ความจริงความคิด : มรดก “เสี่ยปาน” เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผู้จัดการมรดก

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆที่น่าสนใจข่าวหนึ่ง ก็คือ ข่าว น.ส.มด อดีตภรรยานายยงยุทธ แก้วสวนจิก หรือ “เสี่ยปาน 30 ล้าน” ที่ถูกล็อตเตอร์รี่ รางวัลที่ 1 จำนวน 5 ใบ งวดวันที่ 16 ก.ย.58 กลายเป็นเศรษฐี 30 ล้านบาท แต่มีปัญหากับภรรยา จนต้องแยกทางกันเดิน มีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วย เป็นโรคมะเร็งทวารหนักระยะสุดท้าย จนมาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 พ.ค.65 ที่ผ่านมา

โดยพินัยกรรมของเสี่ยปานที่ทำไว้ก่อนจะเสียชีวิต มีใจความสรุปได้ว่า “บ้านและที่ดิน 10 ไร่ที่เป็นที่ตั้งบ้านขุนวรเดช ให้ผู้จัดการมรดกเป็นผู้ขาย จำหน่ายถ่ายโอน แล้วนำเงินที่ได้จากการขาย แบ่งให้น้อง“เกาลัด” ซึ่งเป็นลูกชายเสี่ยปานจำนวน 3,000,000 บาท โดยแบ่งเป็นเงินสด 2,000,000 บาท โอนเข้าบัญชีลูกชาย ส่วนอีก 1,000,000 บาทให้โอนให้เดือนละ 7,000 บาทไปจนกว่าจะครบ 20 ปีบริบูรณ์

แต่พี่สาวของเสี่ยปานซึ่งเป็นผจก.มรดกไม่ทำตามพินัยกรรมไม่ยอมจ่ายเงินให้ จนอดีตภรรยาต้องยื่นฟ้องต่อศาลจ.อุดรธานีทั้งอาญาและแพ่ง ในข้อหายักยอกทรัพย์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ศาล จ.อุดรธานี อดีตภรรยาได้มาตามนัดศาลฯ แต่ฝั่งผจก.มรดกคือ ป้าเก้า พี่สาวเสี่ยปาน 30 ล้านเบี้ยวที่ไม่มาตามศาลนัดครั้งที่ 3 โดยศาลได้เตรียมออกหมายจับ ผจก.มรดกเสี่ยปาน 30 ล้าน

เรื่องคดีเป็นยังไง ก็คงต้องรอคำพิพากษาของศาล แต่เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่อง ก็คือ ผู้จัดการมรดกมีสิทธิขายทรัพย์มรดกหรือไม่

เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้จัดการมรดกก่อนนะครับ

เมื่อบุคคลใดถึงแก่กรรม ทรัพย์สมบัติของบุคคลผู้นั้นก็จะกลายเป็นมรดกตกแก่ทายาท การแบ่งมรดก ทายาทจะแบ่งกันเองก็ได้ แต่ถ้ามีปัญหา เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการให้ หรือ ทายาทไม่สามารถตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันได้ ทายาทที่มีส่วนได้ส่วนเสียก็จะต้องร้องต่อศาลขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดก และเมื่อมีการแต่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้ว การจัดการแบ่งทรัพย์มรดกก็จะต้องกระทำผ่านผู้จัดการมรดก

อำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดก คือ จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก

สรุป ผู้จัดการมรดกมีสิทธิขายทรัพย์ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไป

1. เมื่อได้รับความยินยอมจากทายาทเสียงส่วนใหญ่แล้ว เว้นแต่กระทำโดยความจำเป็นเพื่อแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ก็ไม่จำเป็นต้องรับความยินยอม
2. ต้องขายในราคาที่เหมาะสม และกระทำโดยสุจริต
3. มีความจำเป็นต้องขาย เพราะไม่สามารถตกลงแบ่งทรัพย์มรดกด้วยวิธีอื่นได้ และเป็นการขายเพื่อนำเงินที่ได้แบ่งให้ทายาท
4. ผู้จัดการมรดกกระทำการโดยสุจริต ไม่มีผลประโยชน์ใดๆในการดังกล่าว

ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6219/2559
วินิจฉัยจำนองว่า ผู้จัดการมรดกมีอำนาจขายทรัพย์มรดกได้ เมื่อได้รับความยินยอมจากทายาทเสียงส่วนใหญ่แล้ว ถึงแม้จะมีทายาทบางคนคัดค้าน ก็ตาม ผู้จัดการมรดกก็มีอำนาจขายได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตศาลอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6219/2559
เมื่อ จ. และ น. ถึงแก่ความตายแล้วทายาทยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกกัน ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ จ. และ น. ดังนั้น ส. ย่อมมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคน เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของทายาททุกคนของ จ. และ น. เช่นเดียวกับ ส. จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ร่วมกับ ธ. และเป็นผู้จัดการมรดกของ จ. ร่วมกับ ก. จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะตัวแทนของทายาททุกคนในการจัดการทรัพย์มรดกของ จ. และ น. มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และต้องรับผิดต่อทายาทในฐานะตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และ 1720 โดยทายาทแต่ละคนไม่จำต้องตั้งตัวแทนอีก การที่จำเลยที่ 1 และ ธ.

ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการประชุมทายาทของ น. ถึงเจ็ดครั้ง และเสนอให้ทายาททุกคนประมูลซื้อที่ดินพิพาทก่อน แต่ไม่มีทายาทคนใดเสนอราคา จากนั้นทายาทลงคะแนนด้วยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิได้รับมรดกให้ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปชำระหนี้กองมรดกของ น. แล้วนำเงินส่วนที่เหลือมาแบ่งปันระหว่างทายาท จากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ธ. และบริษัท ซ. เป็นผู้ดำเนินการจัดการประมูลที่ดินพิพาท

แต่เมื่อได้ราคาต่ำเกินควร ก็ดำเนินการจัดหาผู้เสนอซื้อรายใหม่ ต่อมาจำเลยที่ 2 เสนอซื้อในราคาที่สูงขึ้น และในการประชุมครั้งที่ 7 ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเกินกว่ากึ่งหนึ่งลงคะแนนเสียงข้างมากให้ขายที่ดินพิพาทในราคาดังกล่าว คงมีแต่เพียงโจทก์ที่ 1 คัดค้าน ซึ่งในวันเดียวกันทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ จ. ก็ให้ความยินยอมขายที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นมรดกของ จ. ไปพร้อมกับมรดกของ น. ด้วย กรณีดังกล่าวจึงเป็นการที่เจ้าของรวมจัดการอันเป็นสาระสำคัญโดยตกลงกันด้วยคะแนนข้างมากแห่งเจ้าของรวม และคะแนนข้างมากนั้นมีส่วนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งแห่งค่าทรัพย์มรดกแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745
ประกอบมาตรา 1358 วรรคสาม และจำเลยที่ 1 กับ ธ.

ในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. ได้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกของ น. และทายาททุกคนตามหน้าที่อันควรแล้ว แม้จำเลยที่ 1 และ ธ. จะยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่ดินพิพาทในส่วนมรดกของ น. ตามเงื่อนไขในคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แต่จำเลยที่ 1 และ ธ. ก็ยื่นคำร้องขออนุญาตขายที่ดินทรัพย์ถึงสามครั้ง และยังยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกการห้ามทำนิติกรรมในทรัพย์สินกองมรดกของ น. ซึ่งศาลมีคำสั่งว่า ผู้จัดการมรดกมีอำนาจตามกฎหมายในการแบ่งปันทรัพย์มรดก และปรากฏว่ากองมรดกของ จ. และ น. มีหนี้ที่ต้องชำระเป็นจำนวนมากและต้องรับภาระชำระค่าดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าปีละ66,000,000 บาท

หากไม่รีบดำเนินการขายที่ดินพิพาทย่อมเกิดความเสียหายแก่กองมรดกที่จะต้องรับภาระหนี้เพิ่มขึ้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลและทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยชอบแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทมีชื่อ ส. เป็นผู้มีชื่อในทะเบียน จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทและมีอำนาจจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2

แล้วการขายทรัพย์มรดกกรณีไหนที่ผู้จัดการมรดกไม่สามารถกระทำได้ ก็คือกรณีที่ไม่ตรงกับกรณีที่กล่าวข้างต้น ถือเป็นการใช้อำนาจของผู้จัดการมรดกที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการแบ่งปันมรดกให้ถูกต้องตามกฎหมายหรือพินัยกรรม เช่น

1. โอนให้บุคคลภายนอกโดยไม่เสียค่าตอบแทน
2. ขายต่ำกว่าราคาตลาด หรือ ขายราคาต่ำเกินสมควร
3. กระทำการโดยไม่สุจริต เช่น เพื่อประโยชน์ตนเอง หรือ บุคคลภายนอก
4. ฝ่าฝืนความยินยอมของทายาทโดยส่วนใหญ่

 

อ่านบทความอื่นๆ

รายได้ยังหายาก : อย่าสร้างหนี้ให้เกินตัว
ความจริงความคิด : แก่อย่างไรลูกหลานไม่ตีกัน
ความจริงความคิด : ไม่มี ไม่หนี ให้ผู้ค้ำประกันจ่าย
ความจริงความคิด : ภาษี e-book
ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้รับซื้อฝาก (ตอน1)
ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้ขายฝาก
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 1
ความจริงความคิด : เงินเกษียณ ประกันสังคม เกณฑ์ใหม่ที่ควรรู้
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน