ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีสำหรับ SMEs ตอน 2

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ครั้งที่แล้ว เราได้คุยกันถึงกลยุทธ์ในการวางแผนภาษีเงินได้ SME โดยมีเป้าหมายเพื่อลดกำไรสุทธิทางภาษี
สรุปได้ ก็คือ

เราจะเพิ่ม

  • รายได้ที่เป็นรายได้ทางภาษีน้อยกว่ารายได้ทางบัญชี
  • รายจ่ายที่เป็นรายจ่ายทางภาษีมากกว่ารายจ่ายทางบัญชีเราจะลด
  • รายได้ที่เป็นรายได้ทางภาษีมากกว่ารายได้ทางบัญชี
  • รายจ่ายที่เป็นรายจ่ายทางภาษีน้อยกว่ารายจ่ายทางบัญชี

    ครั้งนี้เรามาดูกันนะว่า SME มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ควรรู้เพื่อประโยชน์ในการวางแผนภาษี

    1. ค่าจดทะเบียนบริษัท ค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชี หักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า
    สำหรับ SMEs ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี เป็นเวลา 5 รอบปีบัญชีต่อเนื่องกัน มาหักเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

    2. ค่าเสื่อมคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์
    ในส่วนของคอมพิวเตอร์รวมทั้งอุปกรณ์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือค่าจ้างทำโปรแกรม สามารถเอามาคิดค่าเสื่อมราคาในอัตรา 40% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เหลือ โดยทยอยหักภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา

  • ค่าระบบและอุปกรณ์ที่สนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
    สำหรับร้านค้านิติบุคคล และ SMEs ที่ใช้ระบบ POS ในการคิดเงินค่าสินค้าและบริการ สามารถเอาเงินลงทุนในระบบ POS ทั้งค่าอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ค่าพัฒนาระบบ ค่าบริการระบบคลาวด์และระบบที่เกี่ยวกับ e-Tax Invoice และ e-Receipt ต่าง ๆ รวมถึงระบบที่เกี่ยวกับ Withholding Tax จากผู้ให้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์ (Software) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า และจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
  • ค่าเสื่อมอาคาร โรงงาน
    อาคาร โรงงาน ที่เป็นสถานที่ประกอบการก็สามารถเอามาคิดค่าเสื่อมได้ ในราคาอัตรา 25% ของมูลค่าต้นทุน มูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักได้ ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี
  • ค่าเสื่อมเครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักร
    เครื่องจักรและอุปกรณ์ของเครื่องจักรเป็นอีกหนึ่งต้นทุนการผลิตที่มีค่าลดลงตามกาลเวลา สามารถเอามาคิดค่าเสื่อมราคาได้ ด้วยอัตรา 40% ของมูลค่าต้นทุน ส่วนมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักได้ในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี นับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา3. ค่าจ้างงานผู้สูงอายุ
    เพื่อส่งเสริมให้มีการกระจายรายได้ไปสู่ผู้สูงอายุ เลยสนับสนุน SMEs ที่จ้างงานผู้สูงอายุ โดยสามารถเอาค่าจ้างผู้สูงอายุมาเป็นรายจ่ายของนิติบุคคลได้ โดยสามารถหักเป็นรายจ่ายได้ถึง 2 เท่า แต่พนักงานที่จัดว่าเป็นผู้สูงอายุต้องมีเงื่อนไขดังนี้
    • มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
    • เป็นลูกจ้างบริษัทอยู่ก่อนแล้วหรือขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน
    • ค่าจ้างจะต้องไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท
    • มีการจ้างงานผู้สูงอายุไม่เกิน 10% ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด
    • ผู้สูงอายุต้องไม่เป็นและไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จ้างหรือบริษัทในเครือ

    4. ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมลูกจ้าง
    สำหรับ SMEs ที่มีการส่งพนักงานไปฝึกอบรม หรือจัดการอบรมเผื่อพัฒนาศักยภาพของลูกจ้าง สามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาเป็นหักรายจ่ายในการฝึกอบรม พัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

    กรณีส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรม
    • ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเช่น ค่าเล่าเรียนหรือค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม เช่น ค่าลงทะเบียน รวมถึงค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าเดินทางที่สถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรมเรียกเก็บจากบริษัท
    • มีใบเสร็จรับเงินของสถานศึกษาหรือสถานฝึกอบรม
    • กำหนดเงื่อนไขให้เข้าทำงานหลังศึกษาหรือฝึกอบรมเสร็จ
    • จัดทำรายงานหรือค่าใช้จ่ายดังกล่าว

    กรณีฝึกอบรมให้ลูกจ้างของตนเอง
    • เป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นเพื่อพัฒนาแรงงานหรือฝีมือของลูกจ้าง ซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงแรงงาน และค่าใช้จ่ายเป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงแรงงาน
    • ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการ
    • ต้องจัดทำทะเบียนลูกจ้างเพื่อเป็นหลักฐานการทำงาน
    • กำหนดเงื่อนไขให้เข้าทำงาน
    • อุปกรณ์ที่จะใช้ในการฝึกอบรมต้องกำหนดขนาดและคุณสมบัติ เพื่อมิให้ปะปนกับที่ใช้ในการประกอบกิจการตามปกติของบริษัท

    5. เงินบริจาค

    งานบริจาคที่ทางนิติบุคคล SMEs บริจาคให้กับองค์กร มูลนิธิ หรือที่อื่น ๆ ก็สามารถเอามาใช้ลดหย่อนภาษีได้ แต่มีเงื่อนไขดังนี้
    บริจาคให้กับกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ สามารถนำมาหักรายจ่ายได้เท่ากับจำนวนเงินหรือมูลค่าที่บริจาค แต่ต้องไม่เกิน 2% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย
    บริจาคให้กับสถาบันการศึกษา ทั้งภาครัฐ, เอกชน และสถาบันอุดมศึกษา ที่มีศักยภาพสูง ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีสามารถนำมาหักรายจ่ายได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศล
    บริจาคให้กับกองทุนวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม รวม 4 กองทุน สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค เมื่อรวมกับรายจ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา และรายจ่ายที่กำหนดแล้วต้องไม่เกิน 10% ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่าย
    บริจาคเงินให้สถานพยาบาลของทางราชการ นำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนการศึกษา และรายจ่ายที่กำหนดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา
    “สถานพยาบาลของทางราชการ” หมายความว่า สถานพยาบาลซึ่งเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และให้หมายความรวมถึง
    (1) สถานพยาบาลของสถาบันการศึกษาของรัฐ
    (2) สถานพยาบาลขององค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน
    (3) สถานพยาบาลของรัฐวิสาหกิจที่เป็นองค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
    (4) สถานพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    (5) สถานพยาบาลของหน่วยงานอื่นของรัฐ
    (6) สถานพยาบาลของสภากาชาดไทย

  • • บริจาคเงินให้ 6 มูลนิธิ ได้ลดหย่อนภาษี 2 เท่าถึงแค่สิ้นปี 2565 เท่านั้น สำหรับมูลนิธิต่าง ๆ รวม 6 แห่ง ได้แก่
    • มูลนิธิโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช
    • มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี
    • มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า
    • มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพพระรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
    • มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
    • มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์

    จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็น SME ที่ไม่สามารถเอาค่าซื้อ RMF ประกันชีวิต ฯลฯ มาลดหย่อนภาษี แต่ก็มีโอกาสอื่นอีกเยอะในการบริหารภาษีอย่างเช่น กลยุทธ์เรื่องค่าใช้จ่ายอย่างที่กล่าว ดังนั้นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ SMEs ก็ลองเอากลยุทธ์เรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อประหยัดภาษีไปใช้ดูนะ เพื่อครั้งต่อไปจะได้เสียภาษีน้อยลงแบบไม่ต้องกลัวสรรพากร

    อ่านบทความอื่นๆ
    ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีสำหรับ SMEs ตอน 1
    ความจริงความคิด : อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
    ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ
    ความจริงความคิด : กู้ร่วม
    ความจริงความคิด : Forex คือเรื่องหลอกลวง
    ความจริงความคิด : จิตวิทยาการโกง รู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา 1
    ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
    ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน
    ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
    ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
    ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
    ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
    ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ