที่ควรขยันกลับไม่ขยัน น่าจะขอดูงานสรรพากรบ้างนะ) อย่างเช่น การขอลดหย่อน RMF, SSF ปีนี้ สรรพากรจะใช้ข้อมูลจากบริษัทจัดการเหมือนลดหย่อนประกันชีวิตเลย ดังนั้นใครที่ซื้อ RMF, SSF เอาไว้อย่าลืมแจ้งความประสงค์การนำส่งและเปิดเผยข้อมูลการลงทุนในกองทุน SSF/RMF ต่อกรมสรรพากร เพื่อใช้เป็นสิทธิลดหย่อนภาษีประจำปี 2565

เห็นสรรพากรขยันขนาดนี้ คนที่หนีภาษีมาตลอดก็เริ่มหนาว กลัวว่าวันนึงหากสรรพากรตรวจเจอ อาจล้มละลายได้ ก็เลยอยากกลับตัวเป็นคนดี แต่ก็กลัวสรรพากรจะตรวจเจอว่าที่ผ่านมาหนีภาษีมาตลอด ก็โดนภาษีย้อนหลังอยู่ดี เลยตัดสินใจไม่ถูกจะเป็นคนดีๆมั๊ย เลยมักจะมีคำถามเด็ดๆว่า “ถ้าเป็นคนดี สรรพากรจะตรวจเจอมั๊ยว่าหนีภาษีมาตลอด”

คำตอบที่ให้ได้ ก็คือ “ไม่รู้ สรรพากรจะตรวจเจอหรือไม่ แล้วแต่ดวง” และ “ถ้าตรวจเจอ ก็มีความผิดตามกฎหมาย” แต่ถ้าถามว่า “หยุดทำผิดตอนนี้ กับ ทำผิดต่อไปเรื่อยๆ อย่างไหนดีกว่ากัน?” อันนี้ตอบได้ครับ “หยุดทำผิดตั้งแต่ตอนนี้เลยดีกว่าแน่นอน เพราะยิ่งทำผิด โอกาสถูกตรวจเจอก็ยิ่งเยอะ แถมถ้าหยุดตอนนี้ หากไม่ถูกสรรพากรเรียกเกิน 5 ปี ก็นอนตายตาหลับ เอ๊ย! ไม่ใช่ ก็นอนหลับสบายได้ ไม่ต้องสะดุ้งตื่น

เพราะตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีเงินได้ ทั้งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลดังนี้

….“มาตรา 19 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้น นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า เจ็ดวันนับแต่วันส่งหมาย ทั้งนี้ การออกหมายเรียกดังกล่าว จะต้องกระทำภายในเวลาสองปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการไม่ว่าการยื่นรายการนั้น จะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไปหรือไม่ ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง เว้นแต่กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร อธิบดีจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่าสองปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ แต่กรณีขยายเวลาเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากรให้ขยายได้ไม่เกินกำหนดเวลาตามที่มีสิทธิขอคืนภาษีอากร”

จากบทบัญญัติดังกล่าว อาจแยกพิจารณาได้ดังนี้

1. มูลเหตุที่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจในการออกหมายเรียก
….เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจในการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ภายใต้ขอบเขตที่กำหนดดังต่อไปนี้
….(1) เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ต้องเสียภาษีเงินได้รายใดแสดงรายการเกี่ยวกับการคำนวณภาษีเงินได้ตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์
….(2) เพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร

2. การออกหมายเรียกดังกล่าว จะต้องกระทำภายในเวลาดังต่อไปนี้
….(1) โดยทั่วไปภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ ไม่ว่าการยื่นรายการนั้น จะได้กระทำภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหมวด 3 แห่งประมวลรัษฎากร หรือเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรืออธิบดีกรมสรรพากรขยายหรือเลื่อนออกไปตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง
….(2) กรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร อธิบดีกรมสรรพากรจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่า 2 ปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ
….(3) กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร อธิบดีกรมสรรพากรจะอนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกดังกล่าวเกินกว่า 2 ปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ

………กรณีอธิบดีกรมสรรพากรจะอนุมัติให้เจ้าพนักงานประเมินขยายเวลาการออกหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร เกิน 2 ปี แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่ปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยต่อเจ้าพนักงานประเมินว่า ผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ที่ได้ยื่นรายการมีเจตนาหลักเลี่ยงภาษีอากร อย่างชัดแจ้ง ตั้งแต่ในชั้นการขออนุมัติออกหมายเรียก มิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินนึกอยากจะออกหมายเรียกเกินกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี ก็จะกระทำได้โดยง่ายดาย เพราะเป็นเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อมิให้เจ้าพนักงานใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ ซึ่งฝ่ายผู้ต้องเสียภาษีเงินได้ก็ต้องรู้ตัวเองดีว่า ตนมีกรณีที่มีหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรหรือไม่อย่างไร หากไม่มีเหตุเช่นนั้นก็ย่อมมีสิทธิที่จะโต้แย้งต่อการปฏิบัติของเจ้าพนักงานประเมินได้ โดยไม่พึงต้องยอมให้เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามความเป็นจริง

3. อำนาจตามหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร

….ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้น นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้

4. อำนาจประเมินภาษีเงินได้ตามผลการตรวจสอบตามมหมายเรียกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร

….(1) อำนาจประเมินและแจ้งการประเมินจำนวนภาษีเงินได้ตามมาตรา 20 แห่งประมวลรัษฎากร “เมื่อได้จัดการตามมาตรา 19 และทราบข้อความแล้ว เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจที่จะแก้จำนวนเงินที่ประเมิน หรือที่ยื่นรายการไว้เดิมโดยอาศัย พยานหลักฐานที่ปรากฏและแจ้งจำนวนเงินที่ต้อง ชำระอีกไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้จะอุทธรณ์การประเมินก็ได้”
….(2) อำนาจประเมินและแจ้งการประเมินจำนวนภาษีเงินได้ตามมาตรา 21 แห่งประมวลรัษฎากร “ถ้าผู้ต้องเสียภาษีอากรไม่ปฏิบัติตามหมาย หรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา 19 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเงินภาษีอากรตามที่รู้เห็นว่าถูกต้อง และแจ้งจำนวนเงินซึ่งต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษีอากร ในกรณีนี้ห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมิน
….(3) อำนาจประเมินเบี้บปรับตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากร “ในการประเมินตามมาตรา 20 หรือมาตรา 21 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ต้องเสียภาษีต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระอีก
….(4) อำนาจประเมินเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรบุคคลใดไม่เสียภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่างๆ แห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมิน ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย โดยไม่รวมเบี้ยปรับ ………การคำนวณเงินเพิ่มดังกล่าว ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการภาษีจนถึงวันชำระ แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสีย
….(5) กำหนดเวลาชำระภาษีเงินได้ตามหนังสือแจ้งการประเมินตามมาตรา 18 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร “ในกรณีเจ้าพนักงานประเมิน ได้ประเมินให้เสียภาษี บุคคลผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะต้องชำระภาษีนั้น พร้อมทั้งเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน

7. บทกำหนดโทษกรณีฝ่าฝืนมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร
….ตามมาตรา 36 แห่งประมวลรัษฎากร “ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายหรือสรรพากรจังหวัด เจ้าพนักงานประเมิน ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ออกตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก face book page: สุเทพ พงษ์พิทักษ์

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : ไม่รู้ว่า ไม่รู้อะไร
ความจริงความคิด : Forex คือเรื่องหลอกลวง
ความจริงความคิด : จิตวิทยาการโกง รู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา 2
ความจริงความคิด : จิตวิทยาการโกง รู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา 1
ความจริงความคิด : ภาษีคลีนิค
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : อย่าเชื่อเพียงเพราะเป็นโฆษณาบนสื่อที่เชื่อถือได้
ความจริงความคิด : 600,000 ปล่อยกูไปตามทางของกูเถอะ
ความจริงความคิด : ภาษีลาภลอย
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน
ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ