ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีด้วยการบริจาคแบบจ่าย 1 ได้ 2

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP นักวางแผนการเงิน

ใกล้ปลายปี ก็ต้องคุยเรื่องภาษี เพราะเดี๋ยวทำไม่ทัน จะเสียประโยชน์ไป อย่างเช่น หากเราต้องการลดหย่อนภาษี RMF, SSF เราแจ้งความประสงค์กับบริษัทจัดการลงทุนเพื่อขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับค่าซื้อ RMF, SSF ประจำปี 2565 ตามเงื่อนไขใหม่ของสรรพากรต้องแจ้งภายใน 31 ธันวาคม 2565!! เท่านั้น

สำหรับคนที่มองหาช่องทางประหยัดภาษี ก็ยังมีอีกหลายช่องทางที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสายบุญ ก็คือ การบริจาค ซึ่งจะสามารถนำเงินที่บริจาคไปลดหย่อนภาษีได้ 2 รูปแบบ คือ

• จ่าย 1 ได้ 1 คือ บริจาคเท่าไหร่ ลดหย่อนภาษีได้เท่านั้น
• จ่าย 1 ได้ 2 คือ บริจาคเท่าไหร่ ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของที่บริจาค

ถ้าอยากได้บุญด้วย ได้ภาษีด้วย จ่าย 1 ได้ 2 ก็น่าสนใจ แล้วการลดหย่อนภาษีแบบ จ่าย 1 ได้ 2 มีอะไรบ้าง

1. บริจาคเพื่อการศึกษา

เงินบริจาคช่วยเหลือการศึกษา (ต้องบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) เท่านั้น) โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ของจำหน่ายที่จ่ายจริงและไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ และต้องเป็นการบริจาคเพื่อ 3 รายการนี้
• อาคารสถานที่ ได้แก่ จัดสร้างอาคาร จัดหาที่ดินให้แก่สถานศึกษา
• สื่อการเรียน การสอน ได้แก่ ตำรา แบบเรียน อุปกรณ์เพื่อการศึกษา
• บุคลากร ได้แก่ ครู อาจารย์ เป็นต้น
การบริจาคเพื่อใช้จ่ายสำหรับอาคารสถานที่ สื่อการเรียนการสอน และบุคลากร ไม่ว่าเป็นโรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษา จะต้องเป็นการบริจาคผ่านระบบ e – Donation เท่านั้น ไม่อย่างนั้นจะ ลดหย่อนภาษี ได้แค่เท่าเดียว

2. บริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ
เงินบริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐสามารถหักลดหย่อนภาษี 2 เท่าได้ เมื่อรวมกับเงินสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังรวมถึงการบริจาคเงินให้สภากาชาดไทยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ถ้าเป็นการบริจาคให้ “มูลนิธิโรงพยาบาล” กรณีนี้จะลดหย่อนภาษีได้เท่าเดียว แนะนำให้ตรวจสอบกับหน่วยงานที่ต้องการบริจาคให้ก่อนบริจาคนะ

“สถานพยาบาลของทางราชการ” หมายความว่า สถานพยาบาลซึ่งเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และให้หมายความรวมถึง
(1) สถานพยาบาลของสถาบันการศึกษาของรัฐ
(2) สถานพยาบาลขององค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน
(3) สถานพยาบาลของรัฐวิสาหกิจที่เป็นองค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
(4) สถานพยาบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(5) สถานพยาบาลของหน่วยงานอื่นของรัฐ
(6) สถานพยาบาลของสภากาชาดไทย

3. สนับสนุนการกีฬา
บริจาคเงินให้หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย สามารถขอหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ

4. กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา

เงินบริจาคให้กับกองทุนดังกล่าวต้องเป็นกองทุนที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ

5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก

เงินบริจาคให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับจัดตั้ง สนับสนุน พัฒนา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ

6. โครงการฝึกอบรมเยาวชนของสถานพินิจ
เงินบริจาคสำหรับโครงการฝึกอบรมอาชีพ จัดกิจกรรมเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู บำบัด เด็กและเยาวชนสถานพินิจ หรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนของกระทรวงยุติธรรม หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ

7. กองทุนยุติธรรม
เงินบริจาคเข้ากองทุนยุติธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานช่วยเหลือประชาชนที่เดือนร้อนเพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ

8. การจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน
เงินบริจาคเพื่อจัดหาหนังสือ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่สถานศึกษาของรัฐและเอกชน หอสมุด ห้องสมุด รวมถึงห้องสมุดของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ

9. กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา
เป็นการต่ออายุการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ผ่านระบบ e-Donation ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 – 31 ธันวาคม 2566 หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า และต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ

10. กองทุนเพื่อพัฒนาและส่งเสริมด้านอื่น ๆ
ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 717) พ.ศ. 2564 ระบุให้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่บริจาคเงินให้แก่ กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณสุข, กองทุนเพื่อการพัฒนาระบบมาตรวิทยา, กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และกองทุนเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านระบบบริจาค e-Donation ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2564 – 31 ธันวาคม 2565 หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว

11. มูลนิธิในพระอุปถัมภ์
บริจาคเงินให้กับมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี หักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ

12. บริจาคเงินให้ 6 มูลนิธิ ได้ลดหย่อนภาษี 2 เท่าถึงแค่สิ้นปี 2565 เท่านั้น สำหรับมูลนิธิต่าง ๆ รวม 6 แห่ง ได้แก่
• มูลนิธิโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช
• มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี
• มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า
• มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพพระรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
• มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
• มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
ทั้งหมดนี้ก็คือรวมช่องทางบริจาคเงิน ช่วยลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ก็ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องด้วยนะ อย่างเช่น การบริจาคให้หน่วยงานต่างๆ ดังต่อไปนี้ จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เมื่อบริจาคผ่านระบบ e – Donation เช่น
• สภากาชาด
• กองทุนยุติธรรม
• สถานพักฟื้น บำบัด และฟื้นฟูเด็ก
• องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก
• หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย
• เงินบริจาคเพื่อคนพิการเพื่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ
• กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้ง

แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตลอดเวลา ยังไง แนะนำตรวจสอบหน่วยงานที่เราจะบริจาคก่อนนะว่า ถ้าอยากจะบริจาคแบบจ่าย 1 ได้ 2 ต้องบริจาคผ่านระบบ e-donation หรือไม่ จะได้ไม่เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เราควรได้

สำหรับท่านใดที่ไม่ได้บริจาคผ่านระบบ e-Donation ก็อย่าลืมเก็บหลักฐานเป็นใบเสร็จเพื่อเตรียมไว้ยื่นตอนเสียภาษีนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร

อ่านบทความอื่นๆ
ความจริงความคิด : การวางแผนภาษีสำหรับ SMEs ตอน 1
ความจริงความคิด : อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
ความจริงความคิด : จิตวิทยาของการให้ของขวัญ
ความจริงความคิด : กู้ร่วม
ความจริงความคิด : Forex คือเรื่องหลอกลวง
ความจริงความคิด : จิตวิทยาการโกง รู้ทันคนโกงด้วยจิตวิทยา 1
ความจริงความคิด : ข้อสงสัยประกันสังคมกรณีชราภาพ
ความจริงความคิด : การบริหารการเงินเพื่อการลงทุน
ความจริงความคิด : ยิ่งเอาคืน ยิ่งขาดทุน
ความจริงความคิด : เปลี่ยนสวนกล้วย เป็นสวนสาธารณะ
ความจริงความคิด : แก่อย่างมีความสุขต้อง 4 แก่ (ตอนที่ 1)
ความจริงความคิด : เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ
ความจริงความคิด : ความเสี่ยงของวัยเกษียณ