ความจริงความคิด : หรือเราต้องบริหารความเสี่ยงบนการบริหารความเสี่ยง?

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ช่วงเดือนที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณ social media ที่เป็นช่องทางในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร ทำให้เราได้รู้ ได้เห็นประสบการณ์ต่างๆมากมาย โดยเฉพาะกับธุรกิจประกันที่เป็นช่องทางในการบริหารความเสี่ยงในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าภาวะโควิดทำให้คนสนใจประกันสุขภาพ ภาวะน้ำท่วมทำให้คนสนใจซื้อประกันรถยนต์ชั้น 1 กันมากขึ้น เพราะความเชื่อมั่น ความไว้วางใจว่า ความเสี่ยงของเราจะได้รับการดูแลที่ดีจากบริษัทประกัน

แต่จากกรณีศึกษาที่แชร์ใน social media ที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกว่า ประกันเป็นเรื่องที่ง่ายตอนซื้อ แต่ตอน claim กลับยากเหลือเกิน อย่างเช่น กรณีของเพื่อนที่แชร์มาว่าบริษัทประกันตีความโควิดเป็นกลุ่มโรคเดียวกับมะเร็งปอด ทำให้ลูกค้าที่รักษามะเร็งปอดเมื่อ 5 เดือนที่ผ่านมา ไม่สามารถเบิกค่ารักษามะเร็งที่กำเริบได้ โดยเจ้าหน้าที่สินไหมแจ้งว่า มีการเข้ารักษาโรคโควิดในระหว่างนั้น เพราะตีความว่าโควิดกับมะเร็งปอดเป็นกลุ่มโรคเดียวกัน บริษัทประกันจึงถือว่าไม่ได้ทิ้งช่วงถึง 90 วัน ถือเป็นการรักษาที่ต่อเนื่อง ไม่สามารถเบิกวงเงินเพิ่มได้จากที่เบิกไปแล้ว แม้กรณีนี้ภายหลังบริษัทประกันจะยอมรับว่าโควิดกับมะเร็งปอดเป็นคนละโรคกัน แต่กว่าจะยอมรับ ก็ต้องอาศัยตัวแทนที่มีความรู้ กล้าต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกัน

จริงๆแล้ว เรื่องผลิตภัณฑ์การเงิน หรือ เรื่องการเงินที่เกี่ยวข้องกับประชาชนคนทั่วไป ควรเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายๆ เพราะคนที่ซื้อ ไม่ได้มีความรู้ พวกเขาซื้อเพราะความเชื่อใจ ไม่ควรที่สถาบันการเงินจะใช้ความไม่รู้ ความเชื่อใจ เป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ถัดจากเรื่องประกันสุขภาพไม่นาน ก็มาเป็นเรื่องประกันรถยนต์ กรณีนี้เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากหน้าสื่อ เหตุผลก็น่าจะมาจาก 2 เรื่อง คือ

• ค่าซ่อมแบตที่แพงมาก
• การชดเชยของบริษัทประกัน
เรื่องของเรื่อง ก็คือ น้องคนหนึ่งได้ออกรถ EV ราคาร่วมล้าน พร้อมประกันชั้น 1 ขับมาได้เดือนนึง เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย มุมกล่องครอบแบตใต้ท้องรถครูดกับสันขอบทางทำให้มุมฝากล่องแบตอ้าออกมา จึงนำรถเข้าตรวจที่ศูนย์ แต่กลายเป็นว่าทางประกันติดต่อมาแจ้งพิจารณาคืนทุนประกันที่ 770,000 บาทและให้โอนกรรมสิทธิของรถแก่ประกันเสมือนเป็นซาก เจออย่างนี้เป็นใครก็ช็อค เพราะเท่ากับลูกค้าอยู่ดีๆต้องสูญเงินราว 2 แสนกว่าบาทจากอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย ทั้งที่มีประกันชั้น 1 (ซื้อมาล้านเศษ ได้เงินคืนจากบริษัทประกัน 770,000 บาท) แม้ตอนนี้ข้อมูลล่าสุด บริษัทรถยนต์จะออกมาบอกว่า แบตซ่อมได้ไม่ต้องเปลี่ยนแบตทั้งลูก แต่เจ้าของรถจะขับอย่างวางใจเหมือนก่อนหรือไม่ก็ไม่รู้ และถ้าเป็นการเสียแค่ฝาครอบแบตซ่อมได้จริงๆ การแจ้งค่าซ่อมที่ผิดพลาดจนทำให้เจ้าของเกือบสูญเงินกว่า 2 แสน (ถ้าไม่มีการร้องเรียนผ่านสื่อ) ก็ถือเป็นมาตรฐานการทำงานที่มีปัญหาจริงๆ
ดังนั้นยุคนี้ แค่ซื้อประกันเพื่อบริหารความเสี่ยงไม่พอแล้ว เราต้องศึกษาหาความรู้ เพื่อบริหารความเสี่ยงบนการบริหารความเสี่ยงอีกชั้นหนึ่งด้วย

แต่เมื่อมีเรื่องคืนทุนประกันเกิดขึ้น ก็น่าสนใจที่เราจะได้ศึกษากลไกความคุ้มครองของประกันเผื่อไว้ในอนาคต เหตุการณ์อย่างนี้อาจเกิดกับเราได้
ทุนประกันรถยนต์ คือ ‘มูลค่าสูงสุดที่ประกันจะรับผิดชอบรถของเรา’ หรือ ‘ราคารถของเราที่ประกันกำหนดให้’ หมายความว่า ถ้ารถเราสูญหาย หรือเสียหายยับเยิน (ค่าซ่อมเกิน 70% ของทุนประกัน) ประกันจะจ่ายเงินคืนให้เราตามทุนประกัน นั่นเองครับ

ขั้นตอนการคืนทุนประกัน

1. ในกรณีรถเสียหายสิ้นเชิงจากไฟไหม้หรือรถชน

• กรณีที่รถเราเกิดความเสียหายสิ้นเชิง ก่อนอื่นก็จะต้องแจ้งประกันอยู่แล้ว หลังจากนั้นก็เราก็ทำตามขั้นตอนที่บริษัทประกันแนะนำได้เลยครับ เพื่อรอรับเงินทุนประกันคืน แต่มีรายละเอียดเพิ่มเติมคือ

• ถ้าเกิดทุนประกันรถยนต์ ของรถคันที่เสียหายสิ้นเชิงทำไว้ไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่ารถยนต์ หรือแปลง่าย ๆ ว่า ทุนประกันรถยนต์ของเราที่ทำไว้เป็นทุนประกันที่ใกล้เคียงกับมูลค่ารถยนต์ของเรา ณ ขณะนั้น เจ้าของรถหรือผู้ทำประกัน จะต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่บริษัทประกัน และถือว่าความคุ้มครองรถยนต์ จะถือเป็นอันสิ้นสุดทันที

แต่ถ้าเกิดทุนประกันรถยนต์ที่ทำไว้ ต่ำกว่า 80% ของมูลค่ารถยนต์ เจ้าของรถหรือผู้ทำประกันก็ไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์
2. ในกรณีรถสูญหาย

ส่วนนี้ถ้าหากรถสูญหาย ก่อนอื่นเราต้องแจ้งประกันรถยนต์ของเรา และ แจ้งความด้วยครับ หลังจากนั้นทางบริษัทประกันก็จะบอกขั้นตอนส่งเอกสาร ใบลงบันทึกประจำวัน และ เอกสารอื่น ๆ ให้เราตามลำดับ แต่มีรายละเอียดเพิ่มเติมคือ

เมื่อรถเกิดการสูญหายและบริษัทคืนทุนประกันให้กับเรา เราจะต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าวให้กับบริษัทประกันครับ และเช่นกันกับกรณีเสียหายสิ้นเชิงครับ เมื่อบริษัทจ่ายคืนทุนประกันรถยนต์แล้ว ก็จะถือว่าสิ้นสุดความคุ้มครองครับ

แต่ถ้าหากบริษัทประกันคืนทุนประกันให้เราไปแล้ว และต่อมาเกิดได้รถยนต์ที่หายไปกลับคืนมา บริษัทประกันจะต้องแจ้งให้เจ้าของรถเดิมหรือผู้ทำประกันทราบภายใน 7 วันครับ และในกรณีนี้เจ้าของรถเดิมหรือผู้ทำประกันมีสิทธิเลือกขอรับรถยนต์คืนได้ หรือ จะสละสิทธิไม่ขอรับรถยนต์คืนก็ได้ ภายใน 30 วันหลังจากได้รับแจ้ง (โดยก็จะต้องคืนเงินทุนประกันให้กับบริษัทประกันนั่นเองครับ)

กรณีทุนประกันมากกว่าราคารถปัจจุบัน บริษัทจะจ่ายไหม หากต้องคืนทุน?

กรณีที่ทำให้เกิดคำถามนี้ส่วนใหญ่ เกิดจากการตกลงทำประกันโดยไม่ได้ระบุรุ่นย่อยหรือข้อมูลรถให้ละเอียดครับ เช่น รถเรารุ่นตัวกลาง แต่ในเอกสารไปเอาทุนประกันของรุ่นตัวท๊อปมาใส่ หรืออาจจะเป็นกรณีที่เราซื้อผ่านตัวกลางที่ไม่ได้มีความเป็นมืออาชีพ หรือ ไม่มีความละเอียดพอในการทำข้อมูลให้ลูกค้า จึงไม่ได้ระบุข้อมูลรถให้ละเอียดกับบริษัทประกัน

เมื่อเกิดเหตุ เมื่อบริษัทประกันตรวจสอบรุ่นรถแล้วพบว่ารุ่นย่อยไม่ตรงกัน ก็จะคืนทุนประกันให้เราตามราคารุ่นย่อยรถของเราจริงๆครับ ซึ่งก็อาจะต่ำกว่าที่ระบุในทุนประกันก็เป็นได้ครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.pricezamoney.com/what-is-sum-insured/

อ่านบทความอื่นๆ

ความจริงความคิด : เงินเกษียณ ประกันสังคม เกณฑ์ใหม่ที่ควรรู้
ความจริงความคิด : สัญญาณอันตราย เมื่อกระแสเงินสดเข้าน้อยกว่ากระแสเงินสดจ่าย
ความจริงความคิด : ทักษะทางการเงิน
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีสำหรับ SMEs ตอน 1
ความจริงความคิด : อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ
ความจริงความคิด : กู้ร่วม
ความจริงความคิด : Forex คือเรื่องหลอกลวง
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน
ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)