ความจริงความคิด : ฟื้นฟูกิจการ แล้วไงต่อ?

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท “สินมั่นคงประกันภัย” ทำให้หลายๆคนกังวลกันว่า ประกันที่ซื้อกับสินมั่นคง อย่างเช่น ประกันรถและ noncovid ยังจะคุ้มครองต่อหรือไม่ สินไหมที่เรียกร้องไปแล้วจะได้รับหรือไม่ หลายคนกังวลกลัวจะเหมือนบริษัทประกันหลายแห่งที่ผ่านมาต้องปิดกิจการเพราะพิษเจอ จ่าย จบ ทำให้ไม่ว่าคนที่เรียกร้องสินไหม หรือ คนที่ประกันยังไม่ขาดอายุ ได้รับความเดือดร้อนกันไปหมด

จริงๆแล้ว การฟื้นฟูกิจการไม่ใช่การล้มละลายหรือการที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ในทางตรงกันข้ามการฟื้นฟูกิจการกลับเป็นการรักษาให้กิจการยังคงสามารถดําเนินธุรกิจได้ตามปกติ และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร กระบวนการทํางาน และแผนธุรกิจ เพื่อให้การทํางานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ต่างจากการล้มละลายหรือการถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น ธุรกิจจะไม่สามารถดําเนินการได้ต่อเนื่อง เพราะเป็นการมุ่งไปสู่กระบวนการค้นหาและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนํามาแบ่งให้กับเจ้าหนี้ โดยการยึดหรืออายัดและนํามาขายทอดตลาด และในขณะที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี จะเป็นผู้ที่เข้ามาทําหน้าที่จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

การฟื้นฟูกิจการจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการยื่นคําขอฟื้นฟูกิจการไปยังศาลล้มละลายกลาง คือ กฎหมายกําหนดให้ทั้งเจ้าหนี้หรือลูกหนี้สามารถยื่นคําร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ เมื่อเข้าเงื่อนไขดังนี้ คือ

(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือลูกหนี้ไม่สามารถที่จะชําระหนี้ตามกําหนดได้ (inability to pay)
(2) เป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจํานวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ในกรณีของธุรกิจขนาดใหญ่หรือในกรณีที่เป็นธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดเล็ก (SMEs) คือลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท ลูกหนี้ที่เป็นคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจํากัด ไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท หรือลูกหนี้ที่เป็นบริษัทจํากัดไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท
(3) หนี้จํานวนแน่นอนดังกล่าว จะถึงกําหนดชําระในทันทีหรือในอนาคตก็ได้
(4) มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

กระบวนการบริหารจัดการภายหลังที่ศาลล้มละลายกลางมีคําสั่งรับคําขอฟื้นฟูกิจการ

เมื่อศาลสั่งรับคําขอฟื้นฟูกิจการ สภาวะการพักการชําระหนี้หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า automatic stay เกิดขึ้นทันทีนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคําสั่งรับคําร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกําหนดระยะเวลาดําเนินการตามแผน หรือวันที่ดําเนินการสําเร็จตามแผนหรือวันที่ศาลมีคําสั่งยกคําร้องขอหรือจําหน่ายคดีหรือยกเลิกคําสั่งให้ฟื้นฟูกิจการหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เพื่อให้ลูกหนี้กับเจ้าหนี้ได้เจรจาตกลงหาแนวทางการชำระหนี้
ผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยจะต้องมีการเสนอแผนการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเท่าเทียมกันทุกรายภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ดังนั้นหากที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการและศาลเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าว เจ้าหนี้ทั้งหลาย เช่น เจ้าหนี้สินไหมโควิดของสินมั่นคงก็ย่อมได้รับชำระหนี้ตามข้อกำหนดของแผนต่อไป

สภาวะการพักการชําระหนี้นี้จะเป็นประโยชน์แก่ลูกหนี้และเป็นจุดแข็ง เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดําเนินกิจการต่อไปได้และดูแลสภาพคล่อง (liquidity) ของธุรกิจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกฟ้องร้อง ถูกบังคับคดี ถูกบังคับชําระหนี้ ถูกงดให้บริการ

สาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ประโยชน์ข้างต้นที่ลูกหนี้จะได้รับ ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ใช้สิทธิโดยสุจริต ไม่ได้อาศัยการพักชําระหนี้เป็นเหตุของการประวิงคดี ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ผู้ที่มาพึ่งศาล จะต้องมาศาลด้วยมือสะอาด” (He who comes to equity must come with clean hands)
สําหรับหน้าที่ของลูกหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว ลูกหนี้ยังสามารถประกอบธุรกิจตามที่จําเป็นของธุรกิจเท่านั้น เพื่อให้การดําเนินการค้าตามปกติของลูกหนี้สามารถดําเนินการต่อไปได้ ดังนั้น ลูกหนี้จะจําหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชําระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทําการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

ผู้ทําแผนและผู้บริหารแผน คือใคร?

ผู้ทําแผน หมายถึง ผู้จัดทําแผนฟื้นฟูกิจการ โดยจะเป็นผู้ที่ศาลมีคําสั่งตั้งเพื่อจัดทําแผนฟื้นฟูกิจการ มีอํานาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ตกแก่ผู้ทําแผน ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล

ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จะเป็นประโยชน์ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ถือหุ้น รวมทั้งสังคมด้วย เพราะยังสามารถรักษากิจการให้ดําเนินการได้ตามปกติอย่างต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงต่อการถูกเลิกกิจการ และการถูกฟ้องล้มละลาย อันจะช่วยรักษาการจ้างงานและห่วงโซ่อุปทานต่างๆ ไว้ได้ และที่สําคัญ การฟื้นฟูกิจการจะทําให้เจ้าหนี้ได้รับชําระหนี้มากกว่าการล้มละลาย นอกจากนี้ การฟื้นฟูกิจการจะเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถปรับโครงสร้างองค์กร กระบวนการทํางาน และแผนการดําเนินธุรกิจด้วย

กิจการภายหลังจากการเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้จะกลับมาบริหารจัดการกิจการได้หรือไม่

การเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการเปรียบเสมือนคนไข้ที่มีอาการป่วยเข้ารับการรักษาตัวเพื่อดูแลรักษาให้หายจากการเจ็บป่วย โดยปฏิบัติตามคําแนะนําของแพทย์ ภายหลังจากนั้น เมื่อคนไข้หายป่วยและมีร่างกายที่แข็งแรงและทําอะไรได้ตามปกติ ที่ผ่านมา มีบริษัทหลายบริษัทที่เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ และเมื่อการฟื้นฟูกิจการได้ดําเนินการเป็นผลสําเร็จ ก็กลับมาเป็นบริษัทที่มีความเข้มแข็งและมีการเติบโต เมื่อศาลจะมีคําสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ในกรณีที่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การฟื้นฟูกิจการได้ดําเนินการเป็นผลสําเร็จตามแผน ผู้บริหารของลูกหนี้จะกลับมามีอํานาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามเดิม และผู้ถือหุ้นของลูกหนี้กลับมีสิทธิตามกฎหมายต่อไปการฟื้นฟูกิจการจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของธุรกิจที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง แต่มีเหตุผลความจําเป็นและมีช่องทางในการดําเนินธุรกิจต่อไป

อีกข้อที่หลายคนกังวล คือ แผนฟื้นฟูกิจการมีระยะเวลา 5 ปี แต่การเรียกร้องค่าสินไหมของผู้เอาประกันหรือเจ้าหนี้มีอายุความ 2 ปี ทำให้อายุความในการเรียกร้องค่าสินไหมหมดก่อนที่แผนฟื้นฟูจะเสร็จ ไม่ต้องกังวลนะ การนับอายุความในการเรียกร้องค่าสินไหมจะหยุดลงเมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และจะเริ่มกลับมานับอายุความต่ออีกครั้งเมื่อออกจากการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น ระยะเวลาในแผนฟื้นฟูกิจการไม่ได้มีผลต่ออายุความในการเรียกร้องค่าสินไหม

ขอบคุณข้อมูลจาก
• นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม (ก.ค. 57 – เม.ย. 62)
• บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : กู้ร่วม
ความจริงความคิด : ไม่รู้ว่า ไม่รู้อะไร
ความจริงความคิด : อยากเป็นคนดี แต่กลัวโดนภาษี
ความจริงความคิด : Forex คือเรื่องหลอกลวง
ความจริงความคิด : จิตวิทยาการโกง รู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา 1
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : อย่าเชื่อเพียงเพราะเป็นโฆษณาบนสื่อที่เชื่อถือได้
ความจริงความคิด : ภาษีลาภลอย
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน
ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ