โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
ครั้งที่แล้ว เราคุยกันถึงหน้าที่ของผู้จัดการมรดก คือ จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก
แต่ก็เกิดคำถามขึ้นเลย ก็คือ หากผู้จัดการมรดกทำผิดหน้าที่ล่ะ ทายาททำอะไรได้บ้าง
ทายาทสามารถทำได้หลายวิธีครับ อย่างเช่น
1. ถอนผู้จัดการมรดก เมื่อผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือมีเหตุอย่างอื่นที่สมควร เช่น ไม่เริ่มทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน ไม่ยื่นบัญชีทรัพย์มรดกต่อศาลภายใน 1 เดือนตามกฎหมายกำหนด แบ่งทรัพย์มรดกไปในทางที่จะเกิดความเสียหายแก่ทายาท ฯลฯ ตามมาตรา 1727 ที่ระบุว่า “ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง
2. ฟ้องแบ่งทรัพย์มรดก กรณีนี้ทายาทไม่ต้องการเปลี่ยนผู้จัดการมรดก แต่ต้องการให้ผู้จัดการมรดกคนปัจจุบันทำการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตามกฎหมาย อายุความคดีขอแบ่งทรัพย์มรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 กำหนดห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่เจ้ามรดกตาย แต่หากศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว ถือว่าผู้จัดการมรดกได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคน อายุความจะสะดุดหยุดลง ดังนั้นหากยังมีผู้จัดการมรดกอยู่ ทายาทก็สามารถฟ้องได้ตลอดไม่มีอายุความ
3. ฟ้องเพิกถอนการโอนทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1719 ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และมาตรา 1724 ทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก ดังนั้นหากผู้จัดการมรดกทำผิดหน้าที่ของผู้จัดการมรดก เช่น ผู้จัดการมรดกยักย้ายถ่ายเททรัพย์มรดกไปเป็นของตนหรือของบุคคลอื่น ขายทรัพย์มรดกโดยไม่ได้ขายในราคาที่สมควรตามราคาตลาด ขายทรัพย์มรดกโดยไม่ได้เป็นการขายเพื่อนำทรัพย์มรดกมาแบ่งให้ทายาท โอนมรดกให้บุคคลอื่นโดยไม่มีค่าตอบแทน รับโอนทรัพย์มรดกเป็นของตนคนเดียว ไม่แบ่งให้ทายาทคนอื่น ฯลฯ
ในกรณีเช่นนี้ ทายาทโดยธรรมผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนหรือขายทรัพย์มรดกดังกล่าวได้ แต่การเพิกถอนดังกล่าวต้องไม่กระทบต่อบุคคลภายนอกผู้รับซื้อทรัพย์โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทนแล้ว อายุความในการฟ้องเพิกถอนการโอนทรัพย์มรดก มีอายุความ 1 ปี แต่ถ้ามีการแบ่งทรัพย์มรดกโดยไม่ชอบ โดยผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกให้ตนเองหรือให้บุคคลอื่นโดยไม่ชอบ ก็ยังถือว่าผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทคนอื่นอยู่ อายุความจะสะดุดหยุดลง ทายาทมีสิทธิฟ้องติดตามทรัพย์มรดกคืนได้ไม่มีอายุความ
อ่านดูแล้ว ก็ยุ่งยาก ทำนองเงินไม่เข้าใครออกใคร ขนาดพี่น้องคลานตามกันมายังโกงทรัพย์มรดกกันได้ ดังนั้นหากไม่อยากให้ลูกหลานตีกัน นอกจากจะต้องชัดเจนในการแบ่งทรัพย์มรดกแล้ว จะแต่งตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกก็ต้องพิจารณาให้ดีด้วยเช่นกัน
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : มรดก “เสี่ยปาน” เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผู้จัดการมรดก
ความจริงความคิด รายได้ยังหายาก อย่าสร้างหนี้ให้เกินตัว
ความจริงความคิด : แก่อย่างไรลูกหลานไม่ตีกัน
ความจริงความคิด : ไม่มี ไม่หนี ให้ผู้ค้ำประกันจ่าย
ความจริงความคิด : ภาษี e-book
ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้รับซื้อฝาก (ตอน1)
ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้ขายฝาก
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 1
ความจริงความคิด : เงินเกษียณ ประกันสังคม เกณฑ์ใหม่ที่ควรรู้
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน