โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน
ปกติ เรามักจะคุ้นเคยเฉพาะกรณีเราได้รับเงินได้จากผู้จ่ายเงินได้ เช่น นายจ้าง องค์กร ผู้ว่าจ้าง ลูกหนี้ บริษัทฯลฯ โดยเราก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จะถูกหักกี่เปอร์เซ็นต์ ก็ขึ้นอยู่กับว่า เงินได้ที่เราได้รับจัดเป็นเงินได้ประเภทไหน และเราในฐานะผู้รับเงินได้ก็มีหน้าที่นำเงินได้ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในสิ้นเดือนมีนาคมของปีถัดไป โดยหลักของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช้เกณฑ์เงินสด คือ ได้รับเงินได้ปีไหน เสียภาษีปีนั้น
ที่ผ่านมา ก็เข้าใจดีไม่มีปัญหา พอดีเกิดกรณีศึกษาขึ้น คือ มีตัวแทนประกันชีวิตที่ได้รับค่าคอมมิชชั่น คือ ผลประโยชน์จากการเสนอขายประกันเมื่อปีที่ผ่านมา และได้นำค่าคอมมิชชั่นยื่นรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างถูกต้องเรียบร้อย มาในปีปัจจุบัน บริษัทประกันชีวิตที่ตัวแทนสังกัดอยู่ได้มีการเรียกคืนผลประโยชน์
ประเด็นที่สงสัย ก็คือ เงินได้เกิดในปีที่ผ่านมาเสียภาษีเงินได้เรียบร้อยแล้ว มาในปีปัจจุบันเงินได้ก้อนนั้นถูกบริษัทประกันเรียกคืน เท่ากับตัวแทนท่านนั้นไม่ได้รับเงินได้ใดๆ กรณีเช่นนี้ตัวแทนจะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อขอภาษีเงินได้ที่เสียไปแล้วคืน
เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ ผมได้รับความกรุณาจาก อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์ กูรูภาษีตัวจริง ช่วยไขข้อข้องใจให้ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ผมจึงใคร่ขออนุญาตอาจารย์สุเทพ เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานในครั้งนี้ครับ
Inbox: วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2566 เวลา 11:26 น.
คุณ Sathit Bovornsantisuth “สาธิต”
เรียน อ. สุเทพ ครับ ขอรบกวนเรียนถามครับ ในกรณีที่ปีที่ผ่านตัวแทนประกันชีวิตได้รับค่าคอมมิชชั่นจากบริษัทฯ สมมติ 1 ล้านบาท และได้นำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างถูกต้องเรียบร้อยแล้ว (สมมติ 3 แสนบาท) มาปีนี้บริษัทฯ ได้มีการเรียกคืนค่าคอมมิชชั่นเต็มจำนวน 1 ล้านบาท จึงใคร่ขอเรียนถามครับว่า กรณีดังกล่าวตัวแทนควรดำเนินการอย่างไร เพื่อขอภาษีที่เสียไปในปีที่แล้วคืน และมีกำหนดเวลาในการเรียกคืนหรือไม่ ต้องใช้เอกสารหลักฐานใดบ้างครับ ขอบพระคุณครับ
สุเทพ พงษ์พิทักษ์ วิสัชนา:
กรณีตัวแทนประกันชีวิตได้รับค่าคอมมิชชั่นจากบริษัทฯ จำนวน 1 ล้านบาท ซึ่งตัวแทนฯ ได้นำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครบถ้วนแล้ว (สมมติ คิดเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวน 300,000 บาท) ต่อมาในปีปัจจุบัน บริษัทฯ ได้เรียกคืนค่าคอมมิชชั่นดังกล่าวคืนจากตัวแทนฯ ทั้งจำนวน ตัวแทนฯ จึงประสงค์จะขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอันตนได้ชำระไว้เกินไปนั้นจากกรมสรรพากร ตัวแทนฯ พึงต้องดำเนินการดังนี้
1. กรณีที่ตัวแทนฯ มีเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นที่ยังคงต้องเสียภาษีเงินได้ ให้กรอกแบบ ภ.ง.ด.90 ใหม่โดยลดยอดเงินได้ค่าคอมมิชชั่นจำนวนที่ถูกเรียกคืนลง แล้วคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ แล้วลงนามขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวนดังกล่าว พร้อมหลักฐานประกอบตามข้อ 2
แต่ถ้าไม่มีเงินได้อื่นใด ให้ตัวแทนฯ กรอกแบบ ค. แสดงเหตุผลความจำเป็นในการขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวนดังกล่าวว่า เป็นผลมาจากการใด มีเอกสารประกอบการขอคืน ตามข้อ 2
2. เอกสารประกอบการขอคืนที่ต้องแนบไปพร้อมกับการขอคืน
• (1) สำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ภ.ง.ด.90 ของปีก่อน
• (2) ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามแบบ ภ.ง.ด.90 ของปีก่อน
• (3) หลักฐานการเรียกคืนค่าคอมมิชชั่นจากบริษัทฯ ซึ่งแสดงเหตุผลความจำเป็นที่เรียกคืนเงินดังกล่าว
• (4) หลักฐานใบรับเงินค่าคอมมิชชั่นที่บริษัทฯ ออกให้
• (5) หลักฐานอื่นๆ (ถ้ามี)
3. กำหนดเวลาขอคืน ภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ของปีก่อน ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร “มาตรา 27 บุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่างๆ แห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมิน ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย หรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ในกรณีอธิบดีอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาชำระหรือนำส่งภาษี และได้มีการชำระหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้นั้น เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน การคำนวณเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง ไม่ว่าภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งนั้นจะเกิดจากการประเมินหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาล”
ขอขอบพระคุณอาจารย์สุเทพ พงษ์พิทักษ์ มา ณ ที่นี้ครับ
อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : ผู้จัดการมรดกทำผิดหน้าที่ ควรทำอย่างไร
ความจริงความคิด : มรดก “เสี่ยปาน” เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผู้จัดการมรดก
ความจริงความคิด รายได้ยังหายาก อย่าสร้างหนี้ให้เกินตัว
ความจริงความคิด : แก่อย่างไรลูกหลานไม่ตีกัน
ความจริงความคิด : ไม่มี ไม่หนี ให้ผู้ค้ำประกันจ่าย
ความจริงความคิด : ภาษี e-book
ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้รับซื้อฝาก (ตอน1)
ความจริงความคิด : ภาษีกับการขายฝาก กรณีผู้ขายฝาก
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีการรับมรดก 1
ความจริงความคิด : เงินเกษียณ ประกันสังคม เกณฑ์ใหม่ที่ควรรู้
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน