ความจริงความคิด : ไม่รู้ว่า ไม่รู้อะไร

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

“Ignorance more frequently begets confidence than does knowledge”

“ความเขลามักก่อให้เกิดความมั่นใจ มากกว่าความรู้”

Charles Darwin (1871)

#คนโง่จะไม่รู้ตัวว่าตัวเองโง่” เป็นประโยคที่มักมีคนพูดถึงบ่อยๆ อันที่จริงมีการศึกษาจำนวนมากที่พบว่าคนที่ไม่มีความสามารถ(ในอะไรสักอย่าง) จะขาดความสามารถในการประเมินความสามารถของตัวเองเช่นกัน โดยงานวิจัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่องนี้น่าจะเป็นการศึกษาของ ศาสตราจารย์เดวิด ดันนิง (David Dunning) กับ จัสติน ครูเกอร์ (Justin Kruger) ซึ่งโด่งดังจนได้รับรางวัลอิกโนเบล*สาขาจิตวิทยาประจำปี ค.ศ. 1999

—ที่มาของการศึกษา—

ในปี ค.ศ. 1995 กระทาชายคนหนึ่ง นามว่าแมคอาเธอร์ วีลเลอร์ (McArthur Wheeler) ได้ทำการปล้นธนาคารสองแห่งตอนกลางวันแสกๆ โดยไม่ได้ปกปิดใบหน้าใดๆ แน่นอนว่ากล้องวงจรปิดของธนาคารจับภาพใบหน้าได้อย่างชัดเจน และนายแมคอาเธอร์ก็ถูกจับในเย็นวันนั้น เมื่อนายแมคอาเธอร์เห็นภาพตัวเองในเทปจากกล้องวงจรปิดก็โวยวายขึ้นว่า “เฮ้ย เป็นไปได้ยังไง ก็ข้าเอาน้ำมะนาวทาหน้าไว้แล้วนี่” ไม่แน่ใจเหมือนกันว่านายแมคอาเธอร์ผู้นี้ไปอ่านมาจากที่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือ เขาเชื่ออย่างเต็มที่ว่าการทาน้ำมะนาวไว้บนหน้าจะทำให้กล้องบันทึกภาพหน้าเขาไม่ติด -_-‘’ ศาสตราจารย์ดันนิงฟังข่าวนี้แล้วก็เกิดความคิดว่า ความไม่รู้นอกจากทำให้คนบางคนเชื่ออะไรผิดๆ และนำไปสู่การตัดสินใจอันงี่เง่าแล้ว ความไม่รู้นี้ยังน่าจะทำให้คนกลุ่มนี้ไร้ความสามารถในการที่จะตระหนักรู้ได้ถึงความไม่รู้นั้นอีกด้วย

คิดได้ดังนี้แล้วศาสตราจารย์ดันนิงจึงได้ทำงานวิจัยขึ้นมาชิ้นหนึ่งกับครูเกอร์ ซึ่งผมได้สรุปวิธีการทำวิจัยมาไว้ดังต่อไปนี้ (ในความเป็นจริงงานวิจัยจะประกอบไปด้วยการทดลอง 4 ชิ้นย่อย แต่ในที่นี้เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ผมจะขอเขียนรวบงานวิจัยย่อยทั้งหมดเข้าด้วยกันนะครับ)

—– งานวิจัย ——-

งานวิจัยทำโดยให้อาสาสมัครซึ่งเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ทำแบบทดสอบวัดความรู้ด้าน “ตรรกศาสตร์” และ “ไวยากรณ์” โดยเมื่อทำการทดสอบแล้วจะให้นักศึกษาแต่ละคนให้คะแนนตัวเองว่า 1) ตัวเขาน่าจะได้คะแนนสักเท่าไหร่ 2) เขาน่าจะได้คะแนนเป็นอันดับที่เท่าไหร่เมื่อเทียบกับเพื่อนคนอื่น (โดยให้บอกเป็นอันดับ 1-100 อันดับ 100 คือได้คะแนนสูงสุดในห้อง ส่วนอันดับที่ 1 คือที่โหล่) ผลคะแนนออกมาเป็นดังกราฟด้านล่าง

โดยตามแกนนอนผู้วิจัยแบ่งกลุ่มนักศึกษาออกเป็น 4 กลุ่มตามผลคะแนนทดสอบที่ทำได้จริงๆ กลุ่มละ 25% ของคนทั้งหมด กลุ่มแรกสุดทางด้านซ้ายก็คือกลุ่มคน 1 ใน 4 ของทั้งหมดที่ได้คะแนนน้อยที่สุด และก็เรียงมาเรื่อยๆ กลุ่มที่อยู่แกนนอนทางขวาสุดก็คือกลุ่มคน 1 ใน 4 ที่ได้คะแนนสูงที่สุด ในขณะที่กราฟจุดวงกลมแสดงคะแนนทดสอบที่ทำได้จริงๆ

กราฟเส้นสามเหลี่ยมแสดงคะแนนที่คาดว่าตัวเองทำได้ และกราฟเส้นสี่เหลี่ยมคือคาดว่าตัวองได้อันดับที่เท่าไหร่
เมื่อมาพิจารณากลุ่มซ้ายสุดซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้คะแนนน้อยที่สุด จะเห็นว่าคนกลุ่มนี้คิดว่าตัวเองน่าจะได้คะแนนเยอะ และคิดว่าตัวเองน่าจะได้คะแนนดีเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ดังจะเห็นว่าว่ากลุ่มนี้คิดว่าตัวเองน่าจะได้อันดับประมาณที่ 60 จาก 100 (อ้อ … อย่าลืมนะครับ อันดับ 100 คือคะแนนสูงที่สุดในห้อง) ทั้งๆ ที่ ผลการทดสอบจริงตัวเองอยู่ในอันดับประมาณ 20 โน่น (เกือบโหล่) ผลการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่า

********************

1) คนไม่มีความรู้จะไม่รู้ตัวว่าตัวเองไม่รู้
2) คนกลุ่มนี้จะประเมินระดับความสามารถของตัวเองไม่ได้ ทำให้คิดว่าตัวเองเก่งเกินจริง
3) นอกจากนี้คนกลุ่มนี้จะไม่สามารถประเมินความสามารถของคนอื่นได้อีกด้วย จึงทำให้ไม่รู้ว่าเราเก่งหรือด้อยกว่าคนอื่น

ในการทดสอบเพิ่มเติมอันหนึ่งผู้วิจัยได้เอากระดาษคำตอบของคนอื่นส่งให้กลุ่มผู้ที่ได้คะแนนน้อยดู (สรุปคือได้เห็นกระดาษคำตอบของคนอื่นที่ส่วนใหญ่คะแนนมากกว่าตัวเอง) แล้วให้จัดอันดับของตัวเองเมื่อเทียบกับเพื่อนใหม่ ปรากฏว่าคนกลุ่มนี้ก็ยังจัดอันดับตัวเองอยู่พอๆ เดิม คือคิดว่าตัวเองน่าจะได้อันดับประมาณ 60 ทั้งๆ ที่ของจริงอยู่อันดับ 20 ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มคนที่ทำคะแนนได้สูงๆ พอเห็นกระดาษคำตอบของคนอื่น จะจัดอันดับตัวเองได้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของข้อสรุปอันที่สาม คือคนที่ไร้ความสามารถต่อให้เห็นความสามารถของผู้อื่น ก็บอกไม่ได้อยู่ดีว่าตัวเองเก่งหรือด้อยกว่า

คำอธิบาย ซึ่งแม้จะฟังแล้วเจ็บปวด แต่การศึกษาพบว่า ความสามารถที่จะรู้ว่าตัวเองไม่รู้นั้นอาศัยความรู้ในเรื่องนั้นในระดับหนึ่ง ว่ากันง่ายๆ คือ หากเราจะรู้ว่าเราเขียนหนังสือได้ดีถูกไวยากรณ์หรือไม่ จำเป็นต้องมีความสามารถระดับหนึ่งที่สามารถแยกได้ว่าเขียนแบบไหนถูกแบบไหนผิด ซึ่งหากไร้ซึ่งความรู้ ก็จะบอกไม่ได้ว่าตัวเองเขียนดีหรือไม่ ทำให้ประเมินความสามารถของตัวเองไม่ได้ ซึ่งรวมไปถึงจะประเมินความสามารถคนอื่นก็ไม่ได้ด้วยเช่นกัน หรือถ้าพูดอย่างแรงหน่อยก็คือ คนโง่จะบอกไม่ได้ว่าใครฉลาดหรือไม่ฉลาด เพราะขาดความรู้เกินกว่าที่จะสามารถแยกคนฉลาดออกจากคนโง่ได้

คราวนี้มาดูฝั่งกลุ่มผู้ได้คะแนนสูงบ้าง (ในกราฟคือช่องขวาสุด) จะเห็นว่าคนกลุ่มนี้ประเมินความสามารถตัวเอง และอันดับของตัวเองได้แม่นกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ได้คะแนนน้อย และพบว่าการประเมินตัวเองจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือประมาณความสามารถและอันดับของตัวเองน้อยกว่าความเป็นจริง ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะคนเก่งมักจะคิดว่ายังมีอะไรอีกมากที่ตัวเองไม่รู้เลยไม่ให้คะแนนตัวเองสูงๆ

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วมีทางแก้ไขไหม คำตอบคือมีครับ ในการทดลองย่อยอันสุดท้าย ศาสตราจารย์ดันนิ่งได้ทำการทดสอบเพิ่มเติมโดยเอานักศึกษาที่เข้าร่วมวิจัยนี้จำนวนหนึ่งไปอบรมให้ความรู้เพิ่มเติม พบว่าหลังฝึกอบรม นักศึกษากลุ่มนี้จะประเมินความสามารถของตัวเอง และความสามารถของตัวเองเมื่อเทียบกับคนอื่นได้ดีขึ้น จึงทำให้สรุปได้ว่า สำหรับผู้ที่ไม่รู้ การได้รับความรู้เพิ่มเติมเข้าไปจะช่วยให้ตระหนักถึงความสามารถตัวเองมากขึ้น หรือหากพูดแบบบ้านๆ เลยก็คือ คนโง่เมื่อได้รับความรู้ ก็จะรู้ตัวมากขึ้นว่าตัวเองโง่และสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ครับ //หมอคลองหลวง

สรุปได้ก็คือ ความรู้เป็นบ่อเกิดแห่งความแม่นยำในการประเมินตนเอง ในชีวิตจริงของเรา ต้องพบเจอคนมากมายโดยเฉพาะคนที่มีลูกน้อง จะบริหารลูกน้องหรือคนรอบข้างอย่างไรดี ก็ขอสรุปง่ายๆ ตามตารางข้างล่างครับ

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : Forex คือเรื่องหลอกลวง
ความจริงความคิด : จิตวิทยาการโกง รู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา 2
ความจริงความคิด : จิตวิทยาการโกง รู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา 1
ความจริงความคิด : ภาษีคลีนิค
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : อย่าเชื่อเพียงเพราะเป็นโฆษณาบนสื่อที่เชื่อถือได้
ความจริงความคิด : 600,000 ปล่อยกูไปตามทางของกูเถอะ
ความจริงความคิด : ภาษีลาภลอย
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน
ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ